มะนาวผี
มะนาวผี เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นมีขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 2-3 เมตร ลักษณะภายนอกของผลผิวขรุขระมีกลิ่นคล้ายใบมะกรูดหรือใบมะนาว เป็นสมุนไพรทางตำรายาไทย น้ำมันจากเปลือกผลใช้ทาภายนอก แก้โรคไขข้ออักเสบ ใบแก้โรคทางเดินหายใจ แก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย รักษาโรคผิวหนัง และผลยังใช้ในการรักษาโรคทางเดินหายใจได้อีกด้วย ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Atalantia monophylla DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Trichilia spinosa Willd.) อยู่วงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[3] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น กะนางพลี (ภาคใต้)[1], มะนาวพลี (ภาคใต้)[2], กะนาวพลี (ภาคใต้)[3], ขี้ติ้ว (ภาคเหนือ), นางกาน (จังหวัดขอนแก่น), มะลิว (จังหวัดเชียงใหม่), จ๊าลิ้ว (ภาคเหนือ), กรูดผี (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), กรูดเปรย (จันทบุรี) [1],[2],[3]
ลักษณะมะนาวผี
- ต้น มีเขตการกระจายพันธุ์ที่ในประเทศเวียดนาม พม่า ไทย อินเดีย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว ศรีลังกา ลำต้นกับกิ่งจะค่อนข้างเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล จะมีรอยแตกตื้นตามยาวของลำต้น มีหนามยาวอยู่หนึ่งอันที่ตามซอกใบ หนามมีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง สำหรับประเทศไทยพบได้ทุกภาค สามารถพบเจอได้ที่ตามป่าดิบแล้ง ชายฝั่ง บนเขาหิน ป่าชายหาก ป่าเต็งรัง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ 800 เมตร[1],[3],[4]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงเวียน ใบเป็นรูปรี รูปไข่ ที่ปลายใบจะป้านเป็นติ่ง ส่วนที่โคนใบจะเป็นรูปลิ่มกว้าง ที่ขอบใบจะเรียบหรือเป็นคลื่นนิดหน่อย ใบกว้างประมาณ 1.8-4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.8-8 เซนติเมตร แผ่นใบมี
ลักษณะแผ่เรียบ หนาคล้ายกับแผ่นหนัง เป็นมัน ด้านบนใบจะเป็นสีเขียวเข้มและเกลี้ยง ท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อนและเกลี้ยง หรือจะมีขนกระจายที่ตามเส้นกลางใบ มีเส้นข้างใบอยู่ประมาณ 5-7 คู่ ใบย่อยเป็นรูปแบบร่างแห ชัดเจนที่ทางด้านล่าง ก้านใบมีความยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร[3] - ดอก ออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ออกดอกที่ตามซอกใบ มีกลิ่นหอม ก้านช่อดอกกับก้านดอกจะเกลี้ยงถึงมีขนละเอียด ก้านดอกมีความยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยเป็นรูปใบหอก ร่วงได้ง่าย มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนอยู่ กลีบเลี้ยงจะไม่สมมาตร แยกออกถึงฐานแค่หนึ่งด้านเท่านั้น มักจะมีแฉก 2 แฉก มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร จะเกลี้ยงถึงมีขนละเอียด มีกลีบดอกอยู่ประมาณ 4-5 กลีบ จะแยกจากกันอย่างอิสระ กลีบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปรี มีความยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร จะเกลี้ยง มีเกสรเพศผู้ประมาณ 8-10 ก้าน มีความยาวไม่เท่ากัน จะสลับกันระหว่างสั้นและยาว ที่โคนจะเชื่อมกันเป็นหลอด จะเกลี้ยง รังไข่อยู่ที่เหนือวงกลีบ มีความยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร มีช่องอยู่ประมาณ 3-4 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุลอยู่ประมาณ 1-2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมีความยาวเท่ารังไข่ ยอดเกสรเพศเมียมีแฉก 3-4 แฉก มีขนาดไม่เท่ากัน จานฐานดอกมีลักษณะเป็นรูปวงแหวน มีพูประมาณ 8-10 พู [3]
- ผล เป็นรูปทรงกลม รี มีขนาดเล็ก ผิวผลมีลักษณะเรียบและเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเทา มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวผลหนาคล้ายกับหนัง จะมีต่อมน้ำมันเป็นจุดหนา ปลายผลจะมีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ เนื้อผลด้านในจะเป็นกลีบ มีเมล็ดอยู่ด้านในผล เมล็ดเป็นรูปรี เป็นสีขาว ออกดอกและเป็นผลช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน[3]
สรรพคุณมะนาวผี
1. ใบสามารถช่วยแก้อาการท้องเสียได้ (ใบ)[3]
2. น้ำมันที่ได้จากเปลือกผลสามารถใช้ทาภายนอก เป็นยาแก้โรคไขข้ออักเสบได้ (น้ำมันจากเปลือกผล)[3]
3. สามารถช่วยแก้โรคทางเดินหายใจได้ (ใบ)[1],[2],[3]
4. ผลมีสรรพคุณที่สามารถช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจได้ (ผล)[3]
5. สามารถใช้รักษาโรคผิวหนังได้ (ใบ)[3]
6. ใบ จะมีกลิ่นคล้ายใบมะนาว ใบมะกรูด สามารถช่วยแก้อาการจุกเสียดได้ (ใบ)[3]
ประโยชน์มะนาวผี
- สามารถนำเนื้อไม้มาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักสาน เครื่องมือใช้สอยภายในบ้านได้[5]
- ปลูกเป็นไม้ประดับ[4]
สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะ นาว ผี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [16 พ.ค. 2014].
2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “มะ นาว ผี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [16 พ.ค. 2014].
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะ นาว ผี (Manao Phi)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 225.
4. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะ นาว ผี”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 156.
5. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะนาวผี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [16 พ.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://efloraofindia.com/