แคลเซียมแร่ธาตุจำเป็นสำหรับกระดูกและฟัน (Calcium)
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญทำหน้าที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนในร่างกายพบมากในกระดูกและฟัน

แคลเซียม คือ อะไร ?

แคลเซียม ( Calcium ) หรือ แคลเซียมคาบอเนต เป็นแร่ธาตุที่จําเป็นต่อร่างกายชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้มากในร่างกาย ตรวจพบแคลเซียมอยู่มากกว่า 1,200 กรัมซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพบอยู่ในกระดูกและฟันในรูปของแคลเซียมฟอสเฟต ( Calcium  Phosphates ) มากที่สุด ทั้งนี้ยังพบแคลเซียมได้ในเลือดจับตัวอยู่กับโปรตีนส่วนแคลเซียมที่เหลือก็จะอยู่ในรูปของ เนื้อเยื่อและของเหลวในร่างกายนั่นเอง  นอกจากนี้ แคลเซียม ครึ่งหนึ่งก็จะจับเข้ากับโปรตีนในเลือด และอีกครึ่งหนึ่งก็จะลอยอยู่ในน้ำเลือดไม่จับกับอะไรทั้งสิ้น และถูกควบคุมโดยพาราธัยรอยด์ฮอร์โมน ส่วนการทำงานของแคลเซียม มักจะทำงานได้ดีเมื่อทำงานไปพร้อมกับ วิตามินเอ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดีและวิตามินซี สำหรับอัตราในการดูดซึมของแคลเซียม ในวัยเด็กจะมีการดูดซึมเพื่อนำไปใช้ในการสร้างกระดูกมากกว่าที่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเด็กนั่นเอง แต่ในวัยผู้ใหญ่ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีการดูดซึมแคลเซียมจากกระดูกออกมาใช้ประโยชน์มากขึ้น จึงเป็นผลให้กระดูกเปราะบางและเกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกแตกหักง่ายในที่สุด โดยจะพบว่าผู้หญิงเสี่ยงกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า

วัยสูงอายุควรเน้นการทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงหมั่นออกกำลังกายและเลี่ยงสาเหตุที่เป็นตัวการทำลายกระดูกก็จะช่วยลดปัญหาโรคกระดูกและฟันได้

หน้าที่ของแคลเซียม

แคลเซียม มีความสําคัญในการสร้างกระดูกและฟัน เพื่อให้กระดูกและฟันมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยพบว่าในเถ้ากระดูกจะมีแคลเซียมอยู่ร้อยละ 50 ซึ่งพบว่าจะอยู่ในรูปของแคลเซียมไตรฟอสเฟต ( Calcium Triphosphates ) ร้อยละ 85 แคลเซียมคาร์บอเนต ( Calcium Carbonate ) ร้อยละ 12 และแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Calcium Hydroxide) ร้อยละ 3 นอกจากนี้สารประกอบของแคลเซียมส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตอนปลายของกระดูกเรียกว่า ทราเบคูลาร์ ( Trabecular ) นั้น หากร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ ทราเบคูลาร์จะเกิดการพัฒนาและทำให้ส่วนปลายของกระดูกมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ระดับของแคลเซียมในเลือดเกิดความสมดุลอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย นอกจากนี้คนเราจะมีความหนาแน่นของกระดูกมากที่สุดโดยผู้หญิงจะอยู่ช่วงอายุ 25 – 30 ปี และผู้ชายจะอยู่ช่วงอายุ 30 – 35 ปี และหลังจากช่วงอายุดังกล่าว เนื้อกระดูก และฟันซึ่งมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงไปนั่นก็เพราะในช่วงวัยดังกล่าวจะมีการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากกว่าการดึงเอาแคลเซียมเข้าไป ความหนาแน่นของกระดูกและฟันจึงเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเพราะแคลเซียมจำเป็นต่อกระดูกและฟันเมื่อฟันขาดแคลเซียมจะทำให้ฟันโยกหลุดได้ง่ายเมื่อกระดูกขาดแคลเซียมจะทำให้เป็นโรคกระดูกได้ง่าย โดยในวัยสูงอายุจะเห็นได้จากการเป็นโรคกระดูกพรุนและกระดูกเปราะบางหักง่ายนั่นเอง ดังนั้นวัยสูงอายุจึงควรเน้นการทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง หมั่นออกกำลังกายบ่อยๆ และเลี่ยงสาเหตุที่เป็นตัวการทำลายกระดูกก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ได้ดี

1. แคลเซียมมีความจำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาท

โดยพบว่ากล้ามเนื้อจะมีความไวต่อการกระตุ้นเพื่อมีแคลเซียมต่ำ และหากมีแคลเซียมมากเกินไป ก็อาจจะไปกดการทำงานของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย เช่นทำให้หัวใจหยุดเต้นในท่าบีบตัว และการทำงานของประสาทเกิดการเฉื่อยชาลง เป็นต้น ดังนั้นการได้รับแคลเซียมอย่างพอเหมาะจึงมีความสำคัญมากต่อการเต้นของหัวใจ และทำให้หัวใจแข็งแรงยิ่งขึ้นและเป็นตัวเร่งและช่วยในการยับยั้งการทำงานของน้ำย่อยหลากหลายชนิด 

2. แคลเซียมเป็นตัวเร่งการแข็งตัวของลิ่มเลือด

ในภาวะที่มีเลือดออก เลือดจึงแข็งตัวเร็วขึ้น จึงช่วยยับยั้งไม่ให้เลือดไหลออกมามากเกินไปได้ดี โดยมีกระบวนการตามภาพดังนี้

                  Platelets 

                                          ↓                 Ca++

   Prothrombin            Tromboplastin       Thrombin

——-→

                         Ca++              ↓

                                          Fibrinogen     →→→       Fibrin

                                                       ( Clot )

ภาพแสดงหน้าที่ของแคลเซียม ในการช่วยการแข็งตัวของเลือด     

  • แคลเซียมช่วยกระตุ้นการย่อยโปรตีนของน้ำนม ทำให้โปรตีนในน้ำนมถูกย่อยง่ายขึ้น
  • ทำหน้าที่ในการควบคุมความสมดุลของการเป็นกรดและด่างในร่างกาย โดยจะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายมีการสะสมของกรดและด่างที่มากเกินไปนั่นเอง
  • ช่วยในการสังเคราะห์ อะซิทิลโคลีน ( Acetylcholine ) โดยเป็นสารที่มีความจำเป็นต่อการส่งกระแสความรู้สึกของระบบประสาทเป็นอย่างมาก
  • แคลเซียมเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมวิตามินบี 12 ที่บริเวณลำไส้เล็กตอนปลาย ให้มีการดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น
  • แคลเซียมทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของ Intracellular Cement หรือสารสื่อประสาทที่เชื่อมยึดกับเซลล์ เพื่อให้เซลล์สามารถคงตัวอยู่ได้

องค์ประกอบทางเคมีของแคลเซียม

เป็นหนึ่งในโลหะอัลคาไลน์เอิร์ธของกลุ่มที่ 2 (ไอไอเอ) ของตารางธาตุ มันเป็นธาตุโลหะที่ส่วนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ในร่างกายมนุษย์ แคลเซียม คุณสมบัติขององค์ประกอบ
1. เลขอะตอม 20
2. น้ำหนักอะตอม 40.078
3. จุดหลอมเหลว 842 ° C (1,548 ° F)
4. จุดเดือด 1,484 ° C (2,703 ° F)
5. แรงดึงดูดเฉพาะ 1.55 (20 ° C หรือ 68 ° F)
6. สถานะออกซิเดชั่น +2
7. การกำหนดค่าอิเล็กตรอน 1s ยกกำยัง 2 , 2s ยกกำยัง2 , 2p ยกกำยัง 6 , 3s ยกกำยัง2

ระดับแคลเซียมที่ต้องการ คือ 8.3 – 9.5
ระดับฟอสฟอรัสที่ต้องการ คือ 3.5 – 5.5

ร่างกายมีการดูดซึมแคลเซียมได้อย่างไร?

ร่างกายของคนเราจะสามารถดูดซึมแคลเซียมได้บริเวณลำไส้เล็กตอนต้น โดยจะดูดซึมที่ประมาณ 30–40 ของปริมาณที่บริโภค และที่เหลือก็จะขับออกมาทางอุจจาระ และปัสสาวะอีกเล็กน้อย นอกจากนี้ในกรณีที่ทานอาหารที่มีโปรตีนสูง จะทำให้มีการขับถ่ายแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น และจะหยุดการดูดซึมตรงส่วนล่างของลำไส้ ตรงส่วนที่อาหารมีสภาพเป็นด่าง

นอกจากนี้หากแคลเซียมอยู่ในรูปที่ไม่สามารถละลายน้ำในลำไส้ได้ ก็จะทำให้การดูดซึมแย่ลงได้เหมือนกัน และที่สำคัญความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของวิตามินดีด้วย อย่างไรก็ตามหากปริมาณของแคลเซียมที่ได้รับจากอาหารน้อยมาก ในขณะที่มีวิตามินดีอย่างเพียงพอ ก็จะเกิดการยืมแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ ซึ่งก็จะส่งผลให้เป็นโรคกระดูกอ่อนตามมาได้

ร่างกายได้รับแคลเซียมมากเกินไป แคลเซียมส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมจะเข้าไปจับตัวกับไขมัน และอาจไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอกในลำไส้ จนทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุดนอกจากนี้จากงานวิจัยของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ก็ได้พบว่าคนไทยมียีนส์ชนิดหนึ่งที่ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะที่คนตะวันตกมียีนส์ชนิดนี้อยู่แค่ร้อยละ 23 เท่านั้น

ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมเพิ่มขึ้น

1. ความต้องการของร่างกาย พบว่าในคนที่มีระดับแคลเซียมในร่างกายสูงอยู่แล้วจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อย ส่วนในคนที่มีระดับแคลเซียมในร่างกายต่ำก็จะดูดซึมแคลเซียมได้มากขึ้นไปด้วย นั่นก็เพื่อให้เกิดความสมดุลมากที่สุด นอกจากนี้ในวัยที่ต้องการแคลเซียมเพื่อการเจริญเติบโตสูง เช่น วัยเด็ก หรืออยู่ในช่วงที่ต้องการแคลเซียมมากกว่าปกติ เช่น หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร ก็จะมีการดูดซึมแคลเซียมมากกว่าปกติเช่นกัน โดยจะดูดซึมที่ร้อยละ 40 หรือมากกว่าจากอาหาร   

2. ความเป็นกรด เพราะร่างกายจะสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีในสภาพที่เป็นกรด โดยกรดจะช่วยละลายแคลเซียมให้ร่างกายดูดซึมได้ง่ายขึ้น และนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการของร่างกาย

3. ปริมาณของวิตามินดีในร่างกาย โดยวิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีวิตามินดีในร่างกายอย่างเหมาะสมด้วย

4. อัตราส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัส โดยอัตราส่วนดังกล่าวมีอัตราส่วนของแคลเซียม 1 ต่อฟอสฟอรัส 1 ( 1 : 1 ) หรือ แคลเซียม 2 ฟอสฟอรัส 1 ( 2 : 1 ) ซึ่งจะทำให้การดูดซึมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหากอัตราส่วนผิดไปจากนี้จะทำให้การดูดซึมลดลงในที่สุดเพราะฟอสฟอรัสจะเข้าไปรวมกับแคลเซียมฟอสเฟตจนทำให้ละลายได้ยากนั่นเอง

5. การมีปริมาณวิตามินเอและวิตามินซีอย่างเหมาะสม เพราะวิตามินทั้ง 2 ชนิดนี้จะช่วยในการดูดซึมแคลเซียมได้ดี

6. ไขมัน โดยพบว่าหากมีไขมันในปริมาณที่พอเหมาะ ก็จะทำให้การดูดซึมของแคลเซียมเป็นไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

7. การทานโปรตีน เพราะโปรตีนจะเป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียมได้ดี ยิ่งทานอาหารที่มีโปรตีนสูงมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้การดูดซึมแคลเซียมดีเท่านั้น

8. ปริมาณของน้ำตาลแลคโทส เพราะน้ำตาลแลคโทสจะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมได้ดี เพราะแบคทีเรียจะเข้าไปเปลี่ยนแลคโทสให้เป็นกรดแลคติคนั่นเอง

ปัจจัยที่จะขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม

1. ไขมัน พบว่าหากร่างกายมีไขมันที่มากกว่าปกติ ก็จะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ยาก เพราะแคลเซียมกับไขมันจะรวมตัวกันจนเกิดเป็นสารประกอบที่ไม่ละลายนั่นเอง

2. กรดออกซาลิค โดยกรดชนิดนี้เมื่อรวมเข้ากับ แคลเซียม จะเกิดเป็นเกลือแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งเป็นเกลือที่ไม่ละลาย จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ประโยชน์ได้และจะถูกขับออกมาจากร่างกายเป็นลำดับต่อไป แต่ก็อาจทำให้เป็นโรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดีได้เหมือนกัน

3. กรดไฟติค โดยกรดชนิดนี้จะรวมเข้ากับแคลเซียมจนทำให้กลายเป็นเกลือที่ไม่ละลายน้ำและย่อยได้ยากมาก เป็นผลให้ไม่สามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้     

4. เมื่อร่างกายได้รับฟอสฟอรัสที่มากกว่าปกติ เพราะจะทำให้อัตราส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัส ( Phosphorus ) ขาดสมดุล และร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยมาก โดยกรณีนี้จะต้องทานแคลเซียมให้มากขึ้นเพื่อให้ได้อัตราส่วนที่เหมาะสมกับฟอสฟอรัส

5. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะไปลดประสิทธิภาพในการทำงานของตับให้ลดน้อยลง ทำให้วิตามินดีที่เป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียมลดลง และดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง

6. การสูบบุหรี่จัดหรือสูบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะควันบุหรี่จะทำให้ร่างกายเกิดความเป็นกรด จนต้องมีการปล่อยแคลเซียมจากกระดูกออกมาเพื่อปรับสภาพให้เป็นกลาง ผลที่ตามมาก็อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกอ่อนหรือกระดูกพรุนได้

7. ผู้ที่ดื่มกาแฟมาก โดยดื่มมากกว่าวันละ 6 แก้วขึ้นไปเพราะคาเฟอีนจะไปกระตุ้นให้มีการปล่อยแคลเซียมออกมาจากกระดูกมากกว่าปกติถึง 2 เท่า

8. แร่ธาตุในร่างกายขาดความสมดุล จึงทำให้เกิดการแข่งขันกับแคลเซียมเพื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจึงเป็นผลให้แคลเซียมอาจจะถูกดูดซึมน้อยลงกว่าปกติได้

9. การออกกำลังกายน้อยหรือแทบไม่ได้ออกกำลังกายเลย เพราะจะทำให้ความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง และอาจเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ

10. การดื่มน้ำอัดลมเพราะน้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอริคที่ทำให้เกิดฟองสูงมาก จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับฟอสฟอรัสมากเกินไปและเสียสมดุลกับแคลเซียมในที่สุด

11. การทานยาลดกรดที่มีอลูมินัมเป็นส่วนผสม เพราะจะทำให้แคลเซียมถูกปล่อยออกมาจากกระดูกมากขึ้น และยังทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ลดลงจากเดิมอีกด้วย

แหล่งอาหารที่พบแคลเซียม

ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์แคลเซียมเองได้ จึงสามารถหาแคลเซียมได้จากอาหาร ดังนี้

1. น้ำนมมีแคลเซียมสูง

นมวัว 100  ซีซี มีแคลเซียม 120 มิลลิกรัม
น้ำนมคน 100  ซีซี มีแคลเซียม 30 มิลลิกรัม
นมผง 100 ซีซี มีแคลเซียม 990 มิลลิกรัม

จะเห็นได้ว่าในน้ำนมของคนมี แคลเซียม อยู่น้อยมาก แต่ในขณะเดียวกันกลับมีอัตราส่วนระหว่างแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่เหมาะสมที่สุด จึงสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านมชนิดอื่นๆ และเหมาะกับทารกมากกว่านมวัวอีกด้วย   

2. ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ไอศกรีม เนยแข็ง เนยเหลวและผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำขึ้นจากนม

3. กระดูกที่สามารถกินได้ เช่น ปลากระป๋อง กุ้งแห้ง ปลากรอบ ปลาป่น กุ้งฝอยสด กุ้งแห้ง กะปิ ปลาเล็กปลาน้อย หอยนางรม เป็นต้น

4. แคลเซียมพบมากในผักใบเขียวที่มีลักษณะแข็ง เช่น คะน้า ใบยอ ใบชะพลู งาดำและงาขาวเป็นธัญพืชที่พบว่ามีแคลเซียมสูง

5. เต้าหู้ที่มีการเติมแคลเซียมคลอไรด์ลงไป จึงทำให้มีแคลเซียมอยู่ในเต้าหู้พอสมควร

6. น้ำส้มคั้นรวมถึงน้ำนมถั่วเหลืองที่มีการเติมแคลเซียมลงไป

อาหารที่มีแคลเซียมต่ำ ก็จะเป็นพวกเนื้อสัตว์ ข้าวเหนียว ถั่วเมล็ดแห้ง และ ข้าวเจ้า รวมถึงผักผลไม้หลากหลายชนิดซึ่งจากการวิจัยของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คนไทยส่วนใหญ่มักจะได้รับแคลเซียมจากอาหารที่ไม่ใช่นมมากกว่า และมีการรับแคลเซียมผ่านยาแคลเซียมชนิดแคปซูลอีกด้วย

ปริมาณแคลเซียมที่พอเพียงในแต่ละวันสำหรับคนไทย ( AI )

ทารก 6-11 เดือน 270 มิลลิกรัม/วัน
เด็ก 1-3 ปี 500 มิลลิกรัม/วัน
เด็ก 4-8 ปี 800 มิลลิกรัม/วัน
วัยรุ่น 9-18 ปี 1,000 มิลลิกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ 19-50 ปี 800 มิลลิกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ 51-71 ปี 1,000 มิลลิกรัม/วัน
หญิงตั้งครรภ์ ≤18 ปี 1,000 มิลลิกรัม/วัน
19-50 ปี 800 มิลลิกรัม/วัน
หญิงให้นมบุตร ≤18 ปี 1,000 มิลลิกรัม/วัน
19-50 ปี 800 มิลลิกรัม/วัน

โดยจะเห็นได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น คนเราก็จะมีความต้องการ แคลเซียม เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ในขณะที่อัตราการดูดซึมต่ำลงมาก อย่างไรก็ตาม หากรับประทานแคลเซียมสูงจะต้องทานอาหารที่มีแมกนีเซียมในประมาณสูงขึ้นด้วย รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น สังกะสี ทองแดง ฟอสฟอรัส แมงกานีส เป็นต้น เพราะวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญของกระดูกและฟันที่จะขาดไม่ได้นั่นเอง ทั้งนี้การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเพิ่มความหนาแน่นของเนื้อกระดูกได้ จึงจำเป็นต้องทานอาหารที่มีแร่ธาตุเหล่านี้อย่างครบถ้วน เพื่อให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีและมีมวลกระดูกที่หนาแน่นขึ้น ห่างไกลจากภาวะโรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกอ่อนนั่นเอง

เซลล์ในกระดูกจะมีอยู่ 2 ชนิดคือ เซลล์สลายกระดูกโดยจะทำหน้าที่ในการสลายกระดูกที่ผุกร่อนออกไป และเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูก เพื่อทดแทนกระดูกที่สลายออกไป

อาหารเสริมแคลเซียมและการดูดซึม

แคลเซียมในร่างกายทั้งหมดพบว่าเป็นแคลเซียมไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Ca 10 [PO 4 ] 6 [OH] 2 )
ในกระดูก ฟัน และเนื้อเยื่อแข็งมีความแข็งแรง เมื่อหญิงชายอายุมากขึ้น และผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน (วัยทอง) การดูดซึมแคลเซียมจะลดลงโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 0.21 เปอร์เซ็นต์ต่อปีหลังอายุ 40 ปี มักเป็นโรคกระดูกพรุน การสูญเสียมวลกระดูก และเสี่ยงต่อภาวะกระดูกหัก ดังนั้น เพื่อป้องกันการโรคเหล่านี้ควรกินอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ ถึงแม้ในนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมจะมีแคลเซียมสูงแต่ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการตามช่วงอายุนั้นก็อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นอาหารเสริมที่มีแคลเซียมจึงมีความสำคัญสำหรับผู้หญิงวัยทอง ผู้สูงอายุที่ต้องการแคลเซียมประมาณ 1,200 มิลลิกรัมต่อวันเลยทีเดียว

การเสริมแคลเซียม

แคลเซียมที่ได้จากการกินอาหารเข้าไปนั้นจะไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว แต่แคลเซียมจะดูดซึมตลอดความยาวของลำไส้เล็ก เมื่อแคลเซียมถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กแล้วก็จะเข้าสู่เส้นเลือดและขนส่งไปยังกระดูก เนื้อเยื่อ และอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายปริมาณแคลเซียมที่ดูดซึมขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการ ได้แก่
1. ปริมาณแคลเซียมในเลือด
2. รูปแบบของแคลเซียม
3. ลักษณะความยาวของลำไส้เล็ก

อาหารแคลเซียมสูงที่มีบทบาทสําคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก

อาหารเสริมแคลเซียม มีชนิดหลัก

1. แคลเซียม แอล-ทรีโอเนต ( Calcium L Theonate )  ร่างกายสามารถดูดซึมได้ 90% รับประทานตอนท้องว่างได้

2. แคลเซียม คาร์บอเนต ( Calcium Carbonate ) ร่างกายดูดซึมได้ 10% อาจทำให้ท้องผูก

3. แคลเซียม ซิเตรต ( Calcium Citrate ) ร่างกายดูดซึมได้ 50% ต้องรับประทานพร้อมอาหาร จะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อมีกรดในกระเพาะเท่านั้น

ผลจากการขาดแคลเซียมหรือมีแคลเซียมในร่างกายน้อยเกินไป

เมื่อร่างกายได้รับปริมาณของ แคลเซียม น้อยเกินไป จะเกิดการสกัดกั้นแคลเซียมที่กำลังจะขับออกจากร่างกายเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ก่อน ส่วนตับก็จะปล่อยวิตามินดีออกมาเพื่อกระตุ้นให้มีการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารมากขึ้น โดยหากอาหารที่ทานเข้าไปมีปริมาณของแคลเซียมน้อยมาก ก็จะทำให้มีการยืมเอาแคลเซียมในกระดูกออกมาใช้ และส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

1. เป็นตะคริวและชาตามมือตามเท้า

2. มีการสร้างกระดูกที่ผิดปกติ เพราะขาดแคลเซียม ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้สูง และจะรุนแรงมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการขาด แคลเซียม อย่างร้ายแรงมักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนัก เพราะจะทำให้ร่างกายต้องขาดวิตามินดีและฟอสฟอรัสด้วย แต่เมื่อขาดแล้วก็จะทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและมีปัญหาตามมาได้ รวมถึงทำให้รูปร่างและลักษณะของกระดูกแตกต่างออกไปอีกด้วย โดยที่พบได้บ่อยก็คือ ภาวะโรคกระดูกอ่อนในเด็ก โดยจะมีอาการข้อมือและเท้าใหญ่ หน้าอกยื่นออกมา ขางอโค้งและกระดูกอกกลวง ส่วนในผู้ใหญ่อาจเป็นโรคกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ได้ โดยจะมีผลให้โครงร่างผิดไปจากเดิมและเกิดภาวะกระดูกร้าวได้ง่าย โดยภาวะขาดแคลเซียมอย่างรุนแรงนี้ มักพบมากในคนที่ตั้งครรภ์ติดกัน คนที่ให้นมบุตรเป็นเวลานานและคนที่มักจะไม่ค่อยได้เจอแสงแดดบ่อยๆ 

3. โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่เกิดจากความหนาแน่นของมวลกระดูกลดน้อยลง จนทำให้กระดูกเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดก็ไม่สามารถรับน้ำหนักของร่างกายได้ เป็นผลให้กระดูกแตกหักหรือแตกยุบลงในที่สุด นั่นก็เพราะแคลเซียมถูกดึงออกจากกระดูกเร็วกว่าที่มีการสะสมเข้ามา ซึ่งโดยปกติแล้วเซลล์ในกระดูกจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ เซลล์สลายกระดูกโดยจะทำหน้าที่ในการสลายกระดูกที่ผุกร่อนออกไป และเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูก เพื่อทดแทนกระดูกที่สลายออกไป โดยกระบวนการดังกล่าวนี้จะหมุนเวียนประมาณ 100 วัน และทุก 10 วันร่างกายจะมีการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ แต่เมื่ออายุมากขึ้นหรือผู้หญิงในวัยที่หมดประจำเดือน เซลล์ที่สลายกระดูกจะทำหน้าที่มากกว่าเซลล์ที่สร้างกระดูก เป็นผลให้มีการสูญเสียเนื้อกระดูกเร็วกว่าปกติ และสร้างเนื้อกระดูกขึ้นมาใหม่ไม่ทัน จน กระดูกบางลงและเกิดภาวะกระดูกพรุนในที่สุด ซึ่งก็จะมีอาการเจ็บบริเวณกระดูก ข้อ และเตี้ยลงกว่าเดิม เพราะกระดูกสันหลังได้ยุบตัวลงนั่นเอง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้ระบบอาหารถูกกระทบกระเทือนอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ก็จะช่วยชะลอการเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกได้

4. เตตานี ( Tetany ) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการขาด แคลเซียม โดยเป็นโรคที่มีอาการผิดปกติของประสาทคือประสาทจะไวกว่าปกติและไม่สามารถที่จะควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อได้ อาการที่พบบ่อยคือมีภาวะการเกิดตะคริว การชักเกร็งตัว ชักจากแคลเซี่ยมในเลือดต่ำ อาการมือกำ กำปลายนิ้วทุกนิ้วเข้าหากัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพบได้บ่อยมากในหญิงตั้งครรภ์และหญิงคลอดบุตร เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการแคลเซียมมากกว่าปกติ จึงมีโอกาสที่จะขาดแคลเซียมและเป็นโรคเตตานี ( Tetany ) ได้ในที่สุด

ผลจากการได้รับแคลเซียมมากเกินไป

การได้รับแคลเซียมที่มากเกินไป มักเกิดจากการรับประทานแคลเซียมในรูปแร่ธาตุที่อัดเป็นเม็ด แคปซูล
หรือเป็นแร่ธาตุที่เติมเข้าไปในอาหาร แคลเซียมประเภทนี้จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเร็วโดยที่ร่างกาย
ปรับสภาพไม่ทัน ฉะนั้น การรับแคลเซียมที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในตัวอาหารที่มาจากธรรมชาติจะไม่เกิดผล
ข้างเคียงดังกล่าว แคลเซียมจากอาหารธรรมชาติมีมากมาย เช่น แคลเซียมจากนม ชีส กระเจี๊ยบเขียว
ปลาจิ้งจั้ง ปลาข้าวสาร เป็นต้น ดังนั้น หากต้องการเสริมแคลเซียมให้เลือกรับประทานอาหารธรรมชาติ
ที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงจะเป็นการดีกว่าประหยัดกว่าและปลอดภัยกว่า

ในกรณีที่ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีมากเกินไปก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่ก็มักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ มีความดันเลือดสูงและอาจเป็นโรคนิ่วในไตได้ นั่นก็เพราะแคลเซียมจะเข้าไปจับเกาะกับไตมากเกินไป จึงทำให้เป็นนิ่วได้ในที่สุด นอกจากนี้ในบางคนก็อาจมีอาการปวดท้อง ท้องร่วงได้อีกด้วย รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อกระบังลมทำงานหนัก จนแข็งเกร็งและอาจเสียชีวิตด้วยหัวใจวายได้ในที่สุด โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ส่วนในบางคนก็อาจจะมีความคิดที่สับสน เก็บกดและมีอาการทางจิตได้

การขับแคลเซียมออกจากร่างกาย

แคลเซียมจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระ

ร่างกายรักษาระดับแคลเซียมอย่างไร

โดยปกติร่างกายจะควบคุมแคลเซียมที่ไหลเวียนในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาอยู่แล้ว หากระดับแคลเซียมในเลือดลดลงต่อมพาราไทรอยด์ ( Parathyroid ) จะปล่อยพาราทอร์โมน (Parathormone, PTH) เข้าไปในเลือดและส่งสัญญาณให้เซลล์ในกระดูกปล่อยแคลเซียมออกจากผิวกระดูก พาราทอร์โมนยังส่งสัญญาณให้ไตกักเก็บแคลเซียมที่มากเกินไปก่อนที่จะถูกขับออกผ่านทางปัสสาวะ

ดังนั้นจึงควรทานแคลเซียมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไปจะดีกว่า

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

โภชนศาสตร์เบื้องต้น, สิริพันธุ์ จุลกรังคะ.–พิมพ์ครั้งที่ 9.–กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2558. 314 หน้า. 1.โภชนาการ. RA784 .ส37 2558 ISBN 978-616-556-046-7.

USDA National Nutrient Database, Calcium content of selected foods

Nutrition fact sheet from the National Institutes of Health

UK Food Standards Agency: Calcium

Weast, Robert (1984). CRC, Handbook of Chemistry and Physics. Boca Raton, Florida: Chemical Rubber Company Publishing.

Krieck, Sven; Görls, Helmar; Westerhausen, Matthias (2010). “Mechanistic Elucidation of the Formation of the Inverse Ca(I) Sandwich Complex [(thf)3Ca(μ-C6H3-1,3,5-Ph3)Ca(thf)3] and Stability of Aryl-Substituted Phenylcalcium Complexes”. Journal of the American Chemical Society. 132