ชะอม บำรุงเส้นเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ และช่วยให้ขับถ่ายคล่อง
ชะอม ผักที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารหลากหลาย ใบคล้ายกระถิน มีกลิ่นฉุน ลำต้นและกิ่งก้านจะมีหนามแหลม

ชะอม

ชะอม (Climbing wattle) เป็น ผักที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร โดยเฉพาะเมนู “ไข่ชะอมทอด” ที่มักจะรับประทานกับน้ำพริกกะปิ เป็นผักที่รสชาติอร่อยเมื่อนำมารวมกับส่วนผสมอื่น ๆ สามารถหาซื้อได้ง่ายมากและมีราคาไม่แพง อีกทั้งยังปลูกได้ด้วยตัวเอง ชะอมก็เป็นผักชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่แพ้ผักชนิดอื่น แต่ชะอมเป็นผักที่ต้องระมัดระวังในการรับประทานเข้าร่างกาย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชะอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia pennata (L.) Willd.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 3 ชื่อ คือ “Climbing wattle” “Acacia” และ “Cha – om”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักหละ” ภาคใต้เรียกว่า “อม” ภาคอีสานและจังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “ผักขา” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “พูซูเด๊าะ” ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “โพซุยโดะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของชะอม

ชะอม เป็นไม้พุ่มที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมรับประทานในทุกภาคของไทย ลำต้นและกิ่งก้านจะมีหนามแหลม
ใบ : ใบชะอมเป็นใบประกอบสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบย่อยแตกออกจากแกนกลางใบ มีลักษณะคล้ายกับใบส้มป่อยหรือใบกระถิน ใบอ่อนจะมีกลิ่นฉุน ใบย่อยมีขนาดเล็กออกตรงข้ามกัน ลักษณะคล้ายรูปรี ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบย่อยจะหุบในเวลาเย็นและแผ่ออกเพื่อรับแสงในช่วงกลางวัน
ดอก : ดอกชะอมมีขนาดเล็ก ออกตามซอกใบและมีสีขาว

วิธีการปลูกชะอม สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปักชำ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือการโน้มกิ่งลงดิน วิธียอดนิยมเลยก็คือ “การเพาะเมล็ด”

ขั้นตอนการเพาะเมล็ด

1. นำเมล็ดชะอมมาใส่ถุงพลาสติก แล้วรดน้ำวันละครั้ง
2. เมื่อเมล็ดงอกให้ทำการย้ายลงดิน โดยปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร
3. ทำการเก็บยอดชะอม แต่ให้เหลือยอดไว้ 3 – 4 ยอด เพื่อให้ต้นได้โตต่อไป

คำแนะนำในการปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ด

1. ใช้ปุ๋ยสดหรือมูลสัตว์ในการบำรุงต้น
2. ไม่ควรปลูกฤดูฝนเพราะเมล็ดชะอมมีโอกาสเน่าได้สูง หากปลูกในฤดูร้อนแล้วหมั่นรดน้ำจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า
3. หากมีแมลงให้ใช้ปูนขาวโรยไว้รอบโคนต้น แต่ถ้ามีหนอนกินยอดชะอมก็ให้ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดทุก ๆ 8 วัน
4. การเก็บยอดชะอม ควรเก็บให้เหลือยอดไว้ 3 – 4 ยอด เพื่อให้ต้นได้โตต่อไป และเพื่อความปลอดภัยควรเก็บหลังจากการฉีดยาฆ่าแมลงแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน

สรรพคุณของชะอม

  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ลดความร้อนในร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก รากช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และช่วยขับลมในลำไส้
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ แก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง
  • สรรพคุณด้านกล้ามเนื้อ บำรุงเส้นเอ็น
  • สรรพคุณด้านความงาม
    – ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสียและแตกปลาย ด้วยการนำใบชะอมประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำเปล่า 3 ถ้วย จนได้น้ำชะอมเข้มข้นแล้วกรองเอาแต่น้ำ เมื่อสระผมเสร็จให้นำผ้าขนหนูมาชุบน้ำชะอมที่เตรียมไว้ บิดพอหมาด นำมาเช็ดผมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นให้ล้างออก

ประโยชน์ของชะอม

เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเมนูอย่าง ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง หรือนำมาลวกนึ่งใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกกะปิ สามารถนำมารับประทานร่วมกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือจะนำไปปรุงเป็นแกงลาว แกงแค ก็ได้เช่นกัน

คุณค่าทางโภชนาการของยอดชะอม

คุณค่าทางโภชนาการของยอดชะอม 100 กรัม ให้พลังงาน 57 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
เส้นใยอาหาร 5.7 กรัม
แคลเซียม 58 มิลลิกรัม 
ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม
เหล็ก 4.1 มิลลิกรัม 
วิตามินเอ 10066 IU
วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.25 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.5 มิลลิกรัม
วิตามินซี 58 มิลลิกรัม

โทษของชะอม

1. ควรรับประทานชะอมในหน้าร้อน เพราะชะอมจะมีรสชาติดีกว่าหน้าฝนที่มีรสเปรี้ยวและกลิ่นแรง ซึ่งอาจจะทำให้ปวดท้องได้
2. คุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่หลังคลอด อาจแพ้กลิ่นแรงของชะอม ทำให้มีอาการแพ้ท้องหรือรู้สึกพะอืดพะอม ไม่สบายได้มากขึ้น คุณแม่หลังคลอดไม่ควรรับประทานผักชะอมเพราะจะทำให้น้ำนมแม่แห้งได้
3. คนที่เป็นโรคเกาต์ควรงดการทานชะอมเพราะในชะอมมีพิวลีนสูง ซึ่งพิวลีนจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริก เป็นสาเหตุที่ทำให้ข้ออักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเกาต์มีอาการกำเริบมากยิ่งขึ้น
4. ควรล้างผักให้สะอาดหรือนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน เพราะชะอมอาจจะปนเปื้อนเชื้อก่อโรคอย่างซาลโมเนลลา (Salmonella) อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำสีเขียว หรือถ่ายเป็นมูกเลือด และมีไข้ได้

ชะอม เป็นผักที่ค่อนข้างมีกลิ่นแรง สำหรับผู้ที่อ่อนไหวต่อกลิ่นหรือคนที่ไม่สามารถรับประทานอาหารกลิ่นแรงได้อาจจะไม่ชอบใจนัก แต่ชะอมเป็นผักที่มีวิตามินเอสูง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงเส้นเอ็น ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง และเป็นยาอายุวัฒนะได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม