ทำความรู้จักกับ เวชศาสตร์ชะลอวัย ( Anti Aging Medicine )

0
7530
ทำความรู้จักกับเวชศาสตร์ชะลอวัย Anti-Aging Medicine
เวชศาสตร์ชะลอวัย คือ ศาสตร์ทางการแพทย์ที่เน้นการดูแลสุขภาพจากภายในร่างกาย ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้อยู่ในสภาวะที่แข็งแรงสมบูรณ์
ทำความรู้จักกับเวชศาสตร์ชะลอวัย Anti-Aging Medicine
ความชราที่เกิดขึ้นกับร่างกายแบบที่แสดงออกภายนอก สามารถสังเกตเห็นได้ภายนอก เช่น ความเหี่ยวของผิวหนัง การเปลี่ยนของสีผม

เวชศาสตร์ชะลอวัย

เวชศาสตร์ชะลอวัยคืออะไร ? เมื่อการเพิ่มขึ้นของอายุเป็นสิ่งที่มนุษย์เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และสิ่งที่มาควบคู่กับอายุที่เพิ่มขึ้นก็คือความเสื่อมหรือความชรา ( Aging ) ความชราเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาของคนทุกคน เพราะความชราเป็นการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของระบบการทำงานของอวัยวะและต่อมต่าง ๆ ที่อยู่ภายในร่างกาย เมื่อระบบอวัยวะและต่อมมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงย่อมส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอตามไปด้วย ซึ่งความชราที่เกิดขึ้นนับเป็นโรคชนิดหนึ่งทางการแพทย์ คือ โรคชรา ถึงแม้ว่าโรคชราจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้จึงมีการศึกษาและพัฒนาศาสตร์ที่ทำการรักษาโรคชราขึ้นมา ซึ่งศาสตร์นั้นคือ เวชศาสตร์ชะลอวัย ( Anti Aging Medicine ) ที่ช่วยลดความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับระบบการทำงานของร่างกาย จึงช่วยลดความชราที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้ลดลงหรือเกิดขึ้นช้าลงได้ 

แต่ก่อนที่จะทำความรู้จักกับ เวชศาสตร์ชะลอวัย ( Anti Aging Medicine ) เรามาทำความรู้จักกับความชราก่อนว่ามีแบบใดบ้างและมีสาเหตุมาจากอะไร ความชราจึงเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา

ความชราที่เกิดขึ้นกับร่างกายมี 2 แบบ คือ

1. แบบที่แสดงออกภายนอก คือ ความชราที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ภายนอก เช่น ความเหี่ยวของผิวหนัง การเปลี่ยนของสีผม เป็นต้น

2. แบบที่ไม่แสดงออกภายนอก คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบการทำงานที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น ระบบการเผาพลาญ ระบบการขจัดของเสีย ระบบการผลิตฮอร์โมนของต่อมต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางลบ คือ ประสิทธิภาพการทำงานลดลงทำให้ระบบมีการทำงานที่ลดลงตามไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบนี้จะเกิดขึ้นที่ละน้อยและไม่ส่งผลต่อร่างกายในระยะแรก แต่เมื่อผ่านไปเป็นระยะหนึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้ร่างกายรู้สึกหงุดหงิด นอนไม่หลับ ไม่มีแรง และเจ็บป่วยได้ง่าย

พบว่าความชรา ( Aging ) เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกับตัวเองและผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือคนในครอบครัวที่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ความชราที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งเราสามารถแบ่งปัจจัยที่ทำให้ร่างกายชราได้

สาเหตุที่ทำให้ร่างกายแก่ หรือ ชรา

1. การใช้งานหนักเกินไป ( Overuse )

ร่างกายของคนเราก็เหมือนกับเครื่องจักรที่เมื่อทำงานนานหรือทำงานหนักก็จะเกิดการเสื่อมสภาพ ประสิทธิภาพการทำงานลดลงหรือบางระบบของเครื่องจักรไม่สามารถทำงานได้เหมือนตอนที่ติดตั้งใหม่ ดังนั้นถ้าเราใช้ร่างกายทำงานอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ต้องใช้แรงมากหรือทำงานที่ต้องใช้สมองมีความเครียดสูง การพักผ่อนไม่เพียงพอส่งผลให้ร่างกายทำงานตลอดเวลา การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์จนร่างกายต้องเร่งขจัดของเสียออกมามากขึ้น การไม่ออกกำลังกายอย่างถูกต้องทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ทุกสิ่งล้วนทำให้ระบบภายในของร่างกายเกิดความเสื่อมขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งความเสื่อมจะค่อยๆ เกิดขึ้นและสะสมจนส่งผลต่อการทำงานในภาพรวมของร่างกาย การใช้งานร่างกายอย่างหนักอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ จะทำให้เซลล์มีอายุสั้นลงเพราะต้องทำหน้าที่ในการผลิตพลังงานให้กับร่างกายจนไม่มีเวลาฟื้นฟูหรือซ่อมแซมตัวเองให้แข็งแรง 

2. ภาวะฮอร์โมนบกพร่อง ( Hormonal Insufficiency )

เมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้นระบบการผลิตฮอร์โมนภายในร่างกายจะมีการทำงานที่ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การรับประทานอาหารที่ไม่ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่ให้วิตามินและเกลือแร่ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เอง ต้องได้รับจากภายนอกเท่านั้น ดังนั้นเมื่อร่างกายได้รับวิตามินในปริมาณที่ไม่เพียงพอย่อมส่งผลให้เกิดภาวะขาดฮอร์โมนเกิดขึ้น เพราะวิตามินมีส่วนช่วยในการผลิตฮอร์โมน จึงทำให้ปริมาณฮอร์โมนที่มีหน้าที่ช่วยในการสร้างเซลล์และซ่อมแซมเซลล์มีปริมาณลดลง ส่งผลให้เซลล์อ่อนแอลงและมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการทำงานของระบบอวัยวะภายใน ทำให้ระบบของร่างกายเกิดความชรา

3. พันธุกรรม ( Genetic )

พันธุกรรมเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเลือกได้ เพราะเป็นการถ่ายทอดออกมาจากบรรพบุรุษที่เราไม่สามารถเลือกได้นั่นเอง พันธุกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดว่าร่างกายของเราจะมีความเสื่อมเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว ยกตัวอย่างเช่น บางครอบครัวพ่อแม่เป็นคนที่ผมเริ่มหงอกเมื่ออายุประมาณ 30 ปี เมื่อลูกเกิดมาก็จะมีผมหงอกเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 30 ปีเช่นกัน แต่ในบางครอบครัวที่พ่อแม่เป็นคนที่ผมหงอกช้า โดยจะเริ่มมีผมงหงอกเมื่ออายุประมาณ 60 ปี เมื่อลูกเกิดมาก็จะเริ่มมีผมหงอกที่อายุประมาณ 60 ปีเช่นกัน เป็นต้น ดังนั้นพันธุกรรมจึงเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเกิดความชราช้าหรือเร็วได้เช่นกัน

4. การเกิดสารอนุมูลอิสระ ( Free Radical )

อนุมูลอิสระเป็นสารที่เข้ามาทำปฏิกิริยากับออกซิเดชั่นกับเซลล์ ทำให้เซลล์เกิดความเสื่อม โดยที่อนุมูลอิสระจะเข้าไปทำลายผนังเซลล์ทำให้เซลล์สูญเสียน้ำที่อยู่ภายในจนเซลล์เกิดการเสื่อมสภาพและตายไปในที่สุด หรือเข้าไปทำลายดีเอ็นเอของเซลล์จนเซลล์ไม่สามารถทำการซ่อมแซมตัวเองให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ถึงแม้ว่าเซลล์เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตายไปแต่อนุมูลอิสระจะเข้ามาเร่งปฏิกิริยาทำให้เซลล์ตายเร็วขึ้น ดังนั้นถ้าร่างกายมีอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมากแล้วเซลล์ที่อยู่ภายในร่างกายย่อมเกิดความเสื่อมสภาพมากขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายเกิดความชราเร็วขึ้นตามไปด้วย

เวชศาสตร์ชะลอวัย ที่ช่วยลดความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับระบบการทำงานของร่างกาย จึงช่วยลดความชราที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้ลดลงหรือเกิดขึ้นช้าลงได้

5. การอักเสบเรื้อรัง

คนที่อ้วนมีไขมันสะสมเยอะ เซลล์ไขมันจะปล่อยสารอักเสบออกมาทำให้หลอดเลือดอักเสบ พอหลอดเลือดอักเสบก็จะมีไขมันไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและก็เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองตีบได้

6. ภาวะน้ำตาลสะสม

เกิดจากการที่เรารับประทานน้ำตาล หรืออาหารจำพวกแป้งมากๆ พอถูกย่อยกลายเป็นน้ำตาลไปแล้ว น้ำตาลจะไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนในร่างกาย ทำให้โปรตีนหรือเซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพ เหมือนเอาเนื้อไปแช่ในน้ำหวานนานๆ เนื้อก็แปรสภาพก็ทำให้เซลล์เสื่อม

7. การสะสมของสารพิษ

จากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เราต้องสัมผัส เช่น ควันบุหรี่ รังสี สารเคมี โลหะหนัก ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป พวกสารพิษต่างๆ จะไปสะสมที่เซลล์ ทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ

8. ภาวะเป็นกรด

ร่างกายจะมีการสร้างกรด ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่เรารับประทาน (โปรตีนสูง) และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ร่างกายจะปรับสมดุลของกรดเหล่านี้ให้กลับสู่ปกติโดย ตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนกรดบางชนิดให้เป็นด่าง ปอดจะช่วยขับกรดออกจากร่างกายในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์และไตจะขับกรดออกทางปัสสาวะในรูปของแอมโมเนีย ดังนั้นภาวะเป็นกรดจะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานหนักขึ้นและเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ

9. ภาวะเสื่อมสภาพของเซลล์ต้นกำเนิด หรือที่เรียกว่า สเต็มเซลล์

เมื่ออายุมากขึ้นเวลาที่ไม่สบายจะหายช้า ไม่เหมือนตอนที่เป็นเด็ก เพราะเซลล์ต้นกำเนิดของเราหรือสเต็มเซลล์มีการเสื่อมสภาพลง การซ่อมแซมก็น้อยลงกว่าปกติ

ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเกิดความชรา ( Aging ) บางปัจจัยเราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้อย่างพันธุกรรมกับอายุที่เราไม่สามารถเลือกและหยุดให้อยู่กับที่ได้ แต่สารอนุมูลอิสระกับการใช้งานร่างกายเป็นปัจจัยที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ และปัจจัยทั้งสองยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ความชราเกิดขึ้นมากและรวดเร็วอีกด้วย

ความชราเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเองและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถที่จะทำให้ความชราเกิดขึ้นช้าลงได้ ด้วยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตเซลล์ต้นกำเนิด ( Stem cell ) หรือแม้แต่การสร้างโคลนนิ่งของสิ่งมีชีวิตขึ้นมา ทำให้เราค้นพบวิธีการที่สามารถช่วยชะลอความชราและเร่งการฟื้นฟูหรือซ่อมแซมระบบภายในของร่างกายให้สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ด้วยวิธีการรักษาสุขภาพแบบ เวชศาสตร์ชะลอวัย ( Anti Aging Medicine )

เวชศาสตร์ชะลอวัย คืออะไร มีข้อดีอย่างไร

เมื่อได้ยินคำว่าชะลอวัย เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึงการบำรุงและดูแลผิวพรรณการลดริ้วรอยเหี่ยวย่น แต่ที่จริงแล้วการลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่นเป็นเพียงหนึ่งในการรักษาแบบเวชศาสตร์ชะลอวัยเท่านั้นเอง แต่แท้ที่จริงแล้ว

เวชศาสตร์ชะลอวัยคือ ศาสตร์ทางการแพทย์แขนงหนึ่งที่เน้นการดูแลสุขภาพจากภายในร่างกาย การดูแลจะทำการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้อยู่ในสภาวะที่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยการรักษาจะเน้นรักษาแบบป้องกันแบบองค์รวม คือ การดูแลระบบการทำงานของร่างกายทั้งร่างกายให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดีหรือมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงตามกาลเวลาที่เพิ่มขึ้นของร่างกายพร้อมทั้งค้นหาสาเหตุของความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับร่างกายว่ามีสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร เพื่อที่จะได้ทำการป้องกันไม่ให้สาเหตุดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อการทำงานของระบบ จนทำให้เกิดอาการป่วยหรือการเสื่อมเกิดขึ้นอีก   

การรักษาแบบเวชศาสตร์จะต่างจากการรักษาแบบทั่วไป เพราะว่าการรักษาแบบทั่วไปเมื่อมีอาการป่วยแล้วจึงจะไปหาหมอเพื่อทำการรักษาให้หายจากโรคที่เป็นอยู่ โดยแพทย์จะทำการรักษาอาการที่เป็นอยู่อย่างให้หายไป แต่ไม่ได้รักษาที่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอาการป่วยดังกล่าว เราจึงมีโอกาสที่จะป่วยแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะสาเหตุที่ทำให้เราป่วยยังอยู่ภายในร่างกายนั่นเอง เช่น คนที่มีอาการไอ มีน้ำมูก เมื่อไปพบแพทย์ทำการรักษา แพทย์จะให้ทานยาแก้ไอกับยาลดน้ำมูกเพื่อรักษาอาการดังกล่าวให้หาย

สำหรับการรักษาแบบ เวชศาสตร์ชะลอวัย ( Anti Aging Medicine ) แล้ว จะทำการรักษาอาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันร่วมกับการตรวจหาสาหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอและมีน้ำมูกว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เช่น เกิดจากการแพ้อากาศหรือเกิดจากการอักเสบเนื่องจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันหรือเกิดจากความผิดปกติของระบบการทำงานที่จุดใด เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็จะมุ่งรักษาอย่างตรงจุด เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่มีอาการไอและมีน้ำมูกเกิดขึ้นอีกในอนาคต

จะเห็นว่าการรักษาแบบ เวชศาสตร์ชะลอวัย ( Anti Aging Medicine ) มุ่งเน้นกับความสำคัญของการทำงานของระบบร่างกายซึ่งจะสามารถดูแลสุขภาพให้มีความแข็งแรงในระยะยาวมากกว่าการรักษาอาการแบบชั่วคราวหรืออาการเฉพาะหน้าให้หาย การรักษาด้วยศาสตร์ชะลอวัยจึงเป็นการรักษาที่เน้นผลในระยะยาวมากกว่าในระยะสั้น ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการรักษาจะต้องใช้เวลาในการดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1-3 เดือนจึงจะเห็นผลอย่างชัดเจน แต่ทว่าเมื่อเกิดผลขึ้นแล้วผลที่เกิดขึ้นจะยั่งยืนและส่งผลให้สุขภาพของเราแข็งแรงขึ้นในอนาคต ไม่ใช่ว่ารักษาวันนี้หายแต่อีก 5 วันกลับมาป่วยเหมือนเดิมอีก

ขั้นตอนการรักษาของ เวชศาสตร์ชะลอวัย

เวชศาสตร์ชะลอวัย ( Anti Aging Medicine ) เป็นการรักษาทางการแพทย์หรือแพทย์ทางเลือกอีกแขนงหนึ่งที่ได้รับความนิยม ซึ่งขั้นตอนในการรักษาก็จะสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1. สอบประวัติ

การรักษาทางการแพทย์ทุกอย่างต้องเริ่มมาจากการสอบประวัติของผู้ป่วยก่อน เพื่อทำความรู้จักข้อมูลพื้นฐานของตัวบุคคลว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคใดบ้าง ซึ่งโรคที่มีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ

1.1 พันธุกรรม โรคบางโรคสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาสู่ลูกหลานได้ ถึงแม้ว่ายังไม่มีอาการแสดงในขณะที่ยังมีอายุน้อยแต่ก็ไม่แน่ว่าเมื่อมีอายุมากขึ้น โรคดังกล่าวอาจจะแสดงอาการออกมาหรืออาจจะไม่แสดงอาการออกมาเลยก็ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น 

1.2 พฤติกรรม การกระทำเป็นสิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การกินอาหารจำพวกแป้งสูง การนอนน้อย การไม่กินผักผลไม้ พฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลต่อการทำงานของระบบภายในร่างกายให้อยู่ในสภาวะไม่สมดุล หรือบางพฤติกรรมก็เป็นการเพิ่มอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการสอบประวัติโดยละเอียดของผู้ป่วย เพื่อที่จะเป็นส่วนช่วยในการรักษาต่อไป

2. การตรวจเลือด ( Blood Test )

การตรวจเลือดของการรักษาแบบ เวชศาสตร์ชะลอวัย จะมีความแตกต่างจากการตรวจเลือดของการตรวจสุขภาพทั่วไปเพราะว่าการตรวจสุขภาพทั่วไปจะเป็นการตรวจเพื่อทำการตรวจเช็คว่าร่างกายมีอาการของโรคใดเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ แต่การตรวจแบบ Anti-Aging Medicine จะทำการตรวจอย่างละเอียดถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างไร เช่น อัตราการเผาผลาญพลังงาน ( Metabolism ) อัตราการยืดหดของกล้ามเนื้อ เป็นต้น นอกจากนั้นยังทำการตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆ และระดับวิตามินในร่างกายว่าร่างกายมีปริมาณมากน้อยเท่าใด เพราะว่าการที่ร่างกายจะเกิดโรคได้นั้นจะต้องมีระบบภายในร่างกายเกิดการทำงานที่ผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดโรคขึ้น โดยเฉพาะปริมาณฮอร์โมนและวิตามินที่มีอยู่ในร่างกาย เนื่องจากทั้งสองเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการทำงานของระบบอวัยวะให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ฮอร์โมนและวิตามินจะเข้ามาเชื่อมประสานการทำงานของแต่ละระบบให้มีความสอดคล้องกัน เพราะว่าร่างกายของเราไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนด้วยการทำงานของระบบอวัยวะใดเพียงระบบเดียวเท่านั้น แต่ทุกระบบของร่างกายต้องทำงานประสานกันอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป กระเพาะอาหารทำการย่อยอาหาร ลำไส้เล็กทำการดูดซึมสารอาหาร ลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย กระแสเลือดทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย จะเห็นว่าถ้าอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งไม่ทำงาน ร่างกายก็จะเกิดความผิดปกติในทันที ซึ่งฮอร์โมนและวิตามินจะเป็นตัวช่วยในการประสานงานให้ทุกระบบทำงานอย่างสอดประสานกัน ดังนั้นถ้าปริมาณฮอร์โมนหรือวิตามินมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะมากไปหรือน้อยไป ย่อมส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายเกิดความผิดปกติตามไปด้วยโดยเฉพาะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและซ่อมแซมของร่างกาย เช่น เทสโทสเตอโรน ( Testosterone ) เมลาโทนิน ( Melatonin ) เซโรโทนิน ( Serotonin ) เอสโตรเจน ( Estrogen ) เป็นต้น 

3. การตรวจยีนส์ ( Gene Test )

ยีนส์ เป็นลักษณะที่เฉพาะตัวของแต่ละบุคคลไม่ว่าจะตรวจเมื่ออายุเท่าใด ลักษณะของยีนส์ก็จะยังเหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งการตรวจในระดับยีนส์นี้จะช่วยให้ทราบถึงลักษณะเฉพาะของบุคคลได้เป็นอย่างดี ว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคใดบ้าง เพราะว่ายีนส์จะบ่งบอกทุกอย่างออกมาให้แพทย์ได้ทราบอย่างชัดเจน และการตรวจยีนส์ยังสามารถบอกได้ด้วยว่าพฤติกรรมใดบ้างที่สร้างความเสี่ยงให้กับร่างกายในการเกิดโรคในอนาคต

จะพบว่า เวชศาสตร์ชะลอวัย จะให้ความสำคัญกับทุกอย่างที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะร่างกาย ทั้งฮอร์โมน วิตามินและแร่ธาตุ ภูมิต้านทานของร่างกาย กรดอะมิโน กรดไขมันจำเป็น และสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมว่าลักษณะยีนส์ที่ได้รับการถ่ายทอดมีความเสี่ยงในการเกิดโรคใดบ้าง โดยก่อนที่จะทำการรักษาแพทย์จะทำการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างอย่างละเอียดเพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบนี้มาออกแบบหรือวางแผนการการรักษาได้อย่างถูกต้อง

การรักษาด้วย เวชศาสตร์ชะลอวัยจะว่าเป็นการรักษาก็ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา เพราะว่าคนที่เข้ารับการรักษาส่วนมากจะไม่ใช่ผู้ที่มีอาการป่วยเกิดขึ้น แต่เป็นผู้ที่ไม่ต้องการให้ตัวเองป่วย จึงเป็นการรักษาที่ทำการดูแลระบบการดำเนินชีวิตว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ร่างกายขาดสารอาหารชนิดไหนและต้องเพิ่มหรือเสริมสารอาหารชนิดให้มาก ลดอาหารชนิดใดให้น้อยลง และต้องออกกำลังอย่างไรจึงเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งการออกแบบทุกอย่างนั้นจะเป็นลักษณะที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคลเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้กับคนอื่นได้

เวชศาตร์ชะลอวัย เหมาะกับใคร

เวชศาสตร์ชะลอวัย เหมาะกับทุกคนตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ แต่ว่าถ้าเข้ารับการรักษายิ่งเร็วก็จะยิ่งดีกับร่างกายของเรา เพราะว่าการรักษาแบบ เวชศาสตร์ชะลอวัย ( Anti Aging Medicine ) เปรียบเสมือนเส้นทางการเดินทางที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อที่เราจะไม่ต้องพบเจอกับอุปสรรคด้านสุขภาพ หรือแม้ว่าจะต้องพบบ้างแต่ก็เป็นเพียงอาการเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การรักษาด้วย จะทำให้เราเป็นบุคคลที่มีอายุยืนยาวแบบมีคุณภาพสูง นั่นคือ การมีอายุที่ยืนยาวโดยที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่เจ็บป่วย มีสุขภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง ร่าเริงแจ่มใส มีความจำที่แม่นยำ ผิวพรรณผ่องใสน่ามอง ไม่ใช่เป็นคนที่มีอายุยืนยาวแบบที่ต้องนอนอยู่บนเตียงคนไข้ ได้รับอาหารทางสายยาง หายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ เวชศาสตร์ชะลอวัย จึงเป็นศาสตร์การรักษาที่ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุขแบบที่ทุกคนใฝ่ฝันหา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Stampfer, M., Hu, F., Manson, J., Rimm, E., Willett, W. (2000) Primary prevention of coronary heart disease in women through diet and lifestyle. The New England Journal of Medicine, 343 (1) , 16-23. Retrieved October 5, 2006, from ProQuest database.