โกฐเขมา
ชื่อสามัญ Atractylis[2], Atractylodes[4] ชื่อวิทยาศาสตร์ Atractylodes lancea (Thunb.) DC.อยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2],[3] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ชางซู่ ชางจู๋ (จีนกลาง), ชางตุ๊ก ซังตุ๊ก (จีนแต้จิ๋ว), โกฐหอม (ไทย)เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะโกฐเขมา
- ต้น เป็นไม้ล้มลุกมีกลิ่นที่หอม ความสูงราวๆ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นกลมเป็นร่อง จะแตกกิ่งเฉพาะตอนบน มีขนเล็กน้อยคล้ายกับใยแมงมุม มีรากพิเศษจำนวนมากขนาดเท่าๆกัน เหง้าตั้งขึ้นหรือทอดนอน สามารถเจริญเติบโตได้ในดินที่หลากหลาย ชอบดินร่วนอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 ปี กระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย[1],[3],[4]
- ดอก เป็นดอกช่อ มีช่อกระจุกแน่นอยู่ตามปลายกิ่ง ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร วงใบประดับซ้อนกันแน่นเป็นรูประฆังมี 5-7 แถว มีขนขึ้นที่ขอบเล็กน้อยลักษณะคล้ายกับใยแมงมุม ใบประดับวงในเป็นรูปรีถึงรูปแถบ อาจมีสีแดง ความยาว 1.1-1.2 เซนติเมตรและกว้าง 2-3 มิลลิเมตร และมีใบประดับกลางเป็นรูปไข่แกมรี ความยาว 2-3 มิลลิเมตรและกว้าง 3-4 มิลลิเมตร ส่วนใบประดับที่อยู่วงนอกสุดเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว 3-6 มิลลิเมตรและกว้าง 2-3 มิลลิเมตร ฐานดอกมีด้านบนแบน มีเกล็ดที่หนาแน่น ดอกมีสีขาวขนาดเล็กและสมบูรณ์เพศ โคนมีขนาด 7-8 มิลลิเมตรติดกันเป็นวง กลีบเลี้ยงมี 1 แถวเป็นขนสีน้ำตาลถึงขาวหม่น ความยาวโดยประมาณของกลีบดอกคือ 9 มิลลิเมตร มี 5 หยักอยู่ที่ปลาย มีเกสรตัวผู้ติดที่หลอดกลีบดอก 5 อัน ใต้วงกลีบมีรังไข่ 1 ช่อง มีขนนุ่มที่ยอดเกสรตัวเมีย เกสรตัวเมียเป็นสามเหลี่ยมจะแยกเป็น 2 แฉกและมียอดเกสรที่สั้น[1],[4]
- ใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษมีลักษณะเป็นรูปหอก ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบที่กลางต้นเป็นรูปไข่กลับ รูปรีแคบหรือหอกกลับ และใบที่ใกล้โคนต้นเป็นรูปไข่ ยาว 8-12 เซนติเมตรและกว้าง 5-8 เซนติเมตร เป็นหยักแบบขนนกที่ขอบใบ 3-5 แฉก ปลายแฉกเป็นรูปกลม รูปไข่ หรือรูปรี และแฉกข้างเป็นรูปไข่กลับแกมรี มีหน้าใบสีเขียวเข้ม ก้านใบจะสั้น และมีคราบสีขาวเกาะบริเวณหลังใบ[1],[4]
- ผล เป็นรูปไข่กลับ ลักษณะแห้งเมล็ดล่อน ออกดอกและกลายเป็นผลตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม[4]
- เหง้า เป็นรูปทรงกระบอกมีลักษณะกลมหรือยาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราวๆ 1-2 เซนติเมตร ยาว 3-10 เซนติเมตร มีผิวขรุขระเป็นปุ่มปม เปลือกนอกมีสีออกน้ำตาล คล้ายผิวมะกรูด ตามขวางมีรอยบิดและรอยย่น เนื้อในแน่น หัวที่ฝานออกใหม่ๆจะมีเนื้อในเป็นสีขาวขุ่น มีกลิ่นหอมเฉพาะ มีแต้มสีแสดของชันน้ำมันอยู่ประปราย มีรสเผ็ดร้อน และหวานอมขมเล็กน้อย เหง้าใต้ดินจะถูกเรียกว่า “โกฐเขมา” จะช่วยทำให้ยาดองเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม[1],[3],[4]
การเตรียมยา
1. นำโกฐแห้งมาแช่น้ำล้างให้สะอาดจากนั้นนำไปใส่ภาชนะและปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม และสุดท้ายนำมาหั่นเป็นแว่นหนาๆแล้วทำให้แห้ง[5]
2. ผัดเกรียม ให้นำโกฐแห้งมาผัดด้วยไฟปานกลางจนผิวมีสีน้ำตาลไหม้ จากนั้นพรมน้ำลงไปเล็กน้อยและผัดต่อด้วยไฟอ่อนๆจนแห้ง สุดท้ายนำออกมาทิ้งให้เย็นแล้วร่อนเอาเศษเล็กๆออกมา จะมีรสเผ็ด และช่วยให้การทำงานของลำไส้แข็งแรง[5]
3. ผัดรำข้าวสาลี นำรำข้าวสาลีมาใส่ในภาชนะและให้ความร้อนจนมีควันออกมาด้วยไฟปานกลาง ต่อมาให้ใส่โกฐแห้งลงไปแล้วคนอย่างรวดเร็วจนผิวยาเป็นสีเหลืองเข้ม สุดท้ายให้นำออกมาร่อนเอารำข้าวสาลีออกทิ้งไว้ให้เย็น จะช่วยทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น[5]
วิธีการใช้
- ใช้โดยการนำเหง้ามาต้มกิน ครั้งละ 5-12 กรัม หรือใช้ในตำรับยาร่วมกับยาอื่นๆ[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- การทดสอบนำน้ำโกฐต้ม ฉีดเข้าทางเส้นเลือดใหญ่ของคางคกพบว่าทำให้เส้นเลือดมีการขยายตัวเล็กน้อยและหากมาฉีดใส่หัวใจของคางคกพบว่าจะทำให้การเต้นของหัวใจอ่อนลง[1]
- พบว่าสามารถช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน กดระบบประสาทส่วนกลาง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดความดันโลหิต ลดอุณหภูมิกาย ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรีย[3]
- การทดสอบความเป็นพิษ โดยใช้สารสกัดจากเหง้าด้วยเอทานอล 50% ให้หนูทดลองกินและฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าไม่มีอาการเป็นพิษแต่อย่างใด[3]
- ทดลองนำน้ำต้มของโกฐมาป้อนให้กระต่ายเป็นเวลา 10 วัน พบว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของกระต่ายลงได้ และพอหยุดให้ยาระดับน้ำตาลในเลือดของกระต่ายก็ไม่เพิ่มขึ้น[1]
- องค์ประกอบเคมีของเหง้าพบว่าเป็นน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณร้อยละ 3.5-5.6 และมีสารประกอบที่สำคัญอยู่ในน้ำมันระเหยง่ายคือ Coumarin, β-Eudesmol, Hinesol, Elemol, Atractylodin, Atractylon, สารกลุ่ม Polyacetylene และกลูโคส วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินดี เป็นต้น[1],[3],[4]
สรรพคุณของโกฐเขมา
1. มีปรากฏการใช้ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต โดยมีสรรพคุณช่วยแก้อาการหน้ามืด แก้ลมวิงเวียน ตาลาย ใจสั่น อาเจียน อีกทั้งยังปรากฏการใช้ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาการท้องอืดเฟ้อและอุจจาระธาตุพิการ[3]
2. มีฤทธิ์ขับลมและความชื้น ช่วยแก้อาการอาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย จุกเสียด ช่วยเสริมระบบการย่อยอาหารและบรรเทาอาการไข้หวัดจากลมเย็นหรือความชื้น อีกทั้งยังสามารถรักษาอาการปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อได้อีกด้วย ข้อมูลจากตำราการแพทย์แผนจีน[5]
3. ใช้ในการแก้ผดผื่นคันได้[1]
4. ช่วยรักษาอาการท้องเสีย และท้องร่วง[1],[3]
5. ใช้รักษาโรคในปากในคอได้[2],[3],[4]
6. มีสรรพคุณในการระงับอาการหอบคล้ายยาอีเฟรดริน[3],[4]
7. เหง้าช่วยในการบำรุงธาตุ เป็นยาบำรุงกำลังและทำให้เจริญอาหาร มีรสเผ็ดขมหอม[1],[3],[4]
8. จัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยมีสรรพคุณในการ เป็นยาแก้ไข้ แก้หอบ แก้หืดไอ แก้ลมในกองธาตุ เป็นยาชูกำลัง บำรุงกระดูก บำรุงโลหิต[3],[4]
9. เป็นที่นิยมมากในวงการแพทย์แผนโบราณของจีน สามารถใช้เข้ายาจีนหลายขนาน โดยจะใช้ทำเป็นยาแก้อาการ ท้องร่วง แก้ข้อ แก้หวัด แก้โรคตาบอดตอนกลางคืน แก้บวม ขนาดที่ใช้ประมาณ 3-9 กรัม[3],[4] และยังมีการนำมาใช้ในตำรายาแก้ตับอักเสบอีกด้วย[1]
10. ช่วยแก้อาการขาปวดบวม ขาไม่มีแรง แก้โรคเข้าข้อ และอาการปวดข้อ[3],[4]
11. นำมาทำเป็นยาขับปัสสาวะได้[3],[4]
12. เหง้า มีสรรพคุณเป็นยาขับลม ช่วยรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ อีกทั้งยังช่วยในการย่อยอาหารในกระเพาะ และแก้เสียดแทงสองราวข้าว[1],[2],[3]
13. ใช้ในการขับเสมหะ และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน[1]
14. สามารถใช้แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้เหงื่อออกมาก แก้ลมตะกัง แก้ไข้รากสาดเรื้อรัง[3],[4]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐ เขมา”. หน้า 102.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐเขมา Atractylis”. หน้า 217.
3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐเขมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [11 มิ.ย. 2015].
4. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย. (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร). “โกฐเขมา”. หน้า 51-54.
5. เพจบ้านสุขภาพดี คลินิกแพทย์แผนไทย. “โกฐเขมา: Cangzhu (苍术)”.
6. https://medthai.com/