ตะขบบ้าน

ตะขบบ้าน

ตะขบบ้าน หรือ ตะขบฝรั่ง ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กซึ่งเป็นพืชโบราณที่พบได้ตามบ้านเรือน มีลำต้นไม่สูง แตกกิ่งจำนวนมาก กิ่งแผ่กางเป็นวงกว้างเป็นร่มเงา มีความสูงอยู่ประมาณ 5-7 เมตร และยังสูงได้อีกถึง 10 เมตร  เปลือกลำต้นเรียบจะมีสีเทา กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม และมีดอกขาว ผลสุกหอมให้รสหวาน มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ จะปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกทั่วไปในเขตร้อน และอาจจะพบเป็นวัชพืชในที่รกร้างตามป่าทั่วไป จะขยายพันธุ์ได้เองโดยวิธีการเพาะเมล็ด ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ

ตะขบบ้าน หรือตะขบไทย มีชื่อสามัญ คือ Calabura, Jam tree, Jamaican cherry, Malayan Cherry, West Indian Cherry
ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Muntingia calabura L. (ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ MUNTINGIACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ครบฝรั่ง (สุราษฎร์ธานี), หม่ากตะโก่เสะ (กะเหรี่ยงแดง), ตากบ (ม้ง), เพี่ยนหม่าย (เมี่ยน), ตะขบฝรั่ง (ไทย)
ชื่อวงศ์ : วงศ์สนุ่น (SALICACEAE)
ชื่อพ้อง : Flacourtia cataphracta Roxb. ex Willd.

ลักษณะของตะขบ

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับแบบทแยง ลักษณะเป็นรูปไข่ มีขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรืออาจจะข้างหนึ่งมนและอีกข้างหนึ่งแหลม ขอบใบจักเป็นซี่เล็ก ๆ ใบมีความกว้างอยู่ประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร หลังใบด้านบนจะเป็นสีเขียว ท้องใบด้านล่างมีสีนวล หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มและจะเหนียวเล็กน้อย เส้นแขนงใบจะมีอยู่ 3-5 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร มีขน และโคนก้านเป็นปม
ดอก จะเป็นดอกเดี่ยวหรือคู่ โดยจะออกเหนือซอกใบ มีสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อม ๆ ปลายกลีบจะมน มีความกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 11 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีเขียว ลักษณะเป็นรูปหอก ปลายกลีบแหลม มีความกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตรโคนกลีบตัด กลีบด้านนอกมีขน ส่วนด้านในเกลี้ยง มีเกสรเพศผู้อยู่มาก ก้านเกสรยาวประมาณ 5-6.5 มิลลิเมตร ไม่มีขน แต่ก้านเกสรเพศเมียจะสั้น มี 5-6 ช่อง อยู่ข้างใน และแต่ละช่องจะมีไข่อ่อนจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร มีขน
ผล เป็นผลสด ลักษณะเป็นทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 0.75-1.5 เซนติเมตร เปลือกบาง ผลอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่ถ้าสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รสหวาน มีเมล็ดแบนขนาดเล็กอยู่มาก

สรรพคุณของตะขบ

1. ผล มีรสหวาน มีความหอมและเย็น สามารถเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ
2. ดอก ใช้ดอกแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม แก้อาการปวดศีรษะ แก้หวัด ลดไข้ แก้อาการปวดเกร็งในทางเดิน แก้ปวดและแก้อักเสบ หรือใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นกินเป็นยาขับระดูของสตรี แก้โรคตับอักเสบ แก้ปวดและแก้อักเสบ
3.ใบ มีรสฝาด สามารถใช้เป็นยาขับเหงื่อ
4. ต้นและราก ต้นสามารถใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง หรือต้มกับน้ำกินเป็นยาระบาย เนื่องจากมีสาร mucilage มาก ส่วนรากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันตามตัว แก้เสมหะ ช่วยกล่อมเสมหะและอาจม
5. เนื้อไม้ มีสามารถใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด แก้อาการปวดศีรษะ แก้ไข้หวัด ขับไส้เดือน แก้ตานขโมย
6. เปลือกต้น มีรสฝาด นำมาสับเป็นชิ้นต้มในน้ำเดือด 1 ลิตร ประมาณ 15 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาระบายได้

ประโยชน์ของตะขบ

1. อุดมไปด้วยพลังงาน ทั้งเส้นใยอาหาร แคลเซียม โพแทสเซียม และโซเดียม จากการวิจัยพบว่าสามารถช่วยดูดซับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ และเส้นเลือดในสมองแตกได้ (ตะขบ 100 กรัม จะให้พลังงาน 97 กิโลแคลอรี, แคลเซียม 51.7 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 773 มิลลิกรัม, โซเดียม 12.8 มิลลิกรัม) (นพ.สมยศ ดีรัศมี)
2. ผลสุกมีรสหวานและมีกลิ่นหอม เป็นผลไม้พื้นบ้านที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ และยังเป็นอาหารของนกและสัตว์หลายชนิด ถ้าปลูกไว้ริมฝั่งแม่น้ำ ถ้าผลร่วงลงก็จะเป็นอาหารของปลาด้วยเช่นกัน
3. ผลตะขบฝรั่ง นิยมรับประทานกันมากในเม็กซิโก สามารถนำไปแปรรูปเป็นแยมหรือไวน์ หรือนำใบไปแปรรูปเป็นชา
4. เนื้อไม้ จะเนื้ออ่อน สามารถนำมาใช้ในงานช่างไม้ และเปลือกใช้เป็นแหล่งของเส้นใย
5. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน หรือปลูกประดับริมทางเดินเพื่อให้ร่มเงา

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ตะขบฝรั่ง (Takhob Farang)”. หน้า 119.
2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตะขบฝรั่ง, ตะขบ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 ธ.ค. 2014].
3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตะขบฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [21 ธ.ค. 2014].
4. ผักพื้นบ้านและผลไม้พื้นเมืองภาคใต้, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ตะขบฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [21 ธ.ค. 2014].
5. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “ต้นตะขบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th. [21 ธ.ค. 2014].
6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ตะขบฝรั่ง”. อ้างอิงใน : หนังสือผลไม้ 111 ชนิด (นิดดา หงส์วิวัฒน์, ทวีทอง หงส์วิวัฒน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [21 ธ.ค. 2014].
7. ไทยโพสต์. “มหัศจรรย์ ‘ตะขบ’ ด้อยราคา-มากค่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net. [21 ธ.ค. 2014].

รูปอ้างอิง
1.https://www.komchadluek.net
2.https://specialtyproduce.com
3.https://plantingman.com
4.https://www.flickr.com