ผักหนาม

ผักหนาม

ผักหนาม ภาษาอังกฤษ Lasia spinosa จัดเป็นพืชในวงศ์บอนที่มักจะขึ้นในที่ชื้นแฉะและมีน้ำขัง เป็นต้นที่มีหนามแหลมตามเส้นใบด้านล่างและตามก้านใบ ส่วนของยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกอ่อน รสชาติจะจืดจึงนำมาทำผักดอง ให้มีรสเปรี้ยวแล้วนำมาทานเป็นผัก เป็นต้นที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ของโคกระบือและไก่ ซึ่งจะทำให้สัตว์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เหมาะกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เป็นอย่างมากเพราะตัวไก่จะได้อ้วนและมีเนื้อหนัง นอกจากนั้นยังเป็นส่วนประกอบในตำรับยาสมุนไพรอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lasia spinosa (L.) Thwaites
ชื่อท้องถิ่น : ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “กะลี” ชาวขมุและไทลื้อเรียกว่า “บอนหนาม” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ผะตู่โปล่ เฮาะตู่คุ” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อแกงเล่อ” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “บ่อนยิ้ม” ชาวลัวะเรียกว่า “บ่ะหนาม” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “หลั่นฉื่อโก จุยหลักเท้า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บอน (ARACEAE)

ลักษณะของผักหนาม

เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี พบได้ตามแหล่งธรรมชาติทั่วทุกภาคในประเทศไทย มักจะพบตามที่ชื้นแฉะมีน้ำขัง ตามริมน้ำ ริมคูคลอง หนอง บึง ตามร่องน้ำในสวน หรือบริเวณดินโคลนที่มีน้ำขัง
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะเป็นเหง้าแข็งอยู่ใต้ดินทอดเลื้อยขนานกับพื้นดิน ตั้งตรงและโค้งลงเล็กน้อย ชูยอดขึ้น ตามลำต้นมีหนามแหลม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัวลูกศรหรือรูปโล่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบและหยักเว้าลึกเป็น 9 พู รอยเว้ามักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ มีหนามแหลมตามเส้นใบด้านล่างและตามก้านใบ ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม ก้านใบมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวและแข็ง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลด ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแท่งยาวขนานเท่ากับใบ แทงออกมาจากกาบใบ ก้านช่อดอกมีหนาม มีดอกย่อยอัดกันแน่น เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ใบประดับเป็นกาบสีน้ำตาลแกมเขียวจนถึงสีม่วง กาบหุ้มม้วนบิดเป็นเกลียวตามความยาวของกาบ เป็นช่อดอกแบบแท่ง Spadix ช่อดอกเป็นสีน้ำตาล มีดอกเพศผู้จำนวนมากและอยู่ตอนบน ส่วนดอกเพศเมียจะมีจำนวนน้อยกว่าและอยู่ตอนล่าง มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ผลมีลักษณะเรียงชิดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก เป็นผลสด หนาและเหนียว ผลอ่อนเป็นสีเขียวและมีเนื้อนุ่ม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมแดง มักจะออกผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

สรรพคุณของผักหนาม

  • สรรพคุณจากทั้งต้น ตำรายาไทยใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ อินเดียใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้ปวดตามข้อและโรคแก้ผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้
    – บำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย โดยชาวไทใหญ่นำทั้งต้นรวมกับไม้เปาและไม้จะลาย มาต้มอาบและดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากต้น น้ำคั้นจากต้นเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร
  • สรรพคุณจากลำต้น เป็นยาแก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ เป็นยาแก้ไอ แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเหลืองหรือแดง แก้ผิวหนังเน่าเปื่อยเป็นหนอง เป็นยารักษาโรคผิวหนัง
    – แก้อาการคันเนื่องจากพิษหัด แก้เหือด แก้ไข้ออกผื่น แก้สุกใส แก้ดำแดง ทำให้ผื่นหายเร็ว เป็นยาถอนพิษ ด้วยการนำลำต้นมาต้มเอาน้ำอาบ
    – แก้ผิวหนังเน่าเปื่อยเรื้อรัง แก้เท้าเน่าเปื่อย แก้ศีรษะเน่าเปื่อยเป็นแผลเรื้อรัง ด้วยการนำลำต้นมาต้มเอาน้ำชะล้างหรือบดให้เป็นผงแล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ
  • สรรพคุณจากเหง้า เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ
    – แก้คันเนื่องจากพิษหัด แก้เหือด แก้สุกใส แก้ดำแดง รักษาโรคผิวหนัง ด้วยการนำเหง้ามาต้มกับน้ำอาบ
    – เป็นยาถ่ายพยาธิ ด้วยการนำเหง้ามาฝนกับน้ำกิน
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาขับเสมหะ
    – แก้เจ็บคอ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา หรือนำรากต้มกับน้ำให้เด็กแรกเกิดอาบ
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับเสมหะ เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้ไอ

ผักหนาม ประโยชน์

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกอ่อนมีรสจืดจึงนำมาดองจะมีรสเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ โดยนำมาลวกหรือต้มกับกะทิ หรือใช้ทำผักดองแกล้มแกงไตปลาและขนมจีน ทานร่วมกับน้ำพริก นำไปผัด ปรุงเป็นแกง ก้านใบอ่อนใช้ต้มกินกับน้ำพริก ชาวอินเดียนำผลมาปรุงเป็นอาหาร ลำต้นนำมาสับเป็นชิ้นเล็กใช้ผสมในข้าวสารแล้วนำไปหุง
2. ใช้ในด้านการเกษตร ก้านและใบใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโคกระบือด้วยการนำมาตำกับเกลือให้โคกระบือกิน ทำให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ เพราะมีฮอร์โมนบางชนิดในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ไก่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของผักหนาม

คุณค่าทางโภชนาการใน 100 กรัม ให้พลังงาน 18 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
โปรตีน 2.1 กรัม
ไขมัน 0.2 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 2.0 กรัม 
ใยอาหาร 0.8 กรัม 
เถ้า 0.8 กรัม 
วิตามินเอ 6,383 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.92 มิลลิกรัม 
วิตามินบี2 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.91 มิลลิกรัม
วิตามินซี 23 มิลลิกรัม
แคลเซียม 14 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.9 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม

ข้อควรระวัง

ก่อนนำมารับประทานจะต้องนำไปทำให้สุกหรือดองเปรี้ยวเพื่อกำจัดพิษไซยาไนด์เสียก่อน เพราะส่วนของใบ ก้านใบ และต้นมีสารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ (Cyanogenic. Glycosides) ซึ่งเป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนของเลือด เมื่อได้รับพิษหรือรับประทานดิบจะทำให้อาเจียน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก มึนงง ไม่รู้ตัว ชักก่อนจะหมดสติ มีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว ถ้าได้รับมากจะทำให้โคม่าภายใน 10 – 15 นาที และเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อได้รับพิษจะต้องทำให้อาเจียนออกมาก่อน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง

ผักหนาม เป็นต้นที่มีสรรพคุณและมีพิษอยู่ในตัว ก่อนที่จะนำมาใช้ไม่ว่าจะรูปแบบใดควรนำมาต้มให้สุกก่อน เป็นต้นที่นิยมนำมาดองเปรี้ยวในการทานร่วมกับอาหารชนิดอื่น นอกจากนั้นยังเป็นอาหารที่ดีต่อโคกระบือและไก่อีกด้วย มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของลำต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงกำลัง แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอและแก้โรคผิวหนังได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [29 ก.ย. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [29 ก.ย. 2015].
คมชัดลึกออนไลน์. “ใช้ผักหนามเลี้ยงไก่”. (พีรเดช ทองอำไพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [29 ก.ย. 2015].
ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm. [29 ก.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ผักหนาม” อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [29 ก.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ สำหรับประชาชน, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th/ProjectSite/webpage/detail-project.htm. [29 ก.ย. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [29 ก.ย. 2015].
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “เดินป่า ศึกษาสมุนไพร แก่งยาว ๕๘ – ๒ (๕. ผักหนาม)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [29 ก.ย. 2015].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 17 คอลัมน์ : อื่น ๆ. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “หนาดใหญ่และผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [29 ก.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/