มะเดื่อปล้อง

มะเดื่อปล้อง

มะเดื่อปล้อง เป็นต้นที่ไม่ค่อยนิยมมากนัก เพราะผลจะมีรสขม และมักจะมีแมลงมาอาศัยอยู่ข้างในผล มีลำต้นเป็นรอยข้อปล้องห่าง ๆ คล้ายรอยควั่นเป็นข้อ ในด้านของยาสมุนไพรนั้นเป็นที่นิยมของชาวปะหล่อง ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ และอยู่ในตำรายาพื้นบ้านล้านนา ส่วนของช่อดอก และผลอ่อนจะนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มกับน้ำพริกได้ เป็นต้นที่คนไทยค่อนข้างรู้จัก และคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยนิยมนำมาทานมากสักเท่าไหร่ และไม่ค่อยมีใครรู้ว่ามีสรรพคุณทางยาได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะเดื่อปล้อง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus hispida L.f.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือ จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสระบุรีเรียกว่า “เดื่อปล้อง” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “เดื่อสาย” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “เดื่อป่อง” ชาวไทใหญ่เรียกว่า “หมากหนอด” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ตะเออน่า เอาแหน่” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “ดิ๊โจ่เหมาะ” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “ฮะกอสะนียา” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ไฮ่มะเดื่อปล้อง” ชาวขมุเรียกว่า “กระซาล” ชาวลัวะเรียกว่า “ลำเดื่อ ลำเดื่อปล้อง” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “งงหยอเจีย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขนุน (MORACEAE)

ลักษณะของมะเดื่อปล้อง

มะเดื่อปล้อง เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางหรือใหญ่ ในประเทศไทยมักจะพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าละเมาะ พื้นราบ ที่ว่างเปล่าทั่วไป และริมลำธาร
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบหนาเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาปนดำ ตามลำต้นมีรอยเป็นข้อปล้องห่าง ๆ คล้ายรอยควั่นเป็นข้อ กิ่งก้านอ้วนสั้น กิ่งอ่อนและลำต้นอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวข้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรียาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบมนมีติ่งแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักถี่ เนื้อใบคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนมีขนสากคายมือ ท้องใบด้านล่างมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ใบแก่มีขนหยาบและบนเส้นใบด้านล่าง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อมะเดื่อ มักจะออกตามลำต้นและกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น เจริญเติบโตอยู่ในฐานรองดอกที่ห่อหุ้มไว้เพื่อที่จะเจริญเติบโตไปเป็นผล มีลักษณะคล้ายผล ภายในกลวง ที่ปลายมีช่องเปิดที่มีใบประดับปิดอยู่ ก้านช่อดอกยาว ดอกอ่อนเป็นสีเขียว ดอกแก่เป็นสีเหลือง ที่โคนมีใบประดับ 3 ใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ภายในมีดอก 3 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกปุ่มหูด ดอกเป็นแบบแยกเพศ แต่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน มักจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นผลแบบมะเดื่อ รูปทรงกลมออกแป้น รูปลูกข่าง แคบที่ฐาน ก้นผลมีรอยบุ๋ม มีเส้นสันประมาณ 7 – 9 เส้น แผ่รอบ ๆ จากยอด มีขนอ่อนนุ่ม มีเกล็ดปกคลุมแบบห่าง ๆ ออกผลติดเป็นกลุ่มแน่นประมาณ 10 – 15 ผล ผิวผลเรียบ มีจุดสีขาวตลอดทั้งผล ผลสดเป็นสีเขียว พอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

สรรพคุณของมะเดื่อปล้อง

  • สรรพคุณจากผล ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง เป็นยาแก้ไข้จับสั่น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ทำให้อาเจียน แก้บิด แก้อาการปวดกระเพาะ รักษาริดสีดวงทวาร รักษาโรคตัวเหลือง เป็นยาฝาดสมาน เป็นยาพอก ใช้ล้างแผล ใช้สมานแผล แก้บวมอักเสบ แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง ช่วยขับน้ำนม
    – แก้ซางปากเปื่อย ด้วยการนำผลผสมกับเหง้าไพลและรากกล้วยตีบ อย่างละ 3 ชิ้น ใส่ถ้วยเติมน้ำ เอาเหล็กเผาไฟให้แดงแล้วจุ่มแช่ลงไป ดื่มน้ำที่ได้เป็นยา
    – แก้อาการท้องร่วง ด้วยการนำไม้ร้อยผลร่วมกับไพล กล้วยดิบที่ฝานเป็นแว่นมาแช่ในน้ำแล้วกิน
  • สรรพคุณจากผลแห้ง เป็นยารักษาแผลในปาก ช่วยทำให้อาเจียน
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาบำรุง แก้มาลาเรีย ทำให้อาเจียน แก้อาการปวดท้องในเด็ก เป็นยาระบาย เป็นยาพอกฝีมะม่วง ช่วยรักษาสิวฝ้า ช่วยรักษากระดูกแตกหัก
    – แก้อาการบวมทั้งตัว ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับกล้วยน้ำว้า เอาผ้าชุบน้ำพันรอบตัว
  • สรรพคุณจากกิ่งกลวง
    – ช่วยทำให้มีความจำดี โดยชาวปะหล่องนำกิ่งที่กลวงมาทำเป็นหลอดดูดน้ำ
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาใส่แผลฝี ยาใส่แผลหนองอักเสบ ยาใส่แผลในจมูก
    – รักษาอาการไข้ หนาวสั่น รักษาอาการไข้หลังการคลอดบุตร แก้ปัสสาวะเหลืองจัดหรือปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – รักษาอาการม้ามโต โดยตำรายาพื้นบ้านล้านนานำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก ลำต้น เหง้า
    – แก้หวัด ด้วยการนำราก ลำต้นและเหง้ามาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – กระตุ้นการหลั่งของน้ำนม โดยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ นำราก ลำต้น และเหง้ามาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากรากและเปลือกต้น เป็นยากล่อมเสมหะ แก้อาการท้องเสีย เป็นยาทาแก้ฝี ยาทาแก้เม็ดผื่นคันตามผิวหนัง กินเป็นยาแก้ประดง กินเป็นยาแก้พิษในกระดูก
  • สรรพคุณจากลำต้น
    – แก้โรคกระดูก ด้วยการนำลำต้นมาตากแห้ง แล้วต้มเอาน้ำดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของมะเดื่อปล้อง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลใช้ทานได้ ผลสุกนำมาทำแยมได้ ใบอ่อนใช้ทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส่วนช่อดอกและผลอ่อนใช้ทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก และนำมาปรุงอาหารจำพวกแกงส้ม ผลดิบใช้ทานกับแกงบอนหรือหลามบอน หรือนำมาหลามกับกระดูกหมู
2. ใช้ในการเกษตร ชาวลัวะนำยอดอ่อนมาต้มเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงหมู
3. ใช้ทำอุปกรณ์ เปลือกต้นใช้ทำเชือกหยาบ เนื้อไม้ใช้สำหรับทำฟืน

มะเดื่อปล้อง มีสรรพคุณเป็นยาเย็นจึงช่วยดับพิษร้อนในร่างกายได้ นอกจากนั้นยังนำผลและส่วนต่าง ๆ มาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายมาก ทั้งการนำมาใช้เป็นผักสดหรือนำมาใส่ในแกง เป็นต้นที่หาได้ไม่ยากนักในประเทศไทย แต่ใครที่ต้องการจะไปเก็บจากต้นก็ควรระวังยางด้วย เพราะจะทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแผลได้ สรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผล มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคกระดูก รักษาอาการม้ามโต แก้ไข้ แก้อาการท้องร่วง รักษาแผล รักษาโรคโลหิตจาง เป็นต้นที่ดีต่อระบบไหลเวียนเลือดและกระดูกเป็นอย่างมาก

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะเดื่อปล้อง (Ma Duea Plong)”. หน้า 220.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “มะเดื่อปล้อง”. หน้า 153.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะเดื่อปล้อง”. หน้า 112.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะเดื่อปล้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 พ.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะเดื่อปล้อง, เดื่อปล้อง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [03 พ.ย. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “มะเดื่อปล้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th. [03 พ.ย. 2014].
ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “พืชมีพิษในประเทศไทย (1)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_display.asp. [03 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://efloraofindia.com/2011/03/01/ficus-hispida/