นมแมวป่า
ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ผลออกเป็นกลุ่ม ผลสดเป็นสีเขียว มีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ผลสุกสีแดง มีรสหวาน

นมแมวป่า

นมแมวป่า เป็นไม้เถาลักษณะใบหนาทรงพุ่มสมุนไพรไทยชนิดนี้เป็นมากกว่าพืชทั่วไป แต่ยังมีสรรพคุณและประโยชน์ผลสุกมีรสหวานรับประทานได้และใช้รักษา ได้แก่ รากใช้ต้มดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต และยังมีฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็ง สมุนไพรไทยชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบได้ในเขตภูมิภาคอินโดจีนรวมถึงในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 150-400 เมตร มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ Ellipeiopsis cherrevensis (Pierre ex Finet & Gagnep.) R.E.Fr. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ : ตุ้มทอง พี้เขา พีพวนน้อย (นครพนม) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของนมแมวป่า

  • ต้น เป็นไม้เถา มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตร และสูงเพิ่มได้ถึง 3 เมตร แตกกิ่งก้านใกล้กับพื้นดิน เปลือกลำต้นผิวเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้ม ตามกิ่งก้านกับยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบมนเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร เนื้อใบหนา หลังใบและท้องใบมีขนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4]
  • ดอก ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 1-3 ดอก ใต้ใบบริเวณใกล้กับปลายยอด ก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกหนามีทั้งสิ้น 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกมีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นใน ปลายกลีบดอกแหลมและสั้นหรือมน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปไข่และมีขนขึ้นปกคลุม ดอกเกสรเพศผู้มีจำนวนมากเป็นสีส้มล้อมรอบเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลับ คาร์เพลมีจำนวนมากเรียงอยู่บนฐานดอกแยกกัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3],[4]
  • ผล ออกเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 8-12 ผล ลักษณะผลเป็นรูปกลมรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีผิวเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียว มีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม พอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง มีรสหวาน เมล็ดมีลักษณะกลม[1],[2],[3],[4]

สรรพคุณของนมแมวป่า

1. นำรากผสมกับรากหญ้าคา เหง้าเอื้องหมายนา และลำต้นของอ้อยแดง เอามาต้มกับน้ำให้สตรีที่ผอมแห้งแรงน้อยดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต กินอาหารไม่ได้ และอาการปัสสาวะขุ่นข้น (ราก)[2],[5]
2. รากต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคไตพิการ (ราก)[1]
3. รากนำมาต้มใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้เล็ก และส่วนรากมีสาร alcaloid ที่มีฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็ง (ราก)[3]
4. ยายหมื่น ดวงอุปะ ให้ข้อมูลว่า ยาตัวนี้ทำให้ผัวเมียรักกัน ด้วยการนำรากมาดองกับเหล้ากินจะทำให้ผัวเมียรักกัน รวมทั้งใช้เคี่ยวกับน้ำมันและสีผึ้ง ใช้นวดริมฝีปากเป็นการนวดเสน่ห์ (ราก)[5]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “นม แมวป่า (Nom Maeo Pa)”. หน้า 152.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “นม แมวป่า”. หน้า 125.
3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “นมแมวป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [02 ธ.ค. 2014].
4. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “นม แมวป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [02 ธ.ค. 2014].
5. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “ตีนตั่งเตี้ย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [02 ธ.ค. 2014].