มะหลอด
ผลสีแดงสะดุดตา ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีส้มแดง รสเปรี้ยวนิยมทานสดเป็นผลไม้ ก่อนนำมารับประทานต้องทำให้นิ่มก่อน

มะหลอด

มะหลอด เป็นพันธุ์ไม้พุ่มสมุนไพรพื้นเมืองของไทยที่พบได้มากในทางภาคเหนือ ตามป่า ตามทุ่งนา หรือตามบ้านเรือนชนบท และสามารถพบได้ตามชายป่าชื้น ป่าเบญจพรรณ และมักจะขึ้นอยู่ตามเนินเขาในที่ร่มที่ความสูงระดับ 200-1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เมื่อสุกผลจะมีสีแดงดูสะดุดตารสเปรี้ยวมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด แก้ไอ แก้หอบหืด ลดไข้ เมล็ดในมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและฆ่าพยาธิ รากมีฤทธิ์ห้ามเลือด แก้ปวด เป็นต้น
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Elaeagnus latifolia L. จัดอยู่ในวงศ์ (ELAEAGNACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มหลอด (ภาคใต้), สลอดเถา หมากหลอด หรือ บะหลอด บ่าหลอด (ภาษาคำเมือง), ควยรอก (ตราด) เป็นต้น

ลักษณะของมะหลอด

  • ต้น เป็นไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นและกิ่งมีเกล็ดสีเทาหรือสีเงินขึ้นปกคลุม
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมหอก ปลายใบแหลม โคนใบเป็นสอบ ขอบใบนั้นจะเรียบ แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวอมน้ำเงินเกลี้ยง ส่วนใบด้านล่างมีเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลขึ้นอยู่ทั่วไป กว้างประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร และก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร
  • ดอก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ มีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศหรือมีดอกเพศเมียปะปนรวมอยู่ด้วย ลักษณะกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายสันเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ที่ปลายนั้นแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่กับหลอดท่อดอก
  • ผล มีลักษณะหลายรูปทรง เช่น ผลรูปรี รูปไข่ รูปกรวย รูปลูกแพร์ และรูปทรงกระบอก ยาวอยู่ที่ประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะโดยรวมจะคล้าย ๆ กับมะเขือเทศราชินี ผิวของเปลือกจะมีความสากเล็กน้อย มีจุดสีขาวสีเงินบนผล ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว ผลเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม สีแดง สีส้มแดง หรือสีเหลือง ผลมีรสชาติที่เปรี้ยว รสชาติที่ฝาดจนถึงรสชาติหวาน นำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ และผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเหลือง ลักษณะเมล็ดหัวท้ายจะแหลมยาวรี ตัวเมล็ดเป็นพู (ร่อง) โดยเมล็ดหนึ่งจะมีอยู่ 8 พู

ผลไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รส โดยทุกรสนั้นจะมีรสชาติฝาดรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้แก่ รสชาติที่เปรี้ยว สีผลจะออกสีส้มใส, รสหวานนั้นจะมีสีที่ค่อนข้างแดงเข้ม หารับประทานได้ยาก, และมะหลอดก๋ำปอ มีรสชาติที่ไม่เปรี้ยวและไม่หวานมาก ก่อนที่จะนำมารับประทานต้องทำให้นิ่มเสียก่อนด้วยวิธีการนวดหรือคลึง เพราะจะสามารถช่วยลดรสชาติความฝาดลงไปได้เยอะเลยทีเดียว แถมยังช่วยให้แยกเมล็ดออกมาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ผลไม้ชนิดนี้บางคนอาจไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะเท่าที่ทราบนั้นก็คือผลไม้ชนิดนี้เป็นผลไม้ของทางภาคเหนือ โดยจะออกดอกออกผลในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อตอนผลสุก ต้นจะดูสวยงามเป็นอย่างมากเพราะจะเต็มไปด้วยผลที่มีสีแดงสด สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว คละเคล้ากันไป เห็นแล้วน่ารับประทานเป็นอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่ผลไม้ชนิดนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายมากนัก ทำให้มีผลผลิตจำหน่ายเข้าสู่ตลาดนั้นมีจำนวนที่น้อยมาก และมักจะพบเห็นวางจำหน่ายตามตลาดในจังหวัดรอบนอกตามแถบชนบทเสียมากกว่า ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักเหมือนผลไม้ชนิดอื่น ๆ และยังไม่มีการส่งเสริมการปลูกอย่างจริงจัง ทำให้ในปัจจุบันนี้ค่อนข้างจะหาได้ยากขึ้นไปทุกที

สรรพคุณของมะหลอด

1. ดอกช่วยบำรุงหัวใจ
2. ใบใช้ช่วยบำรุงเนื้อหนังให้สมบูรณ์
3. ผลและดอกนั้นช่วยคุมธาตุในร่างกาย
4. ดอกช่วยแก้โรคตา
5. ผลมีฤทธิ์ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียนได้
6. ดอกสามารถช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้
7. เถาช่วยแก้ไข้พิษ
8. เปลือกต้นช่วยขับเสมหะ
9. ดอกมีฤทธิ์ใช้แก้ริดสีดวงจมูก
10. ผลดิบและดอกใช้เป็นยาฝาดสมาน
11. รากนำมาผสมกับรากเติ่ง แล้วนำไปแช่เหล้าที่ทำจากข้าวเหนียวตำ ใช้กินแก้อาการปวดกระดูก ปวดหัว หรืออาการเข่าเดินไม่ได้
12. ดอกใช้เข้าเครื่องยา
13. ทั้งต้นนั้นนำไปใช้ต้มน้ำอาบแก้อาการใจสั่นได้ (ทั้งต้น)
14. ผลสุกสามารถใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ ได้
15. ผลสุกใช้ช่วยแก้อาการบิดและอาการท้องผูกในเด็ก (ผลสุก)
16. ตำรับยาพื้นบ้านของชาวล้านนานั้น จะใช้เนื้อในเมล็ดผสมกับเหง้าสับปะรด 7 แว่น กับสารส้มขนาดเท่าหัวแม่มือ นำเอาไปต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้โรคนิ่ว (เนื้อในเมล็ด)

ประโยชน์ของมะหลอด

1. อุดมไปด้วยวิตามินซี จึงช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ
2. ผลดิบสีเขียวนั้น สามารถนำมารับประทานร่วมกับน้ำพริกถั่วเน่าพันด้วยผักกาดและผักชีได้ รับประทานคล้าย ๆ เมี่ยงคำ หรือนำมาทำส้มตำ ทำแกงส้ม เป็นต้น
3. ผลสุกรับประทานเป็นผลไม้ได้ กินคู่กับน้ำพริกหวาน หรือจะนำไปดองกับเกลือก็ได้
4. ผลสุกนำไปแปรรูปเป็นผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม หรือนำไปทำไวน์ เป็นต้น

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

แหล่งอ้างอิง
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์, ทวีทอง หงส์วิวัฒน์), เว็บไซต์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์,เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/photos/
2.https://www.ydhvn.com/
3.https://blogcaycanh.vn/