ผักเป็ดขาว
ผักเป็ด เป็นผักที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก เป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุราว 1 ปีส่วนในประเทศไทยมักจะพบมากในภาคกลาง ซึ่งในบ้านเรามีอยู่สองแบบ คือ ชนิดใบกลมและใบแหลม มักจะพบได้ตามที่รกร้างทั่วไปหรือตามที่ชื้นข้างทาง ทั้งต้นมีรสเอียน ชุ่ม และขมเล็กน้อย เป็นยาเย็นที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและลำไส้เล็กได้ เป็นยาของชาวอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย มาเลเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเกาะมาดากัสการ์ ทางแพทย์แผนโบราณมักจะนิยมเก็บยอดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และเลือกเก็บเฉพาะต้นที่ดอกยังไม่แก่ เพราะดอกแก่จะมีสารอาหารในต้นและใบน้อย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alternanthera sessilis (L.) R.Br. ex DC. หรือ Alternanthera paronychioides A.St.-Hil.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sessile joyweed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักเป็ดแดง ผักเป็ดขาว” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักเปี๋ยวแดง” คนไทยเรียกว่า “ผักเป็ด ผักเป็ดไทย” ชาวลัวะเรียกว่า “ผักหอม บะอุ่ม บ่ะดิเยี่ยน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)
ลักษณะของผักเป็ด
ลำต้น : มีลำต้นตั้งตรงหรืออาจเลื้อย ตามข้อของลำต้นจะมีราก ระหว่างข้อต่อมีร่องและมีขนปกคลุมเล็กน้อย ลำต้นมีทั้งสีแดงและสีขาวอมเขียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน โดยจะออกตามข้อของต้น ลักษณะของใบและขนาดของใบจะมีรูปร่างไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพดินด้วย โดยจะมีทั้งใบแคบ ยาว เรียวแหลม ปลายแหลม ปลายมน หรือเป็นรูปไข่กลับ ขอบใบเรียบหรือเป็นหยักเล็กน้อย หากดินที่ปลูกมีความแห้งแล้งใบจะมีขนาดเล็ก หากดินแฉะหน่อยขนาดของใบจะใหญ่สมบูรณ์ แผ่นใบจะเป็นสีเขียว ไม่มีก้านใบหรือมีแต่จะขนาดสั้นมาก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกลมตามง่ามใบ ช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 1 – 4 ดอก ไม่มีก้านดอก แต่เมื่อดอกร่วงโรยไปแล้วจะดูเหมือนกับว่ามีก้านดอก เป็นสีม่วงแดงหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 3 ก้านและเกสรเพศเมีย 1 ก้าน ในแต่ละกลีบดอกจะมีใบเป็นเยื่อบางสีขาว 2 อัน
ผล : พบอยู่ในดอก ลักษณะของผลเป็นรูปไตหรือรูปหัวใจกลับ มีขนาดเล็กมาก ผลจะร่วงโรยไปพร้อมกับกลีบดอก
สรรพคุณของผักเป็ด
- สรรพคุณจากทั้งต้น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและลำไส้เล็ก เป็นยาฟอกเลือด บำรุงเลือด ขับพิษเลือด ดับพิษเลือด ทำให้เลือดเย็น แก้เลือดกำเดา
- สรรพคุณจากราก เป็นยาฟอกเลือด เป็นยาระบายอ่อน ๆ เป็นยาฟอกโลหิตประจำเดือน บำรุงโลหิตของสตรี แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ
- สรรพคุณจากต้นและใบ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน ช่วยทำให้ไขมันไม่อุดตันในเส้นเลือด ช่วยขับเมือกที่อยู่ในลำไส้ออกมาทางอุจจาระ ใช้ในการอยู่ไฟของสตรีเพิ่งคลอดเพื่อช่วยให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น ช่วยแก้อาการฟกช้ำหรือช้ำใน
– แก้พิษงู แก้แมลงกัดต่อย ด้วยการนำต้นสด 100 กรัม มาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย แล้วคั้นเอาน้ำทาน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกที่บาดแผล - สรรพคุณจากต้น เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ทำให้เลือดเย็น ห้ามเลือด แก้เส้นเลือดอุดตัน ชาวอินโดนีเซียและศรีลังกาใช้เป็นยาลดไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยแก้อาการไอหรืออาเจียนเป็นเลือด แก้อาการเจ็บคอ ช่วยแก้ต่อมเต้านมอักเสบ อินโดนีเซียใช้ต้นเป็นยาแก้ท้องร่วงและแก้บิด รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ เป็นยาระบายอ่อน ๆ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้ท่อปัสสาวะอักเสบ เป็นยาแก้ประจำเดือนพิการอย่างเป็นลิ่มและเป็นก้อนดำเหม็น ช่วยแก้อาการบวมน้ำ อินเดียใช้ต้นเป็นยากระตุ้นการไหลของน้ำดี เป็นยาพอกรักษาแผล ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยบั้นเอวและท้องน้อย
– แก้ถ่ายเป็นเลือด ด้วยการนำต้นสดผสมกับจุ่ยหงู่ชิก เหลาะตี้จินเซียน อย่างละ 60 กรัม แล้วตุ๋นรวมกันกับเนื้อหมู
– แก้พิษฝี มีหนอง แก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำต้นสดมาตำพอกหรือต้มเอาน้ำใช้ชะล้างเป็นยา
– ประเทศอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเกาะมาดากัสการ์นำต้นเป็นยาขับน้ำนมของสตรี
ประโยชน์ของผักเป็ด
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ประเทศศรีลังกา มาเลเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเกาะมาดากัสการ์ ใช้รับประทานเป็นผัก ประเทศไทยนำยอดอ่อนมาใช้เป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกปลาร้า หรืออาจนำไปชุบแป้งทอดให้สุกก่อนนำมาจิ้มน้ำพริกกิน ชาวลัวะนำทั้งต้นมานึ่งทานกับน้ำพริก
2. เป็นยาบำรุง ประเทศศรีลังกาใช้ต้นเป็นอาหารบำรุงของสตรีแม่ลูกอ่อน
3. ใช้ในการเกษตร นำมาใช้เป็นอาหารของสัตว์ได้ดี หรือนำมาผสมเป็นอาหารปลา
4. เป็นไม้ปลูกประดับ เป็นพืชน้ำประดับตู้ปลา
ผักเป็ด เป็นผักที่อยู่ในตำรายามาตั้งแต่อดีต เป็นที่นิยมในหลายประเทศในการเป็นยาและเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกทาน นอกจากนั้นยังเป็นไม้ประดับตู้ปลาได้ด้วย มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาขับน้ำนมของสตรี แก้เส้นเลือดอุดตัน เป็นยาฟอกเลือด บำรุงเลือด ขับพิษเลือด ดับพิษเลือด ทำให้เลือดเย็น ดีอย่างมากต่อระบบเลือดในร่างกายมนุษย์ และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือด
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ผักเป็ด”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 503-504.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ผักเป็ดขาว”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 352.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 248 คอลัมน์: พืช-ผัก-ผลไม้. “ผักเป็ด : ผักสามัญที่ไม่ไร้ความสำคัญ”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [27 เม.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Sessile joyweed”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [27 เม.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักเป็ด”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [27 เม.ย. 2014].
รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง ช่องไทยพีบีเอส วันที่ 15 ก.ค. 2012. “ผักเป็ด”.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/