โกฐสอ
เป็นไม้ล้มลุกสีม่วง ดอกสีขาวมีขนสั้น ใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม รากกลมยาวคล้ายหัวผักกาด สีน้ำตาลมีความแข็ง มีกลิ่นหอมฉุน นิยมใช้รากทำยา

โกฐสอ

ต้นโกฐสอ รากใช้เป็นยา ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ชอบอากาศอบอุ่น มักพบขึ้นตามภูเขาสูงและชื้น ชอบดินร่วนซุยหนาและลึก มีความอุดมสมบูรณ์ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศรัสเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และจีนชื่อสามัญ Dahurian angelica[5] ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Angelica dahurica (Hoffm.) Benth. & Hook.f. ex Franch. & Sav. อยู่ในวงศ์ผักชี(APIACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ไป๋จื่อ (จีนกลาง), แป๊ะลี้ แปะจี้(จีนแต้จิ๋ว)เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของโกฐสอ

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี มีสีม่วงแต้มเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางของโคนต้นราวๆ 2-5 เซนติเมตรและมีความสูง 1-2.5 เมตร
  • ดอก ดอกออกบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ เป็นดอกช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบ มักมี 18-40 ช่อ มีขนอยู่สั้นๆ มีดอกขนาดเล็กสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลางราวๆ 10-30 เซนติเมตร มีใบประดับคล้ายกาบหุ้มช่อดอกอ่อนอยู่ มีใบประดับไม่เกิน 2 ใบ ดอกจะออกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[5]
  • ใบ ใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ประกอบกันแบบขนนก 2-3 ชั้น โคนใบเป็นกาบแผ่ออกมา ก้านใบยาว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 40 เซนติเมตรและยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ใบย่อยเป็นรูปรีแคบจนถึงใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 1-4 เซนติเมตรและยาว 4-10 เซนติเมตร ใบย่อยไร้ก้าน โคนใบออกเป็นครีบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลม ตอนบนของใบจะลดรูปเป็นกาบ[5]
  • ผล ผลเป็นรูปรีกว้างเป็นผลแบบผลแห้งแยก สันด้านข้างแผ่ออกเป็นปีกกว้าง สันด้านล่างหนากว่าร่อง มีท่อน้ำมันอยู่ตามร่อง ด้านล่างแบนราบ ผลจะติดในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[5]
  • ราก มีลักษณะกลมยาวคล้ายหัวผักกาด มีความแข็ง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีรอยย่นและมีสัน มีผิวรากสีน้ำตาล เนื้อในเป็นสีขาวนวล มีจุดเล็กๆ มีกลิ่นหอมฉุน นิยมนำรากมาใช้ทำเป็นยา [2],[5]

ประโยชน์ของโกฐสอ

  • มีการใส่โกฐลงไปในน้ำเลี่ยงจุ๊ยที่คนจีนทำขาย[5]
  • เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า[3],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐสอ

  • มีสาร Angelicotoxin ซึ่งเป็นสารพิษ แต่ถ้าหากใช้ในจำนวนที่น้อยจะสามารถกระตุ้นประสาทควบคุมการทำงานของเส้นเลือดในกระดูกสันหลังและประสาทกระดูกสันหลังส่วนกลาง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจได้ลึกขึ้น แต่ชีพจรเต้นช้าลง และหากใช้มากเกินไปจะกระตุกอย่างแรงเป็นพักๆ จนชาทั้งตัวในที่สุด[1]
  • มีสารที่เป็นองค์ประกอบทางเคมีในกลุ่ม coumarins ประเภท furacoumarins หลายชนิด ตัวอย่างเช่น phellopterin, isoimperatorin, oxypeucedanin, imperatorin, byak-angelicol, byak-angelicin สารกลุ่ม ferulic acid, polyacetylenic และมีสารscopoletin และmarmecin[4],[5]
    จากการวิจัยพบว่า สามารถใช้ป้องกันสมองเสื่อม ช่วยคลายกังวล ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ต้านการอักเสบ ปกป้องตับ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการเต้นผิดปกติของหัวใจหนู มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ฯลฯ[4]
    ใช้ในการต่อต้านเชื้ออะมีบาที่เป็นสาเหตุของโรคบิดได้ ช่วยยับยั้งเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคไทฟอยด์และโรค
  • อหิวาตกโรค ต้านเชื้อ Columbacillus ในลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้ และสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ด้วยน้ำต้มของโกฐ[1]
  • พบสาร Angelicotoxin anomalin Byak-angelicin, Imperatorin, Oxypevcedanin ซึ่งสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นกระดูกสันหลัง ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้เส้นเลือดฝอยในจมูกหดตัว กระตุ้นประสาททางจมูกทำให้หายใจคล่อง แต่หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายบางส่วนมีความรู้สึกชา [1]

สรรพคุณของโกฐสอ

1. สามารถนำมารักษาโรคเลือดเป็นพิษ หัด สุกใสและแก้ร้อนในได้ โดยทำตามตำรับ “ยาเม็ดขี้กระต่าย” ของล้านนาซึ่งประกอบด้วยโกฐสอและสมุนไพรอื่นๆ(ราก)[4]
2. มีปรากฏใช้ในหลายตำรับยา เช่น ตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ที่สามารถใช้ในการบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และมีปรากฏในตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” และ “ยาหอมเทพจิตร”ซึ่งมีสรรพคุณในการแก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น แก้ลมวิงเวียน แก้ไข้ แก้ลมจุกแน่นท้อง และตำรับ “ยาประสะกานพลู” ซึ่งช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ และแก้อาการปวดท้อง(ราก)[4]
3. ราก สามารถทำเป็นยาแก้ปวด บวมแดง(ราก)[1],[3]
4. นำราก มาทำเป็นยาแก้อาการทางผิวหนังต่างๆได้(ราก)[1],[3],[5]
5. ที่จีนมีการใช้มาทำเป็นยาเกี่ยวกับระดู เช่น ใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (ราก)[1],[3],[5]
6. ช่วยทำให้หัวใจชุ่มชื่นได้ เป็นยาบำรุงหัวใจ(ราก)[2],[3],[5]
7. ในจีนมักใช้ราก เป็นยาแก้ไข้หวัดคัดจมูก และตำราไทยก็ใช้เป็นยาแก้อาการไอ แก้หืด แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น(ราก)[2],[3],[5]
8. ข้อมูลจากตำรายารักษาไซนัส ระบุว่าโกฐสอ 10 กรัม, ซิงอี๊ 10 กรัม, อึ่งงิ้ม 10 กรัม, กัวกึ้งอีก 20 กรัมและซังหยือจี้ 8 กรัม มาต้มกับน้ำทานเช้าเย็น 3-5 เทียบจะช่วยในการรักษาได้(ราก)[1],[3],[5]
9. ใช้ทำเป็นยาขับลมชื้นในร่างกายได้ ด้วยการนำรากมาทำโดยจะออกฤทธิ์ต่อธาตุ ม้าม และปอด(ราก)[1]
10. มีการนำมาใช้ในเครื่องยา “พิกัดโกฐ” สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ บำรุงกระดูก บำรุงเลือด ช่วยชูกำลัง และขับลมได้(ราก)[4]
11. อยู่ในตำรับ “ยาจิตรการิยพิจรูญ” ใช้เป็นยาแก้หืด ไอ อาการม้ามโต แก้ลมอัมพาต แก้ริดสีดวงผอมเหลืองได้(ราก)[4]
12. พบว่าการใช้โกฐสอ 30 กรัม ต้มกับน้ำทานวันละ 2 ครั้งสามารถเป็นยาแก้ปวดกระดูกสันหลังขึ้นหัวได้(ราก)[1]
13. ราก มีสรรพคุณช่วยสร้างเนื้อเยื่อให้แผลหายเร็ว และยังใช้เป็นยาขับฝีมีหนอง ทำให้หนองแห้งได้(ราก)[1]
14. ช่วยแก้ริดสีดวงทวารมีเลือด หรือเป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนักได้ (ราก)[1],[3]
15. ใช้รากเป็นยาขับลมได้[1]
16. ราก ช่วยในการแก้เสมหะเป็นพิษ แก้หลอดลมอักเสบ แก้สะอึกได้[3]
17. ราก สามารถนำมาทำเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกได้[3]
18. ราก ใช้แก้อาการปวดฟันและทำเป็นยาแก้ปวดศีรษะได้[1],[3],[5]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐสอ”. หน้า 110.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐสอ”. หน้า 216.
3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐสอ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [09 มิ.ย. 2015].
4. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย. (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร). “โกฐสอ”. หน้า 42-46.
5. https://medthai.com

อ้างอิงรูปจาก
1. https://alchetron.com/