เสลดพังพอนตัวเมีย

เสลดพังพอนตัวเมีย

เสลดพังพอนตัวเมีย สมุนไพรชื่อแปลกมากสรรพคุณที่มักจะพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศไทย กลีบดอกเป็นสีแดงส้มทำให้ดูโดดเด่น เป็นยาที่ค่อนข้างเด่นในการใช้ภายนอก ส่วนมากใบสดจะนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นแผล แต่ในปัจจุบันวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมแล้ว แต่องค์การเภสัชกรรมได้มีการผลิตครีมจากสมุนไพรเสลดพังพอนตัวเมียมาใช้ในการรักษาอยู่ และเรามักจะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารอย่างแกงแค เสลดพังพอนตัวเมียถือเป็นยาดั้งเดิมที่กำลังนำมาพัฒนาในรูปแบบใหม่

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเสลดพังพอนตัวเมีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Snake Plant”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “พญาปล้องดำ พญาปล้องทอง” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ลิ้นมังกร ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด” จังหวัดลำปางเรียกว่า “พญาปล้องคำ” จังหวัดพิษณุโลกเรียกว่า “เสลดพังพอนตัวเมีย” คนทั่วไปเรียกว่า “ลิ้นงูเห่า พญายอ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “โพะโซ่จาง” จีนกลางเรียกว่า “ชิงเจี้ยน หนิ่วซิ้วฮวา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
ชื่อพ้อง : Clinacanthus burmanni Nees, Clinacanthus siamensis Bremek., Justicia nutans Burm. f.

ลักษณะของเสลดพังพอนตัวเมีย

เสลดพังพอนตัวเมีย เป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถา มักจะเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่น พบตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศไทย หรือปลูกกันตามบ้านทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นเกลี้ยง ต้นอ่อนเป็นสีเขียว ลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นปล้องสีเขียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ รูปใบหอก รูปวงรีแคบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 3 – 6 ดอก กลีบดอกเป็นสีแดงส้ม ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก ในดอกหนึ่งมี 5 กลีบ รูปทรงกระบอก กลีบรองดอกเป็นสีเขียว มีขนเป็นต่อมเหนียวโดยรอบ มักจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม
ผล : เป็นผลแห้งและแตก เป็นรูปกลมยาววงรี ก้านสั้น ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 เมล็ด

สรรพคุณของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • สรรพคุณจากรากและเปลือกต้น
    – บำรุงกำลัง ด้วยการนำรากและเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้นและใบ ถอนพิษไข้ ดับพิษร้อน เป็นยารักษาโรคบิด
  • สรรพคุณจากใบ ตำรายาแก้งูสวัด รักษาอาการอักเสบ รักษาแผลร้อนในปาก แก้เริม แก้อีสุกอีใส แก้ขยุ้มตีนหมา เป็นยาถอนพิษต่าง ๆ แก้ถูกหนามพุงดอตำหรือถูกใบตะลังตังช้าง แก้หัด แก้เหือด
    – ลดไข้ แก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการนำใบสด 1 กำมือ มาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำซาวข้าว ทำการพอกบนศีรษะคนไข้ 30 นาที
    – แก้เจ็บคอ ด้วยการนำใบสดเคี้ยวประมาณ 10 ใบ กลืนเอาแต่น้ำยาพอให้ยาจืด แล้วค่อยคายกากทิ้ง
    – ช่วยแก้คางทูม ด้วยการนำใบสด 10 – 15 ใบ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าโรง ทำการคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่บวม
    – แก้แผลอักเสบมีไข้ แก้ไข่ดันบวม ด้วยการนำใบสด 3 – 4 ใบ มาตำกับข้าวสาร 3 – 4 เม็ด ทำการผสมกับน้ำพอเปียก ใช้พอก 2 – 3 รอบ
    – รักษาแผลจากสุนัขกัดมีเลือดไหล ด้วยการนำใบสด 5 ใบ มาตำพอกบริเวณแผล 10 นาที
    – รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยดับพิษร้อน ด้วยการนำใบสดมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกแผล หรือนำใบสดมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าใช้เป็นยาพอก
    – รักษาแผลเปื่อยเนื่องจากถูกแมงกะพรุนไฟ แก้แผลสุนัขกัด รักษาแผลที่เกิดจากการถูกกรด ด้วยการนำใบมาหุงกับน้ำมันแล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการ
    – รักษาแผลน้ำเหลืองเสีย ด้วยการนำใบ 3 – 4 ใบ กับข้าวสาร 5 – 6 เม็ด เติมน้ำลงไปให้พอเปียก แล้วนำมาพอก เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง แล้วให้เอาน้ำมาหยอดกันยาแห้ง
    – แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ด้วยการนำใบสดมาตำผสมกับเหล้าใช้ทา
    – แก้สิวเม็ดผดผื่นคัน ด้วยการนำใบมาดองกับเหล้า แล้วผสมดินสอพองใช้ทา
    – แก้ฝี ด้วยการนำใบมาโขลกผสมกับเกลือและเหล้า ใช้พอกบริเวณที่มีอาการ
    – เป็นยาขับพิษ ถอนพิษโดยเฉพาะพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ผื่นคัน แก้ไฟลามทุ่ง แก้ลมพิษ แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบสด 5 – 10 ใบ มาขยี้หรือตำแล้วทา
    – แก้ลมพิษ ด้วยการนำใบมาตำผสมกับดินสอพอง ใส่น้ำเล็กน้อย ใช้ทาบริเวณที่มีอาการ
    – เป็นยาแก้พิษงู โดยคนเมืองนำใบมาตากแห้งแล้วตำผสมกับแมงป่องปิ้ง
    – แก้แพ้เกสรรักษาป่า แก้ยางรักป่า แก้ยางสาวน้อยประแป้ง ด้วยการนำใบผสมกับเหล้า นำมาทาบริเวณที่คัน
  • สรรพคุณจากราก ขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน แก้อาการปวดเมื่อยบั้นเอว
    – ช่วยแก้อาการผิดสำแดง ด้วยการนำรากสดมาต้มกินครั้งละ 2 ช้อนแกง
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยแก้อักเสบแบบดีซ่าน แก้ปวดบวม แก้เคล็ดขัดยอก แก้ฟกช้ำ แก้กระดูกร้าว ช่วยขับความชื้นในร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากเย็นชื้น
  • สรรพคุณจากลำต้น
    – ช่วยทำให้แผลหายเร็ว ด้วยการนำลำต้นมาฝนแล้วใช้ทาแผลสด

ประโยชน์ของเสลดพังพอนตัวเมีย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาปรุงเป็นอาหาร อย่างเมนูแกงแค
2. เป็นผลิตภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรมได้ผลิตครีมจากเสลดพังพอนตัวเมีย สำหรับรักษา บรรเทาโรคเริมและงูสวัด

เสลดพังพอนตัวเมีย ยาสมุนไพรดั้งเดิมที่ส่วนของใบอุดมไปด้วยสรรพคุณ มักจะพบในรูปแบบของอาหารในแกงแค และพบในรูปแบบของครีมที่นิยมนำมาใช้รักษา บรรเทาโรคเริมและงูสวัด เสลดพังพอนตัวเมียมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ถอนพิษภายนอก แก้โรคผิวหนังผื่นคัน รักษาแผลน้ำเหลืองเสีย แก้แผลอักเสบมีไข้ บำรุงกำลัง ดับพิษร้อน และแก้งูสวัดได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พญาปล้องทอง”. หน้า 521-522.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พญาปล้องทอง”. หน้า 88.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เสลดพังพอนตัวเมีย”. หน้า 562.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เสลดพังพอนตัวเมีย (พญาปล้องทอง)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 ก.ย. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “เสลดพังพอนตัวเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [11 ก.ย. 2015].
สารศิลปยาไทย ฉบับที่ ๑๐, สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่). “เสลดพังพอนตัวเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.oocities.org/thaimedicinecm/. [11 ก.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “พญาปล้องทอง, เสลดพังพอนตัวเมีย”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [11 ก.ย. 2015].
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พญาปล้องทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [11 ก.ย. 2015].
สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “พญายอ”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [11 ก.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูป : https://www.technologychaoban.com/
https://pharmacy.su.ac.th/