เยี่ยวหมู
ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenostemma lavenia (L.) Kuntze จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1] ชื่ออื่น ๆ เซี่ยเถียนจวี๋ ฟงชี่เฉ่า (ภาษาจีนกลาง), ลินลางเช้า (ภาษาจีน), เยี่ยวหมูต้น (ภาษาไทย) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของเยี่ยวหมู
- ต้น
– เป็นพันธุ์ไม้ประเภทล้มลุก
– ต้นมีความสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร
– ลำต้นตั้งตรงมีลักษณะรูปร่างเป็นสันหรือเป็นรูปทรงกระบอก ลำต้นมีขนขึ้นปกคลุมอยู่โดยรอบหรือบางต้นอาจจะไม่มีขนขึ้นปกคลุม
– ลำต้นแตกกิ่งก้านที่บริเวณยอดต้น โดยกิ่งก้านนี้จะมีสีม่วงแดง และมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย
– ที่บริเวณใกล้โคนต้นจะมีกิ่งก้านผิวเรียบเป็นมัน
– ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุยและต้องการความชื้น[1],[2] - ใบ
– ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกตรงข้ามกัน
– ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปไข่หรือรูปกลมรี ที่ปลายใบแหลม ตรงโคนใบสอบมีลักษณะเป็นปีกแคบไล่ไปยังก้านใบ และที่ขอบใบมีรอยจักเป็นฟันเลื่อย
– แผ่นใบบางมีสีเป็นสีเขียว ที่ผิวใบจะเป็นรอยย่น ๆ และใบมีขนขึ้นปกคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลังของใบ [1],[2]
– ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3-12 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 4-20 เซนติเมตร
– ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-6 เซนติเมตร - ดอก
– ออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อกระจุก โดยจะออกดอกที่บริเวณปลายยอด
– ก้านช่อดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-3 เซนติเมตร ด้านหนึ่งของก้านช่อแยกออกเป็นช่ออีกประมาณ 2-3 ช่อ
– ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาว โดยที่ตรงปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก และที่โคนกลีบดอกนั้นจะเชื่อมติดกันเป็นท่อหลอด มีขนาดความยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร
– ดอกมีกลีบเลี้ยงดอกขนาดเล็กอยู่ตรงบริเวณตรงกึ่งกลางโคนดอก
– ดอกมีเกสรยื่นโผล่เหนือขึ้นมาจากตัวดอกประมาณ 3-4 เส้น[1],[2] - ผล
– ผล มีสีน้ำตาลและผลมีลักษณะเป็นผลแห้ง โดยผลจะมีลักษณะรูปทรงเป็นรูปกลมรียาวคล้ายกับรูปทรงกระบอก
– ผล มีรยางค์อยู่ประมาณ 3-5 เส้น มีขนาดความยาวอยู่ที่ประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และรยางค์เหล่านี้จะมีขนขึ้นปกคลุมอยู่[1],[2]
สรรพคุณของเยี่ยวหมู
1. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยาแก้ปวดบวม (ทั้งต้น)[2]
2. ทั้งต้นนำมาใช้เป็นยาภายนอกสำหรับแก้ฝีหนอง อีกทั้งยังแก้พิษงูได้อีกด้วย (ทั้งต้น)[2]
3. นำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับรักษาโรคตับอักเสบได้ แต่ในระหว่างการรักษานั้นห้ามผู้ป่วยดื่มเหล้าเด็ดขาด เพราะจะไปลดผลของยาให้มีประสิทธิภาพลดน้อยลงได้ (ทั้งต้น)[2]
4. ทั้งต้นนำมาใช้เป็นยาสำหรับขับความชื้นภายในร่างกายได้ และสามารถนำมาถอนพิษไข้ได้ด้วย (ทั้งต้น)[2]
5. ตำรายาแก้ไข้ตัวร้อน ระบุว่าให้ใช้ต้นแห้งในปริมาณประมาณ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่ม (ทั้งต้น)[2]
6. ทั้งต้นนำมาใช้เป็นยารักษาอาการคออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ และหลอดลมอักเสบ (ทั้งต้น)[2]
7. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยาแก้อาการท้องร่วงได้ (ทั้งต้น)[1]
8. ทั้งต้นนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้สำหรับทำเป็นยาสำหรับรักษาโรคสีดวงโพรก และนำมาใช้ทำเป็นยาดื่มหลังการคลอดบุตรของสตรีได้อีกด้วย (ทั้งต้น)[1]
9. ใบนำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
10. ในประเทศอินโดนีเซียจะนำใบมาทำเป็นยาแก้ไข้หวัดและแก้บรรเทาอาการน้ำมูกไหล (ใบ)[1]
11. ใบนำมาใช้เป็นยาใส่แผลที่บริเวณจมูกและหู (ใบ)[1]
12. ใบนำมาต้มกับน้ำกระสายยา ใช้เป็นยาในการบรรเทาอาการบวม หรือนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังก็ได้ (ใบ)[1]
13. ใบนำมาตำจากนั้นนำไปพอกบริเวณที่มีอาการ โดยจะมีฤทธิ์เป็นยาในการแก้อาการผิวถูกแดดเผาได้ (ใบ)[1]
14. ใบนำมาใช้เป็นยาแก้อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือตะคริวได้ (ใบ)[1]
15. น้ำคั้นจากใบใช้นำมาดื่มเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการช่วยกระตุ้น ส่วนมากมักนำมากระตุ้นให้จาม (น้ำคั้นจากใบ)[1]
16. น้ำคั้นจากใบนำมาใช้ดื่มกับเกลือ มีฤทธิ์เป็นยาแก้อาการเจ็บคอ (น้ำคั้นจากใบ)[1]
17. รากต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องได้ (ราก)[1]
ขนาดและวิธีใช้
1. ต้นสดให้ใช้ในปริมาณครั้งละ 60-100 กรัม นำลงไปต้มกับน้ำใช้ดื่ม[2]
2. ต้นที่แห้งแล้วนั้นให้ใช้ในปริมาณครั้งละ 10-25 กรัม นำลงไปต้มกับน้ำใช้ดื่ม[2]
ประโยชน์ของต้นเยี่ยวหมู
- ใบนำมาใช้ทำเป็นยาสระผม จะมีฤทธิ์ที่ช่วยทำให้ผมขึ้นได้เร็วขึ้น[1]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เยี่ยว-หมู”. หน้า 667-668.
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เยี่ยว-หมู-ต้น”. หน้า 470.
อ้างอิงรูปจาก
1.https://commons.wikimedia.org/
2.https://www.flickr.com/