รอยตีนกา
รอยตีนกา หรือริ้วรอยที่เกิดขึ้นบริเวณหางตา ( Crow’s feet ) เป็นริ้วรอยที่ผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชายบางคนก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นบนใบหน้า เพราะทำให้ใบหน้าแลดูแก่มากขึ้น การเกิดรอยตีนกาก็ไม่สามารถหลีกหนี้ให้พ้นได้ ซึ่งรอยตีนกา คือ ริ้วรอยที่เกิดขึ้นบริเวณรอยย่นบริเวณหางตา มีลักษณะเป็นเส้นที่มีเกิดขึ้นที่บริเวณหางตาและกระจายขยายวงกว้างออกไปบริเวณรอบ ๆ หางตา รอยตีกาสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีอายุน้อยและผู้ที่มีอายุมาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยตีนกาบนใบหน้ามีดังนี้
สาเหตุที่ทำให้เกิดรอยตีนกาบนใบหน้า
1.อายุ
เมื่ออายุมากขึ้นกระบวนการผลิตคอลลาเจน ( Collagen ) และอีลาสติน ( Elastin ) เกิดขึ้นน้อยลง เนื่องจากปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจน ( Estrogen ) ที่ลดลง ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนช่วยในการเพิ่มความชุ่มชื้น ( skin hydration ) และเพิ่มปริมาณคอลลาเจนภายในผิวหนัง โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเข้าไปช่วยเพิ่มปริมาณ type I procollagen mRNA และ type I procollagen protein และช่วยเพิ่มกระบวนการสร้าง transforming growth factor beta ( TGF- β ) ที่ช่วยกระตุ้นการสร้าง fibroblasts ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินภายในร่างกาย แต่เมื่ออายุมากขึ้นปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน ( Estrogen ) น้อยลง คอลลาเจน ( Collagen ) ที่มีหน้าช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความหนาแน่นและช่วยให้ผิวมีความเรียบตึง และอีลาสติน ( Elastin ) ที่มีหน้าที่ช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น พร้อมทั้งช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินไปทดแทนส่วนที่สูญเสียไปได้อย่างเพียงพอ ทำให้บริเวณใต้ผิวหนังเกิดช่องว่างขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังที่อยู่ด้านบนมีการยุบตัวลงไปอยู่ในช่องว่างดังกล่าวแทนซึ่งเป็นที่มาของริ้วรอยและรอยตีนกานั่นเอง ดังนั้นเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นริ้วรอยก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่วนมากแล้วรอยตีนกาจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุย่างเข้า 30 ปี
2.การแสดงอารมณ์
การแสดงอารมณ์ที่รุนแรงและชัดเจนของใบหน้า เช่น การโกรธ การหัวเราะ การยิ้ม การขมวดคิ้ว การเลิกคิ้ว เป็นการทำให้เกิดริ้วรอยตีนกาได้ เนื่องจากการแสดงสีหน้าเพื่อบ่งบอกอารมณ์ของตนเองจะทำให้กล้ามเนื้อที่บริเวณใบหน้าเกิดการหดตัวขึ้น ซึ่งในช่วงแรกริ้วรอยและรอยตีนกาที่เกิดขึ้นจะเกิดเพียงชั่วคราวในขณะที่ทำการแสดงสีหน้าอารมณ์เท่านั้น แต่ถ้ามีการแสดงอารมณ์เช่นนั้นต่อเนื่องเป็นประจำแล้ว รอยตีนกาที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวก็จะกลายเป็นรอยตีนกาที่คงอยู่ถาวร แม้ว่าไม่แสดงอารมณ์รอยตีนกาก็ยังปรากฏให้เห็นชัดเจน
3.พักผ่อนไม่เพียงพอ
การนอนเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด การนอนควรนอนในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. จนถึง 06.00 น. และควรนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันจะดีที่สุด เพราะการนอนในช่วงเวลาดังกล่าวร่างกายจะมีการหลั่งโกรทฮอร์โมน ( Growth Hormone/GH ) ที่มีหน้าที่ในการซ่อมแซมเซลล์ที่เกิดการสึกหรอให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม กระตุ้นกระบวนการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่ตายไป โดยเฉพาะการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน การนอนพักผ่อนในช่วงเวลาดังกล่าวจึงทำให้ริ้วรอยเกิดขึ้นน้อยลง แต่ถ้าทำการพักผ่อนน้อยและเข้านอนช้ากว่า 24.00 น. แล้ว โอกาสที่ร่างกายจะทำการหลั่งโกรทฮอร์โมนเพื่อนำมาซ่อมแซมเซลล์ภายในร่างกายมีน้อยมาก จึงทำให้เกิดริ้วรอยตีนกาได้มากขึ้นนั่นเอง
4.การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดริ้วรอยได้มาก เนื่องจากบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดแดงที่ทำหน้าที่นำสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ภายในร่างกายเกิดการตีบเล็กลง เส้นเลือดจึงไม่สามารถนำออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์ที่บริเวณหางตาได้ ทำให้เซลล์ที่บริเวณหางตาอ่อนแอและเหี่ยวแห้ง นอกจากนั้นสารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ยังสามารถเข้าไปยับยั้งการสร้างคอลลาเจน ( Collagen ) และอีลาสติน ( Elastin ) ได้มากถึง 40 % จึงทำให้ใบหน้าเกิดรอยตีนกามากกว่าคนที่มีอายุเท่ากันแต่ไม่ได้สูบบุหรี่อีกด้วย และสารนิโคตินยังมีส่วนในการกระตุ้นกระบวนการผลิตเอนไซม์เมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส ( matrix metalloprotenase หรือ MMPs ) ที่มีหน้าที่ในการย่อยสลายคอลลาเจนให้มีปริมาณที่มากขึ้น เมื่อเอนไซม์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ปริมาณของคอลลาเจนลดลง
5.แสงแดด
แสงแดดประกอบด้วยรังสียูวีเอและยูวีบีที่สามารถแทรกซึมเข้าไปในผิวชั้นในได้ รังสียูวีที่อยู่ในแสงแดดเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสามารถซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังชั้นในและทำการเปลี่ยนอยู่ในรูปของอนุมูลอิสระที่เข้าไปกระตุ้นการทำงานของ Mitogen-Activated Protein ( MAP ) Kinase ให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง Mitogen-Activated Protein ( MAP ) Kinase มีหน้าที่ในการสร้างเอนไซม์เมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส ( Matrix Metalloprotenase หรือ MMPs ) ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายคอลลาเจน ส่งผลให้ปริมาณเอนไซม์เมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนสภายในร่างกายเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงการย่อยสลายคอลลาเจนมากขึ้น ส่งผลให้ช่องว่างที่บริเวณใต้ผิวมีเพิ่มขึ้นจึงทำให้ริ้วรอยตีนกามีปริมาณเพิ่มขึ้นนั่นเอง
6.ความเครียด ( Oxidative stress )
เมื่อร่างกายเกิดความเครียดจากการทำงาน การเดินทาง การได้รับมลพิษเข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูง เช่น ควันรถ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ร่างกายมีปริมาณสารอนุมูลอิสระ ( Free radical หรือ Reactive Oxygen species, ROS ) ภายในร่างกายสูงขึ้น โดยสารอนุมูลอิสระที่อยู่ภายในร่างกายจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการสร้างคอลลาเจนที่อยู่ใต้ผิวและกระตุ้นการสร้างเอนไซม์เมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส ( MMPs ) ที่ย่อยสลายคอลลาเจน ส่งผลให้การสร้างคอลลาเจนเกิดขึ้นน้อยกว่ากระบวนการทำลายคอลลาเจน จึงทำให้รอยตีนกาเกิดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
รอยตีนกา คือ ริ้วรอยที่เกิดขึ้นบริเวณรอยย่นบริเวณหางตา มีลักษณะเป็นเส้นที่มีเกิดขึ้นที่บริเวณหางตาและกระจายขยายวงกว้างออกไปบริเวณรอบ ๆ หางตา
การรักษารอยตีนกา
นอกจากอายุที่นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรอยตีนแกแล้ว แสงแดด ความเครียดและการแสดงอารมณ์ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรอยตีนกามากขึ้น รวมถึงมลภาวะที่อยู่รอบตัวที่เต็มไปด้วยสารอนุมูลอิสระที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายของเราแล้วจะเข้าไปขัดขวางกระบวนการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้ร่างกายสร้างได้น้อยลงและช่วยเพิ่มการสร้างเอนไซม์เมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส ( Matrix Metalloprotenase หรือ MMPs ) ที่มีหน้าที่ในการย่อยสลายคอลลาเจนและอีลาสตินให้มีปริมาณมากขึ้น ซึ่งเราสามารถทำการรักษารอยตีนกาที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
1.การทาครีมลบรอยตีนกา
การทาครีมที่ช่วยลบรอยตีนกาจะช่วยลบเลือนรอยตีนกาเป็นประจำสามารถช่วยลดรอยตีนกาที่เกิดขึ้นให้ค่อย ๆ จางลงได้ โดยปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาครีมลดเลือนรอยตีนกาเกิดขึ้นมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในการลบรอยตีนกาที่เกิดขึ้น ซึ่งสารหลายชนิดที่สามารถช่วยลดรอยตีนกาได้ เช่น กรดไฮยาลูรอน ( Hyaluronic Acid ) ที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นและช่วยต่อต้านการสร้างอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากแสงแดด หรือครีมที่มีสาวนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากองุ่น สารสกัดจากชาเขียว สารสกัดจากกาแฟ เป็นต้น การทาครีมบำรุงผิวเพื่อลบรอยตีนกาเหมาะสำหรับรอยตีนกาที่มีความลึกไม่มากนัก
2.การฉีดโบท็อกซ์ ( Botox )
การฉีดโบท็อกซ์ ( Botox ) หรือสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ ( Botulinum toxin A ) เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกิดการหดตัวให้มีการคลายตัวทำให้รอยตีนกาที่เกิดขึ้นจากการแสดงอารมณ์จนกล้ามเนื้อเกิดการหดตัวกลับมาเรียบตึงได้เหมือนเดิม โดยสารชนิดนิวโรท็อกซิน ( Neurotoxin ) ที่อยู่ในสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ ( Botulinum toxin A ) จะเข้ายับยั้งการทำงานของเส้นประสาทอะซิทิลคอลีน ( Acetylcholine ) ที่มีหน้าที่ปล่อยสารสื่อประสาทควบคุมการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เส้นประสาทอะซิทิลคอลีนไม่สามารถทำการปล่อยสารสื่อประสาทออกมาได้ กล้ามเนื้อที่หดตัวอยู่จึงเกิดการคลายตัวและกลับมาเรียบตึง หลังจากที่ทำการฉีกแล้วประมาณ 7 วัน รอยตีนกาที่มีอยู่จะหายไป การฉีดโบท็อกซ์จะคงอยู่เพียง 6-8 เดือนเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องฉีดเพิ่มตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดจึงจะทำให้รอยตีนกาที่เกิดขึ้นหายไปได้ และการฉีดต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
3.การฉีดฟิลเลอร์ ( FILLER )
ฟิลเลอร์ ( FILLER ) คือ สารไฮยารูโรนิก แอซิต ( Hyaluronic acid หรือ HA ) ที่ได้มาจากสารสกัดธรรมชาติ จัดเป็นสารเติมเต็มที่ทำการฉีดเข้าสู่บริเวณช่องว่างที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังเพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว เป็นการลดรอยตีนกาอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสารที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งการฉีดฟิลเลอร์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หลังจากฉีดฟิลเลอร์ประมาณ 7 วัน รอยตีนกาก็จะหายไปเพราะฟิลเลอร์จะเข้าไปอยู่ในช่องว่างที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนังแทนคอลลาเจนและอีลาสตินที่สูญเสียไปตามธรรมชาติ ส่งผลให้ผิวหนังกลับมาเต่งตึงเรียบเนียนเหมือนเดิม การฉีดฟิลเลอร์จะคงอยู่ได้นานเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับชนิดของฟิลเลอร์ที่เลือกใช้ ส่วนมากจะนิยมใช้ฟิลเลอร์ชนิดชั่วคราวที่มีผลอยู่ได้ประมาณ 4- 6 เดือนเพราะมีความปลอดภัยสูงที่สุด
4.การฉายแสงเลเซอร์ ( Laser )
การฉายแสงเลเซอร์เข้าไปสู่บริเวณหางตาสามารถช่วยลบรอยตีนกาแบบระยะสั้น โดยแสงเลเซอร์จะเข้าไปกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวที่หมดอายุให้หลุดลอกออกมาแล้ว ยังเข้าไปกระตุ้นการบวนการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินที่อยู่ใต้ผิวให้มีการผลิตมากขึ้นเพื่อมาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป ทำให้รอยตีนกาที่เกิดขึ้นหายไป ผิวหนังกลับมาเต่งตึงดังเดิม ซึ่งการฉายแสงเลเซอร์จะสามารถลบรอยตีนกาได้ประมาณ 3-4 เดือนต่อการฉายหนึ่งครั้ง
5.การผ่าตัดเพื่อลบรอยตีนกา
การผ่าตัดเพื่อลบรอยตีนกาหรือการผ่าตัดยกคิ้ว เป็นการผ่าตัดที่สามารถช่วยลดรอยตีนกาที่บริเวณหางตาที่ได้ผล โดยจะทำการฉีดยาชาไปที่บริเวณหางตา ทำการเปิดแผลยาว 4-5 เซนติเมตร เพื่อดึงผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณหางตาให้ตึง และตัดผิวหนังและกล้ามเนื้อส่วนเกินออกไปแล้วจึงทำการเย็บปิดแผล ซึ่งรอยแผลที่เกิดขึ้นจะทำการเย็บซ่อนที่บริเวณขมับที่มีเส้นผมปิดบังอยู่ ซึ่งการผ่าตัดจะสามารถลบรอยตีนกาได้ระยะยาวหลายปีเลยทีเดียว
การป้องกันรอยตีนกา
จะพบว่าการรักษารอยตีนกานั้นเป็นการรักษาแบบชั่วคราวไม่มีวิธีการที่สามารถรักษารอยตีนกาให้หายไปได้ตลอดชีพ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นผิวหนังก็จะมีความเสื่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อรักษารอยตีนกาให้หายแล้ว เราควรที่จะทำการป้องกันรอยตีนกาไม่ให้กลับมาเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการป้องกันสามารถช่วยชะลอการเกิดรอยตีนกาและช่วยยืดอายุของการลบรอยตีนกาให้คงอยู่บนใบหน้าของเราให้นานขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษารอยตีนกาและช่วยให้ใบหน้าอ่อนเยาว์นานขึ้นอีกด้วย ซึ่งการป้องกันรอยตีนกาสามารถทำได้ดังนี้
1.เลือกรับประทานผักผลไม้
ผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม โดยสารต้านอนุมูลอิสระนี้จะเข้าไปจับตัวกับอนุมูลอิสระที่อยู่ภายในร่างกายและขับออกจากร่างกาย ทำให้ไม่สามารถเข้ามารบกวนการทำงานของระบบการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินได้ รวมถึงลดการสร้างเอนไซม์เมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส ( Matrix Metalloprotenase หรือ MMPs ) ให้มีปริมาณน้อยลงด้วย และน้ำในผักผลไม้ยังสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเซลล์ได้อีกด้วย
2.การพักผ่อนให้เพียงพอ
ร่างกายจะสามารถฟื้นฟูและซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอได้ในขณะที่ทำการนอนหลับสนิท โดยเฉพาะการนอนในช่วงกลางคืนตั้งแต่ 22.00 น. – 6.00 น. ดังนั้นการพักผ่อนตามเวลาดังกล่าวจะทำให้รอยตีนกาเกิดขึ้นได้น้อยนั่นเอง
3.หลีกเลี่ยงรังสียูวี
รังสีอัตราไวโอเลตหรือรังสียูวีที่มีอยู่ในแสงแดดหรือแม้แต่แสงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือต่างก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดรอยตีนกาทั้งสิ้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงรังสียูวีไม่ให้สัมผัสและซึมเข้าสู่ผิวหน้าด้วยการทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน ใส่หมวกและแว่นตากันแดด เมื่อจำเป็นต้องออกกลางแจ้งจะช่วยลดการซึมเข้าสู่ผิวของรังสียูวีได้เป็นอย่างดี
4.ทาครีมบำรุงผิว
การทาครีมบำรุงที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิว เป็นการป้องกันการเกิดรอยตีนกาอย่างได้ผล ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาครีมหลายชนิดขึ้นมาเพื่อป้องกันการเกิดรอยตีนกา เช่น ครีมที่มีส่วนผสมของสารไฮยาลูรอนิค ( Hyaluronic Acid ) หรือมีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารสกัดจากชาเขียว เมล็ดกาแฟ เป็นต้น การครีมที่ดีต้องทำการนวดบริเวณหางตาร่วมด้วย เพื่อให้ครีมสามารถซึมเข้าสู่ผิวได้มากขึ้น และยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่บริเวณหางตา ลดการหดตัวของกล้ามเนื้อซึ่งเป็นที่มาของรอยตีนกาได้อีกด้วย
การป้องกันรอยตีนกาตามวิธีข้างต้นสามารถป้องกันไม่ให้เกิดรอยตีนกาก่อนวัยอันควรอย่างได้ผล และยังช่วยเพิ่มระยะเวลาการกลับมาของรอยตีนกา ทำให้ใบหน้าเรียบเนียนปราศจากรอยตีนกายาวนานขึ้น เมื่อทำการรักษารอยตีนการรวมกับการป้องกันอย่างต่อเนื่อง ที่นี้เราก็จะมีใบหน้าที่แลดูอ่อนเยาว์ปราศจากรอยตีนกาไปอีกหลายปี
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
Wang-Michelitsch, Jicun; Michelitsch, Thomas (2015). “Tissue fibrosis: a principal evidence for the central role of Misrepairs in aging”. arXiv:1505.01376 Freely accessible.
Sarifakioglu, Nedim; Terzioglu, A.; Ates, L.; Aslan, G. (2004). “A New Phenomenon: ‘Sleep Lines’ on the Face”. Scan J Plast Reconstr Surg Hand Surg. 38 (4): 244–247. doi:10.1080/02844310410027257.