การรักษาเส้นเลือดขอด โดยไม่ต้องนอนพักฟื้น
อาการของเส้นเลือดขอด ลักษณะเป็นลายเส้นสีเขียวคล้ำ สีม่วงเข้มหรือสีฟ้า คดเคี้ยวไปมา และนูนออกมาบริเวณน่อง โดยทั่วไปเกิดขึ้นบริเวณขา

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด ( Varicose veins ) เป็นโรคที่เกิดจากมีเลือดดำคั่งอยู่ในเส้นเลือดดำ ทำให้เส้นเลือดโป่งพอง ขยายตัวและขดไปมา ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดกับเส้นเลือดดำได้ทั่วร่างกาย แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ เส้นเลือดดำที่ขาส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนัง ( Superficial vien ) ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนและส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านของความสวยงาม เมื่อเกิดขึ้นในผู้หญิง โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนเป็นเวลานานๆ หรือยกของหนัก ผู้หญิง ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและคนอ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนปกติ

สาเหตุของเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดเกิดจากการทำงานของลิ้นเล็กๆ ( Valve ) ที่มีอยู่หลายลิ้นในเส้นเลือดดำที่เสื่อมประสิทธิภาพลง มักเกิดจากผนังหลอดเลือดและลิ้นที่ควบคุมการไหลของเลือดที่อ่อนแอ ซึ่งลิ้นเหล่านี้มีหน้าที่ปิดกั้นไม่ให้เลือดดำจากขาไหลย้อนต้านแรงโน้มถ่วงซึ่งอาศัยแรงบีบของกล้ามเนื้อที่ฝ่าเท้าเพื่อให้เลือดดำไหลย้อนกลับสู่หัวใจและไหลลงกลับมาคั่งที่ขาอีกที ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญในการควบคุมการไหลเวียนของเส้นเลือดดำ และผนังหลอดเลือดที่อาจขยายตัวออกจนสูญเสียความยืดหยุ่น ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ลิ้นที่คอยเปิดปิดนี้อ่อนแอและเสื่อมประสิทธิภาพลง เมื่อการทำงานของลิ้นเล็กๆเหล่านี้เสื่อมประสิทธิภาพลง ก็จะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดดำเสื่อมประสิทธิภาพลดลงเช่นกัน หากลิ้นหลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ อาจก่อให้เกิดเลือดดำรั่วออกมาและไหลย้อนกลับไปที่ส่วนล่างของร่างกาย ส่งผลให้เลือดดำสะสมในหลอดเลือด และทำให้ผนังเส้นเลือดดำยืด หย่อน โป่งพองจนกลายเป็นเส้นเลือดขอดนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด

อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคนี้มากขึ้น เกินกว่า 70 % ของคนที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปพบว่าเป็นโรคนี้ เนื่องจากการเสื่อมสภาพของลิ้นในหลอดเลือดและเซลล์ผนังเลือด หลอดเลือดเริ่มหลวมและหย่อนตัวลง
เพศ เส้นเลือดขอดสามารถพบได้ทุกเพศ แต่ตามสถิติเดิม เพศหญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชายมากถึง 3 เท่า โดยนักวิจัยชี้ว่าอาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง การตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อการเพิ่มความดันในช่องท้อง รวมไปถึงสภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ซึ่งหากขาดฮอร์โมนเพศที่ช่วยในการคงความยืดหยุ่นของผนังเส้นเลือดไป ก็จะส่งผลให้มีโอกาสเกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือดและเสี่ยงที่จะเป็นโรคเส้นเลือดขอดมากขึ้น

พันธุกรรมและเชื้อชาติ ผู้ที่บุคคลในครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดขอดจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และโรคเส้นเลือดขอดยังพบในคนที่มีเชื้อชาติแถบตะวันตกมากที่สุด ทั้งนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับอาหารที่รับประทานด้วยเช่นกัน
อาชีพ อาชีพที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคเส้นเลือดขอดคือ อาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งอยู่กับที่นานๆ และอาชีพที่ต้องยกของหนักเพราะเลือดจะไหลเวียนได้ยากขึ้น เช่น ครู พยาบาล แพทย์ พนักงานขายสินค้า พนักงานเก็บค่าโดยสาร เป็นต้น
น้ำหนัก คนที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้นกว่าคนปกติ ทั้งนี้เพราะคนที่มีน้ำหนักเกินเลือดจะหมุนเวียนได้ไม่สะดวก จะเกิดการคั่งค้างของเลือดบริเวณขามากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการเส้นเลือดขอดได้ง่าย
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เพราะฮอร์โมนเพศหญิงโดยตรงที่ส่งผลกระทบต่อการเป็นเส้นเลือดขอด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น วัยรุ่น วัยทอง หญิงตั้งครรภ์ จึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น
ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง อาการท้องผูกเรื้อรังส่งผลให้มีความดันช่องท้องเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพราะต้องออกแรงเบ่งนั่นเอง

ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย สำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตสบายเกินไป ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขาเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ไม่ดี

อาการของเส้นเลือดขอด

อาการเส้นเลือดขอดเริ่มแรกนั้นจะสังเกตเห็นเส้นเลือดผ่านทางผิวหนัง คือสามารถมองเห็นเส้นเลือดคดเคี้ยวไปมา ลักษณะเป็นลายเส้นสีเขียวคล้ำ สีม่วงเข้มหรือสีฟ้า นูนออกมาบริเวณน่อง โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นบริเวณขา อาจจะเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ แต่ยังไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น เมื่อเป็นมากขึ้นอาจเกิดอาการปวดแบบหน่วงๆหรือปวดเมื่อยบริเวณนั้นๆ กล้ามเนื้อในขาส่วนล่างเป็นตะคริวหรือสั่นเป็นจังหวะ ขาส่วนล่างบวมและมีอาการแสบร้อน รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ มีอาการคันรอบๆเส้นเลือด เส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายๆเส้น มีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน มีอาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง อาการเส้นเลือดขอดมักจะเป็นมากขึ้นในช่วงเวลาบ่ายหรือเย็นและมักจะมีอาการแย่ลงเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อน หรือเมื่อยืนเป็นเวลานาน แต่เมื่อนอนราบและยกขาขึ้นสูงก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้น หากพบว่าเส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนังหรือมีแผลพุพองที่ผิวหนังบริเวณใกล้ข้อเท้า นับว่าเป็นอาการรุนแรงของเส้นเลือดขอด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด เกิดจากมีเลือดดำคั่งอยู่ในเส้นเลือดดำ ทำให้เส้นเลือดโป่งพอง ขยายตัวและขดไปมา ซึ่งสามารถเกิดกับเส้นเลือดดำได้ทั่วร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอด

โดยทั่วไปแล้วอาการเส้นเลือดขอดมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายและร้ายแรงถึงชีวิต มักพบเป็นสภาวะอาการที่เป็นเรื่องทั่วไปมากกว่าเช่น อาการปวดเมื่อย รู้สึกหนักๆที่ขา ขาบวม หรือรู้สึกเป็นตะคริว โดยเฉพาะตอนที่ไม่ได้ใช้ขาเป็นเวลานานๆ เช่น เวลานอน แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอดในผู้ป่วยเส้นเลือดขอดได้ดังนี้- สีของเท้าคล้ำหรือแดงขึ้น เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอันเนื่องมาจากอาการเส้นเลือดขอดเรื้อรัง
1. เลือดออกอย่างรุนแรงหรือมีปริมาณมาก และหยุดไหลได้ยาก หากถูกของมีคมบาดหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณตรงเส้นเลือดขอด
2. ในผู้ป่วยบางรายอาจพบการอักเสบของเส้นเลือดดำร่วมด้วย
3. อาการเส้นเลือดขอดส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี อาจทำให้แผลบริเวณเท้าและขาหายช้าลงกว่าปกติ
4. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ผิวหนังจะแตกลายและกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด
5. หากมีอาการขาบวมแบบฉับพลันร่วมด้วยกับอาการปวดขา นั่นคือภาวะเส้นเลือดดำส่วนลึกที่มีลิ่มเลือด เป็นภาวะที่ต้องรีบทำการรักษา

การวินิจฉัยโรคเส้นเลือดขอด

โดยทั่วไปแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการซักประวัติอาการ และตรวจดูบริเวณขาทั้ง 2 ข้างในขณะท่ายืนและนอน ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ไม่ยากนัก ยกเว้นในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ขาบวม มีแผลเรื้อรัง มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุที่ขา มีเส้นเลือดขอดในวัยเด็ก เป็นต้น จะต้องมีการส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมอีก เพื่อหาวิธีการรักษาที่ถูกต้องนั้น มีขั้นตอนการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • ตรวจดูว่ามีการไหลย้อนของเส้นเลือดดำ
  • ตรวจดูว่ามีการอุดตันของเส้นเลือดดำ
  • การตรวจ CBC ดูการทำงานของเกล็ดเลือด
  • ตรวจการไหลเวียนของเลือดและสภาพเส้นเลือด
  • การฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดแล้วเอ็กซเรย์เพื่อดูลักษณะของเส้นเลือด

แนวทางการรักษา

ผู้ป่วยที่เป็นเส้นเลือดขอดอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา หากไม่มีอาการที่ทำให้รู้สึกเจ็บหรือรบกวนในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการทำการรักษาอาการเส้นเลือดขอดอาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น รักษาเพื่อบรรเทาอาการ เพื่อความสวยงาม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และเพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น ส่วนวิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นเลือด ความต้องการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ โดยมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

การรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ต้องผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดไม่เกิน 1 มิลลิเมตร โดยการใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดตลอดเวลายกเว้นเวลานอน เพื่อช่วยบีบไล่เลือดในหลอดเลือดและกล้ามเนื้อขาเคลื่อนตัวกลับสู่หัวใจได้ดีและหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น ส่วนปัญหาที่พบบ่อยสุดในการใช้ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สะดวกสบายในการสวมใส่เนื่องจากสภาวะอากาศร้อน และการลืมสวมใส่ถุงน่อง การใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีอาการอยู่ในระยะเบื้องต้นหรือใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆในภายหลัง แต่วิธีนี้จะไม่สามารถป้องกันการเกิดอาการเส้นเลือดขอดหรือทำให้อาการเส้นเลือดขอดหายไปได้

การฉีดยากระตุ้นให้ผนังเส้นเลือดตีบตัน
การรักษาด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กถึงปานกลาง คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร โดยการฉีดยาที่บรรจุสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการทำลายผนังของเส้นเลือดขอด เข้าไปในเส้นเลือดดำที่เป็นเส้นเลือดขอด เพื่อทำให้ผนังเส้นเลือดบวมจนติดกัน เลือดจึงไม่สามารถไหลผ่านได้ กลายเป็นแผลเป็นและเส้นเลือดตีบตันไปในที่สุด วิธีนี้จะทำให้เส้นเลือดที่เคยโป่งพองค่อยๆ ยุบและหายไปเพียงแค่ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น จำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางและรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยคือประมาณ 3-4 ครั้งต่อข้าง และแต่ละครั้งจะห่างกันประมาณ 1.5 -2 เดือน ยกเว้นผู้ป่วยรายที่เป็นมากอาจจะต้องเพิ่มจำนวนในการฉีดมากกว่าปกติ หลังจากได้รับการฉีดยาเพื่อที่จะรักษาแล้วผู้ป่วยควรเดินเป็นเวลา 30 นาทีอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ยาเกิดการกระจายตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาฉีดผู้ป่วยควรสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน ข้อห้ามของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้สารเคมีที่ใช้ฉีด มีเส้นเลือดอักเสบ หรือเส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่ร่วมกับปัญหาเส้นเลือดดำส่วนลึก แต่การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อให้เส้นเลือดตีบตันนั้นเป็นวิธีการรักษาที่ไม่หายขาด ในระยะยาวอาจมีการกลับมาเป็นซ้ำอีกได้

การรักษาด้วยการผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดปานกลางถึงใหญ่ คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดไม่เกิน 6 มิลลิเมตร มีอาการปวดขาและมีลิ้นในเส้นเลือดดำผิดปกติ ตลอดจนมีเส้นเลือดขอดที่เกิดปัญหาแทรกซ้อน วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมและยังคงเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดขอด โดยการผ่าตัดจะดึงเอาเส้นเลือดที่ขอดออกไปทั้งหมด เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก เหมาะกับการรักษาที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่และยาวมาก ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อให้เกิดการตีบตันแบบปกติได้ แน่นอนว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเตรียมตัวผ่าตัด หลังจากผ่าตัดในช่วง 3-4 วันแรกควรนอนพักและยกเท้าให้สูง พร้อมกับใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ สำหรับวิธีการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกนั้นสามารถหายขาดได้และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาในภายหลังได้ด้วย ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่ยังมีแขนงของเส้นเลือดขอดหลงเหลืออยู่ ก็อาจจะทำให้มีอาการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์
การรักษาด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กถึงปานกลาง คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร รวมไปถึงผู้ป่วยที่กลัวการผ่าตัดและเข็มฉีดยา ส่วนผู้ที่เป็นเส้นเลือดฝอยที่ใบหน้าและขาก็สามารถรักษาด้วยวิธีนี้เช่นกัน แต่เส้นเลือดฝอยควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2 มิลลิเมตร การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์จะใช้แสงที่มีความยาวคลื่นจำเพาะซึ่งสามารถยิงผ่านผิวหนังชั้นบนลงไปในบริเวณที่เป็นไปได้อย่างแม่นยำ เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ได้รับความร้อนจากแสงนั้นก็จะไปทำลายผนังเส้นเลือดให้หายไป วิธีการรักษานี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากทำได้ง่าย ไม่มีบาดแผลและไม่เกิดรอยแผลเป็น แต่ก็ไม่สามารถใช้รักษาเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่และคดเคี้ยวได้

การรักษาเส้นเลือดขอดโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ
วิธีนี้จะใช้หลักการเดียวกับการรักษาแบบเลเซอร์ โดยแพทย์จะใช้วิธีเจาะผ่านรูเข็มขนาดเล็กแล้วใส่ขดลวด ( Fiberroptic ) เข้าไปสลายเส้นเลือดขอดที่มีปัญหา เครื่องจะเริ่มแปลงพลังงานจากคลื่นวิทยุมาเป็นความร้อน และความร้อนนั้นจะทำให้เส้นใยของคอลลาเจนที่เป็นโครงสร้างสำคัญของผนังเส้นเลือดดำนั้นฝ่อตัวลงไปในที่สุด จากการติดตามผลพบว่าการรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกมากสุดประมาณ 10 % แต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อยและสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยา ภายหลังได้รับการรักษาด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุผู้ป่วยจำเป็นต้องสวมใส่ถุงน่อง และพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษา

การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด
การรักษาด้วยวิธีทานยา จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ระยะแรกที่มีอาการ ไม่สามารถใช้เมื่อเข้าสู่ระยะที่รุนแรงแล้วได้ ยาที่ใช้จะเป็นยากลุ่มไดออสมิน( Diosmin ) กลุ่มเฮสเพอริดิน( Hesperidin ) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งกระบวนการอักเสบให้ลดลง ลิ้นในเส้นเลือดจึงทำงานได้ตามปกติ

อาการของเส้นเลือดขอด สามารถมองเห็นเส้นเลือดคดเคี้ยวไปมา ลักษณะเป็นลายเส้นสีเขียวคล้ำ สีม่วงเข้มหรือสีฟ้า นูนออกมาบริเวณน่อง โดยทั่วไปเกิดขึ้นบริเวณขา

ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์

  • ใช้ยาชาเฉพาะที่มีการเกิดเส้นเลือดขอด
  • ใช้เวลาในการรักษาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาไม่ต้องนอนพักฟื้นตัวในโรงพยาบาล
  • ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ลดการสูญเสียเลือด
  • ลดรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัดเจน
  • ผู้เข้ารับการเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอดสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
  • ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติทันทีหลังจากรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์
  • ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้โดยไม่ต้องนอนพัก
  • รู้สึกเจ็บปวดน้อยมาก เมื่อเทียบกับการรักษาแบบเดิม
  • คุ้มค่ากว่าการรักษาแบบเดิม 

ป้องกันเส้นเลือดขอดได้ด้วยการปรับพฤติกรรม

  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง เพื่อทำให้ไม่มีเส้นเลือดขอดเพิ่ม
  • ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
  • ไม่ควรให้น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หากผู้ป่วยมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี
  • ควรนั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอกเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่หัวใจได้ดียิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นควรลุกขึ้นเพื่อขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าบ่อยๆ และควรบริหารข้อเท้าไปด้วยในขณะนั่ง
  • หากต้องยืนทำงานเป็นเวลานานๆ ควรสวมใส่ถุงน่องสำหรับป้องกันเส้นเลือดขอดหรือพันผ้าพันแผลชนิดยืดเอาไว้
  • หมั่นออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ขา
  • รับประทานผักและผลไม้มากขึ้นเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • หากเลือดไหลจากเส้นเลือดขอด ให้นั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอกแล้วใช้ผ้าสะอาดกดบริเวณแผลแรงๆ เมื่อเลือดหยุดไหลแล้วให้ทำความสะอาดแผลแบบบาดแผลสดทั่วไป แต่ถ้าแผลมีขนาดใหญ่ อาจต้องผ่าตัดเส้นเลือดขอดออก หรือต้องรักษาแผลโดยวิธีปลูกถ่ายผิวหนังที่นำผิวหนังส่วนอื่นมาปะแทน
  • เมื่อเส้นเลือดขอดโป่งพองมาก ผิวหนังแสบแดง เลือดออกจากเส้นเลือดขอด มีแผลและผื่นใกล้บริเวณข้อเท้าและมีสีคล้ำ หรือมีอาการเส้นเลือดขอดอื่นๆ ที่รบกวนในการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้รีบพบแพทย์ทันที
  • เพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอดซ้ำ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการเส้นเลือดขอดร่วมกับการป้องกันตนเองในข้อต่างๆที่กล่าวไปข้างต้น

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Curri SB et al. (1989) “Changes of cutaneous microcirculation from elasto-compression in chronic venous insufficiency”. In Davy A and Stemmer R (eds.) Phlebology ’89, Montrouge, France, ‘John Libbey Eurotext.

van Rij AM, Chai J, Hill GB, Christie RA (2004). “Incidence of deep vein thrombosis after varicose vein surgery”. Br J Surg. 91 (12): 1582–5. doi:10.1002/bjs.4701. PMID 15386324.

Munasinghe A, Smith C, Kianifard B, Price BA, Holdstock JM, Whiteley MS (2007). “Strip-tract revascularization after stripping of the great saphenous vein”. Br J Surg. 94 (7): 840–3.