มะกอกฝรั่ง
มะกอกฝรั่ง เป็นเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ที่มีผลรสเปรี้ยวอมหวานมันและกรอบอร่อย จึงนิยมนำมาทานเป็นผลไม้ หรือนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ในประเทศไทยนิยมนำมาทานจิ้มกับพริกเกลือ นอกจากนั้นใบอ่อนยังนำมาใช้ประกอบอาหารได้ เป็นต้นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรได้ ปัจจุบันนิยมปลูกไว้ในสวนสำหรับชาวสวนทั่วไป เป็นต้นที่มีประโยชน์หลากหลายด้าน และในต่างประเทศยังนำมาใช้ทำเป็นแยมได้ด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะกอกฝรั่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias dulcis Parkinson
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Jew’s plum” “Otatheite apple” “Golden apple” “Jew plum”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “มะกอก มะกอกหวาน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “มะกอกดง มะกอกเทศ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
ชื่อพ้อง : Evia dulcis (Parkinson) Comm. ex Blume, Poupartia dulcis (Parkinson) Blume, Spondias cytherea Sonn.
ลักษณะของมะกอกฝรั่ง
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลแดง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก มีก้านใบยาว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ค่อนข้างเรียวแหลม ปลายใบแหลม โคนใบแหลม และขอบใบหยักเล็กน้อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบดอกแตกออกมาจากช่อดอกใหญ่อีกทีหนึ่ง มักจะออกตามปลายยอด เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ที่ฐานรองดอกเป็นสีเหลือง
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือรูปกระสวย มียางคล้ายไรไข่ปลา ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีส้ม เนื้อข้างในเป็นสีขาวอมเขียว มีรสเปรี้ยวอมหวานมันและกรอบอร่อย
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลมวงรี เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งและมีขนอยู่ที่เปลือกหุ้ม
สรรพคุณของมะกอกฝรั่ง
- สรรพคุณ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความดันเลือด มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ลดการหดเกร็งของลำไส้ มีผลในการลดไขมันในตับ
- สรรพคุณจากเนื้อผล เป็นยาช่วยบำบัดโรคธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ ช่วยแก้โรคบิด
- สรรพคุณจากผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด แก้กระหายน้ำ ช่วยทำให้ชุ่มคอ เป็นยาระบาย
- สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาแก้ร้อนในอย่างแรง ช่วยดับพิษกาฬ แก้สะอึก ช่วยแก้ลงท้องปวดมวน
- สรรพคุณจากเมล็ด
– แก้ร้อนใน แก้หอบ แก้สะอึก ด้วยการนำเมล็ดมาสุมไฟให้เป็นถ่าน แล้วนำมาแช่กับน้ำใช้ดื่มกิน - สรรพคุณจากใบ
– แก้อาการปวดหู ด้วยการนำใบมาคั้นเอาน้ำใช้เป็นยาหยอดหู
ประโยชน์ของมะกอกฝรั่ง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลใช้ทานเป็นผลไม้โดยนิยมนำมาจิ้มกับพริกเกลือป่น ใช้ปรุงอาหาร หรือคั้นน้ำจากผลมาทำเครื่องดื่มสมุนไพร หรือแปรรูปทำน้ำผลไม้ ทางชาติตะวันตกนำใบอ่อนมาทำเป็น PEPES ส่วนในประเทศฟิจิใช้ทำแยม ซามัวและตองกาใช้ทำ otai ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียนำมาจิ้มกับกะปิ หรือเป็นส่วนประกอบในอาหารพื้นเมืองของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ชาวจาเมกาจะรับประทานผลสดโดยนำไปคลุกกับเกลือหรือทำเป็นน้ำผลไม้เติมน้ำตาลและขิง นอกจากส่วนของผลแล้วใบอ่อนยังใช้รับประทานเป็นอาหารได้เช่นกัน
2. ใช้ในด้านการเกษตร ปัจจุบันนิยมปลูกไว้ในสวน เพราะมีการปรับปรุงสายพันธุ์ออกมาให้เป็นพันธุ์เตี้ยที่มีความสูงของต้นเพียง 1 เมตร และยังให้ผลดกได้อีกด้วย
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
สารที่พบ β – caryophyllne, hexadecanoic acid, 3 – hexenol, α – terpineol, α – selinene
มะกอกฝรั่ง เป็นต้นที่มีผลสุกรสเปรี้ยวอมหวาน เนื้อผลรสเปรี้ยวฝาด เปลือกมีรสเปรี้ยวเย็น จึงนิยมนำมาทานเป็นผลไม้โดยจิ้มกับพริกเกลือ นอกจากนั้นยังเป็นผลที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยให้วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผล มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด แก้บิด แก้อาการปวดหู รวมถึงช่วยบำบัดโรคธาตุพิการจากน้ำดีผิดปกติได้ เหมาะอย่างมากในการนำมาปลูกไว้ในสวนเพื่อนำผลมาใช้ประโยชน์
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะกอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [15 พ.ค. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. “มะกอกฝรั่ง มีต้นขายผลสดอร่อย”. (นายเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [15 พ.ค. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องมะกอก”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [15 พ.ค. 2014].
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “มะกอกฝรั่ง”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 135-136.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com