ไข่เน่า
ไข่เน่า เมื่อสุกผลจะเปลี่ยนเป็นสีดำมีสรรพคุณทางตำหรับสมุนไพรใช้ในยาแผนโบราณเพื่อรักษาโรคต่างๆ เช่น รากใช้แก้ท้องร่วง เจริญอาหาร ขับพยาธิแก้บิด บำรุงธาตุ บำรุงสมอง บรรเทาอาการปวดหัว เป็นลดไข้ และปวดประจำเดือน รวมถึงสารสกัดยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบและต้านมะเร็ง
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Vitex glabrata R.Br. จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE) ชื่อพื้นเมือง : ไข่เน่า Khai nao, คมขวาน Khom khwan, ฝรั่งโคก Farang khok (ภาคกลาง), ขี้เห็น Khi hen (เลย, อุบลราชธานี), ปลู Khmer-Surin (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น
ลักษณะของไข่เน่า
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 10-25 เมตร ผิวลำต้นนั้นเกลี้ยงมีสีหม่นและมีด่างเป็นดวงสีขาวๆ ส่วนบางข้อมูลระบุเอาไว้ว่าเปลือกมีสีเทาหรือสีน้ำตาลแกมสีเหลือง ผิวเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด หรือเป็นร่องตื้นตามความยาวของตัวลำต้น ในส่วนของกิ่งอ่อนและยอดอ่อนนั้นจะมีขนนุ่ม ๆ ขึ้นปกคลุม กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนลำต้นเป็นทรงเรือนยอดรูปกรวย การแตกกิ่งนั้นต่ำเติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง เริ่มออกผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 3-4 ปีหลังจากการปลูก จะพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบทั่วไป และวิธีการขยายพันธุ์คือขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด
- ใบ มีใบประกอบแบบนิ้วมือ อยู่เรียงตรงข้ามสลับกันเป็นแนวตั้งฉาก มีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ใบเป็นสีเขียวเข้มคล้ายกับใบงิ้ว ลักษณะเหมือนรูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ใบมีขนาดที่ไม่เท่ากัน ปลายใบนั้นแหลมเป็นติ่ง ส่วนตรงโคนใบนั้นเป็นสอบแหลมหรือเป็นมน ขนาดใบกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนจะเกลี้ยงมีสีเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบจะมีสีที่อ่อนกว่า และมีขนสั้น ๆ อยู่ประปราย ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อใบจะยาวอยู่ประมาณ 7-20 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4],[5],[7]
- ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกมีขนาดที่เล็กและมีกลิ่นหอม กลีบดอกสีม่วงอ่อนหรือมีสีม่วงอมชมพูหรือสีขาวมีแดงเรื่อ ๆ ก็มี[7]) กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดกว้าง และมีขนละเอียดอยู่ประปรายที่ดอก[1],[2],[3],[4] ดอกตอนบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร[8] ดอกจะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศผสมตัวเองหรือในต่างต้นต่างดอกก็ได้ และออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[7]
- ผล หรือ ลูก เป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ผลกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ขั้วผลเป็นรูปกรวยกว้าง ผลตอนอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลเมื่อตอนสุกจะเป็นสีม่วงดำ ผลนั้นมีเนื้อที่อ่อนนุ่ม และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวแต่มีกลิ่นเหม็น ส่วนเมล็ดมีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย และมีการสันนิษฐานว่า ชื่อน่าจะมาจากลักษณะและสีของผลนั่นเอง[1],[2],[3],[4] โดยผลแก่นั้นจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[7]
สรรพคุณของไข่เน่า
1. ผลรับประทานได้ กินแล้วช่วยบำรุงสมองได้ (ผล)[7]
2. ผลอุดมไปด้วยแคลเซียม ที่ช่วยในการบำรุงกระดูก ช่วยแก้อาการกระดูกผุสำหรับผู้สูงอายุได้ดี (ผล)[7]
3. รากทำให้เจริญอาหาร (ราก, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[7]
4. ผลสุกรับประทานได้ ช่วยในการรักษาโรคเบาหวาน (ผล, เปลือกต้น)[1],[4],[7]
5. ราก เปลือกต้น และผล ช่วยแก้ตานขโมย (ตานขโมย หรือก็คือโรคพยาธิในเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผอมแห้ง ซูบซีด มีอาการท้องเดิน และก้นปอด) (ราก, เปลือกต้น, ผล)[1],[2],[4],[7]
6. เปลือกต้นมีฤทธิ์รักษาพิษตานซาง (เปลือกต้น)[7]
7. เปลือกต้นสามารถแก้ไข้ได้ (เปลือกต้น)[1],[3],[7]
8. ผลและเปลือกผล แก้โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นนัยน์ตา (ผล[1],[4], เปลือกผล[7])
9. เปลือกต้นมีรสชาติฝาด สามารถแก้อาการท้องเสียได้ (ราก, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[7]
10. รากและเปลือกต้นมีฤทธิ์แก้บิด (ราก, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[7]
11. รากช่วยในการรักษาอาการท้องร่วง (ราก)[7]
12. เปลือกต้นช่วยแก้อาการเด็กถ่ายเป็นฟอง (เปลือกต้น)[2],[7]
13. เปลือกต้นมีฤทธิ์ขับพยาธิในเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร (เปลือกต้น)[3],[7] ส่วนรากก็มีฤทธิ์ในการขับพยาธิไส้เดือน (ราก)[7]
14. เปลือกผลช่วยในการรักษาโรคกระเพาะหรือโรคลำไส้อักเสบในเด็กทารก (เปลือกผล)[7]
15. ตัวผลนั้นช่วยในระบบขับถ่าย (ผล)[7]
16. ผลสามารถช่วยบำรุงระบบเพศได้ (ผล)[7]
17. ผลมีฤทธิ์ช่วยบำรุงไต (ผล)[7]
18. เนื้อไม้ช่วยแก้เลือดตกค้าง (เนื้อไม้)[1],[4]
19. หมอยาโบราณนั้นนิยมใช้เปลือกของต้นมาต้มรวมกับรากเต่าไห้ ปรุงเป็นยารักษาโรคซางในเด็กและเป็นยาขับพยาธิ (เปลือกต้น)[3]
ข้อมูลเพิ่มเติม : เปลือกต้นมีสารจำพวกสเตีอรอยด์ (Steroid)ที่มีชื่อว่า -sitosterol และ ecdysterone และ anguside (p-hydroxybenzoic ester of aucubin
ประโยชน์ของไข่เน่า
1. ผลสุกรับประทานสดเป็นผลไม้ได้ แต่มีรสชาติหวานเอียน ไม่ค่อยอร่อยมากนัก ซึ่งหากใส่เกลือป่นหรือจิ้มกับเกลือจะมีรสชาติที่ดีขึ้น[3] หรือจะนำไปคลุกเคล้ากับเกลือแล้วนำไปผึ่งแดดเก็บไว้รับประทาน หรือจะรับประทานสด ๆ หรือนำเอาไปดองกับน้ำเกลือก็ได้เช่นกัน[7]
2. ผลนำไปทำขนมที่เรียกว่า “ขนมไข่เน่า” ได้อีกด้วย โดยวิธีการทำนั้นก็คล้ายกับการทำขนมกล้วย แต่จะเปลี่ยนจากกล้วยเป็นไข่เน่า โดยการหยอดใส่ใบตองรูปทรงเป็นกรวยแหลม แล้วเอามะพร้าวขูดโรยหน้าก่อนจะนำไปนึ่ง[7]
3. ต้นเป็นไม้ยืนต้นมีอายุที่ยืนยาวนับร้อยปี และเป็นไม้ที่น่าปลูกไว้สะสม เพราะในปัจจุบันเริ่มที่จะหายากลงขึ้นทุกที โดยมักนิยมปลูกไว้เป็นร่มเงาเนื่องจากต้นไม่ผลัดใบนั่นเอง[7]
4. เนื้อไม้ของต้นแข็งแรง สามารถนำมาทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี[3]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1.ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th. [4 พ.ย. 2013].
2.อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [4 พ.ย. 2013].
3.ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ไข่เน่า, ฝรั่งโคก”. (ฉันท์ฐิตา ธีระวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [4 พ.ย. 2013].
4.ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ไข่เน่า”. (มะลิวัลย์ ชื่นอารมย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [4 พ.ย. 2013].
5.แหล่งเรียนรู้ ศูนย์ค้ำคูณ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดขอนแก่น. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: khonkaen.nfe.go.th. [4 พ.ย. 2013].
6..ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [4 พ.ย. 2013].
7.GotoKnow. “ไข่เน่า”. (นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [4 พ.ย. 2013].
8.ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (FBD). สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [4 พ.ย. 2013].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.inaturalist.org/taxa/170272-Vitex-glabrata/browse_photos
2.https://www.facebook.com/KasetTanin/posts/2548157848771125/