มะขวิด
ผลแห้ง เปลือกภายนอกแข็งเป็นกะลาสีเทาอมขาว รสชาติที่หวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นที่หอม แต่มียางเหนียว

มะขวิด

เป็นพรรณไม้ผลกลมสีเทาอมเขียวที่มีความทนต่อสภาพอากาศร้อนแล้งต่าง ๆ ได้ดี ชอบขึ้นในเขตมรสุมหรือในเขตร้อนที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งเป็นบางช่วงมีต้นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย พม่า ศรีลังกา และอินโดจีน ปลูกทั่วไปในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านและสวน แล้วแพร่กระจายไปตามธรรมชาติ ในประเทศมาเลเซียและเกาะชวากับเกาะบาลี อินโดนีเซีย และได้มีการนำไปปลูกในแถบแคลิฟอร์เนียและฟลอริดา ภาษาอังกฤษ Limonia, Curd fruit, Elephant apple, Gelingga, kavath, Monkey fruit, Wood apple ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Feronia limonia (L.) Swingle และมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Limonia pinnatifolia Houtt.) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Limonia acidissima Groff ซึ่งมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Schinus limonia L. จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย AURANTIOIDEAE มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะฝิด (ภาคเหนือ), บักฝิด , หมากฝิด(ภาคอีสาน) เป็นต้น

ลักษณะของมะขวิด

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เซนติเมตร เป็นไม้ที่ผลัดใบแต่ผลิใบได้ไว รูปทรงของต้นมีความสวยงาม ลักษณะเป็นทรงเรือนยอดพุ่มกลม เปลือกลำต้นภายนอกนั้นเป็นสีเทา ส่วนภายในนั้นเป็นสีขาว
  • ใบ ออกใบเป็นช่อแบบข้อต่อเรียงสลับกันหรือติดกันเป็นกระจุกในบริเวณปุ่มตามกิ่งต่าง ๆ ช่อใบมีขนาดยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ในแต่ละช่อนี้จะมี 1-4 ปล้อง หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนาและเกลี้ยง แต่ตรงท้องใบจะมีสีที่จางกว่า เมื่อนำใบมาส่องผ่านแสงจะสามารถเห็นเป็นต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป มีลักษณะเป็นรูปรี ๆ ใส ๆ อย่างมากมาย ส่วนที่ขอบใบนั้นมีผิวเรียบ ก้านใบย่อยจะมีความยาวที่สั้นมาก แต่ก้านช่อใบนั้นจะยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร[1]
  • ดอกออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ดอกมีขนาดที่เล็กเป็นสีขาวอมสีแดงคล้ำ ๆ ในแต่ละช่อดอกนั้นจะมีทั้งดอกเพศผู้และดอกรวมเพศ[1]
  • ผล หรือ ลูก มีลักษณะกลม เป็นผลแห้ง เปลือกภายนอกมีผิวที่แข็งเป็นกะลา มีสีเทาอมขาวหรือผิวลักษณะเป็นขุยสีขาวปนสีชมพู ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 8-10 เซนติเมตร ผลมีเนื้อค่อนข้างมาก เนื้อในของผลนั้นอ่อนนิ่ม ตอนเมื่อผลสุกแล้วเนื้อเยื่อจะเป็นสีดำ สามารถนำมารับประทานได้ โดยจะมีรสชาติที่หวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นที่หอม แต่มียางที่เหนียว ผลนั้นมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก มีเมือกห่อหุ้มเมล็ด เมล็ดมีขนาดยาวประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร เปลือกมีผิวหนาและมีขนขึ้นปกคลุม สามารถที่จะนำมาเคี้ยวรับประทานได้เช่นกัน[1],[4]

สรรพคุณของมะขวิด

1. ผลนำมาทำเป็นยาบำรุงทำให้เกิดความสดชื่น (ผล)[1]
2. ผลดิบเอามาหั่นให้บางแล้วนำไปตากให้แห้ง ใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ผล)[5]
3. ยางมีฤทธิ์ช่วยเจริญธาตุไฟในร่างกาย (ยาง)[1]
4. ผลสามารถช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิดได้[1] โดยการนำผลดิบมาหั่นให้บางแล้วตากให้แห้ง จากนั้นนำมาใช้ชงกับน้ำไว้ดื่ม (ผล)[5]
5. ผลช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผล)[1]
6. ราก เปลือก และดอกมีฤทธิ์แก้ลงท้อง (ราก, เปลือก, ดอก)[1]
7. ใบมีฤทธิ์แก้อาการท้องร่วง (ใบ)[1] และยางจากลำต้นเป็นสีจำพวกแทนนิน มีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคท้องร่วงได้เช่นกัน (ยางจากลำต้น)[5]
8. ใบมีฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย (ใบ)[2],[6] ส่วนผลและยางนั้นมีฤทธิ์ช่วยบำบัดโรคท้องเสียได้ (ผล, ยาง)[1],[5]
9. ผลมีฤทธิ์รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร (ผล)[1],[5]
10. ใบนำมาใช้ขับลมในกระเพาะ [1]
11. ราก เปลือก ใบ ดอก และผลมีฤทธิ์ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ราก, เปลือก, ใบ, ดอก, ผล)[1]
12. ราก เปลือก ใบ และดอกมีฤทธิ์แก้อาการตกโลหิต (ราก, เปลือก, ใบ, ดอก) ในส่วนของใบนั้นสามารถใช้ห้ามโลหิตระดูของสตรีได้ (ใบ)[1],[4],[6]
13. ราก เปลือก ใบ ดอก และผล สามารถใช้ช่วยแก้ฝีเปื่อยพังได้[1]
14. ใบ นำมาใช้เป็นยาฝาดสมาน (ใบ) ช่วยในการสมานบาดแผลได้ (ยาง)[1],[5]
15. ยางจากลำต้นสามารถนำมาใช้ช่วยห้ามเลือดได้ (ยางจากลำต้น)[5]
16. ราก เปลือก ดอก และผลมีฤทธิ์ช่วยแก้บวม [1]
17. ใบนำมาตำใช้พอกหรือทาแก้อาการฟกบวม ปวดบวม ช่วยในการรักษาฝี และโรคผิวหนังบางชนิดได้  [1],[4],[6]
18. สารสกัดจากใบนั้นยังสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรคในหลอดทดลองได้ด้วย (ใบ)[6]

ประโยชน์ของมะขวิด

1. ต้นปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์ให้เกิดความสวยงาม เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่สวนสาธารณะ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม สามารถเจริญเติบโตได้เร็วและมีความแข็งแรง[7]
2. ผลนำมารับประทานสดได้ และยังสามารถนำไปทำเป็นน้ำผลไม้และแยมได้อีกด้วย[2]
3. ผลนำมาใช้เป็นอาหารของนกได้[7]
4. เมล็ดสามารถนำมาเคี้ยวรับประทานได้ มีรสชาติที่อร่อยใช้ได้เลยทีเดียว[1]
5. ยางของผลมีความเหนียว ที่สามารถนำมาใช้เป็นกาวเพื่อใช้ติดหรือเชื่อมต่อสิ่งของต่าง ๆ ได้[1],[2]
6. เนื้อไม้ของต้นเป็นเนื้อไม้ที่มีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ในงานช่างได้[2]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1.มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยมะขวิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th. [17 ต.ค. 2013].
2.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Limonia_acidissima. [17 ต.ค. 2013].
3.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [17 ต.ค. 2013].
4.หนังสือไม้เทศเมืองไทย. (เสงี่ยม พงษ์บุญรอด). หน้า 406. กรุงเทพฯ. 2522.
5.ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ต้นมะขวิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [17 ต.ค. 2013].
6.อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ต้นมะขวิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [17 ต.ค. 2013].
7.สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม. แนะนำพันธุ์ไม้สวนสาธารณะกรุงเทพมหานคร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: minpininteraction.com. [17 ต.ค. 2013].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://ilikadirect.in/?product=limonia-feronia
2.https://indiabiodiversity.org/species/show/31505