เหรียง
เหรียง (Nitta tree) เป็นผักพื้นบ้านของทางภาคใต้ที่มีลักษณะคล้ายสะตอและมีกลิ่นฉุน สามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพที่ไม่เหมาะสม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีประโยชน์ในด้านเกษตรและนำมารับประทานได้ คนเมืองสมัยใหม่ไม่ค่อยรู้จักหรือนิยมนำมารับประทานนัก เหรียงยังเป็นต้นที่สามารถนำเมล็ดมาเพาะได้ง่ายด้วยตัวเองและเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่งของคนเมืองใต้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเหรียง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parkia timoriana (DC.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Nitta tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคใต้เรียกว่า “กะเหรี่ยง เรียง สะเหรี่ยง สะตือ” ภาคใต้และมาเลย์เรียกว่า “นะกิง นะริง” มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “เรียง เหรียง เมล็ดเหรียง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Parkia javanica auct., Parkia roxburghii G.Don
ลักษณะของต้นเหรียง
ต้นเหรียง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีการกระจายพันธุ์ในหมู่เกาะติมอร์และในแถบเอเชียเขตร้อน ในประเทศไทยนั้นจะพบขึ้นได้ทั่วไปทางภาคใต้ มักจะขึ้นตามป่าดิบชื้นทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นเป็นเปลาตรง พุ่มใบของต้นเป็นพุ่มกลมเป็นสีเขียวทึบ มีเนื้อไม้สีขาวนวล ไม่มีแก่น เสี้ยนตรงสม่ำเสมอ มีความอ่อนและเปราะ
เปลือกต้น : เปลือกต้นเรียบ กิ่งก้านของต้นมีขนปกคลุมขึ้นประปราย
ใบ : เป็นใบแบบช่อ ใบแคบปลายแหลม ใบแก่มีสีเหลืองร่วงเกือบหมดต้นและจะผลิใบใหม่แทน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกลมที่ปลายยอด ก้านดอกยาวสีเขียวสลับน้ำตาล ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
ผล : ผลเป็นฝัก ฝักตรงคล้ายสะตอ เมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแข็งและมีสีดำ มักจะออกผลหรือฝักในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ฝักจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
เมล็ด : แต่ละฝักจะมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ หนึ่งฝักมีเมล็ดประมาณ 20 เมล็ด ตัวเมล็ดจะไม่นูนอย่างชัดเจน เปลือกเมล็ดหนามีสีดำหรือสีคล้ำ ส่วนเนื้อในเมล็ดมีสีเขียวเข้มและมีกลิ่นฉุน
ลูกหรือหน่อ : ลักษณะคล้ายกับถั่วงอกหัวโตแต่มีขนาดใหญ่กว่าและมีสีเขียว มีรสมันและกลิ่นฉุน เกิดจากการนำเมล็ดเหรียงของฝักแก่ไปเพาะในกระบะทรายเพื่อให้เมล็ดงอกรากและมีใบเลี้ยงโผล่ขึ้นมาเหมือนกับถั่วงอก สามารถรับประทานได้
การเพาะลูกเหรียง
1. ตัดเมล็ดเป็นรอยเพื่อให้แตกหน่อออกมาได้ โดยตัดปลายด้านที่มีสีน้ำตาลและเป็นรอยบุ๋ม จากนั้นนำไปแช่น้ำ 1 คืน
2. แช่เสร็จให้นำเมล็ดขึ้นมาล้างเมือกที่ติดอยู่ให้หมดโดยใช้มือถูเมล็ดไปมาในน้ำประมาณ 2 ครั้ง
3. ทำการเตรียมตะกร้าพลาสติกโปร่ง โดยการนำผ้าขนหนูหรือผ้าหนา ๆ มาชุบน้ำให้เปียกแล้ววางรองในตะกร้าที่เตรียมไว้ จากนั้นนำเมล็ดที่ล้างเสร็จโรยลงไปบนผ้าเปียก อย่าให้เมล็ดซ้อนกันเพราะอาจทำให้เน่าเสียหายได้ง่าย แล้วนำผ้าเปียกอีกผืนนำมาปิดไว้
4. ทำการรดน้ำเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน
5. วันถัดมาให้นำเมล็ดมาแกะเอาเปลือกออก จากนั้นล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปเพาะในกระบะทราย
สรรพคุณของเหรียง
- สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยบำรุงร่างกาย ทำให้เจริญอาหาร เป็นยาแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ขับลมในลำไส้
- สรรพคุณจากลูกเหรียง บำรุงเหงือกและฟันให้แข็งแรง
- สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาสมานแผล ช่วยลดน้ำเหลือง
ประโยชน์ของต้นเหรียง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำมารับประทานเป็นผักสดโดยจิ้มกับน้ำพริก นำมาทำเป็นผักดอง นำมาปรุงอาหารในแกงต่าง ๆ หรือนำมาผัดได้
2. ใช้ในการเกษตร นิยมนำต้นเหรียงมาใช้เป็นต้นตอในการติดตาพันธุ์สะตอ ช่วยบำรุงดิน นำใบเหรียงมาปลูกควบคู่กับพืชอื่นอย่างการปลูกกาแฟจะทำให้ผลผลิตของกาแฟสูงขึ้นติดต่อกัน
3. ใช้ในอุตสาหกรรม ทำเป็นโครงร่างของการผลิตต่าง ๆ เช่น การทำรองเท้าไม้ หีบใส่ของ ไม้หนาประกบพวกเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ หรือเครื่องใช้สอยอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของเหรียง
คุณค่าทางโภชนาการของเหรียงในส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 88 แคลอรี
สารอาหาร | สารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 6.7 กรัม |
โปรตีน | 7.5 กรัม |
ไขมัน | 3.5 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 1.3 กรัม |
น้ำ | 79.6 กรัม |
วิตามินเอ | 22 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.06 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.62 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.1 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 83 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 182 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 2.0 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 3.8 มิลลิกรัม |
เหรียง เป็นผักที่มีลักษณะเด่นแต่มีหน่อคล้ายสะตอ สามารถนำมาเพาะได้ง่ายและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อร่างกาย เป็นไม้ยืนต้นที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และมีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ขับลมในลำไส้ เป็นยาสมานแผล บำรุงเหงือกและฟัน เป็นผักที่มีกลิ่นแรงแต่สามารถทานเพื่อบำรุงร่างกายได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เหรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [25 พ.ย. 2013].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย. นวัตกรรมการบริหารงานวิจัย การสร้างขุมความรู้เพื่อรองรับการวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “เหรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th. [25 พ.ย. 2013].
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนครศรีธรรมราช. “ลูกเหรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skns.ac.th. [25 พ.ย. 2013].