โคกกระออม
เป็นไม้เลื้อย ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ผลคล้ายกับถุงลมเป็นเยื่อบาง ๆ มีขนสั้น เมล็ดเท่าเมล็ดข้าวโพดสีเขียวอ่อนและนิ่ม

โคกกระออม

โคกกระออม มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน มีการแพร่กระจายเป็นวัชพืชไปทั่วโลก ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค ชื่อวิทยาศาสตร์ Cardiospermum halicacabum L. จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE) ชื่อสามัญ Balloon vine, Heart pea, Heart seed, Smooth leaved heart Pea ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ สะไล่น้ำ สะโคน้ำ สะไคน้ำ สะไล่เดอะ หญ้าแมงวี่ หญ้าแมลงหวี่ (ปราจีนบุรี) วี่หวี่ วิวี่ (แพร่) ตุ้มต้อก (ปัตตานี) โพธิ์ออม โพออม (ภาคเหนือ) ลูกลีบเครือ เครือผักไล่น้ำ (ภาคกลาง) กะดอม (จีนกลาง) ไต้เถิงขู่เลี่ยน เต่าตี้หลิง เจี่ยขู่กวา (จีน) ไหน ติ๊นโข่

ลักษณะของโคกกระออม

  • ต้น โดยจัดเป็นพรรณไม้เลื้อยหรือไม้เถาล้มลุกขนาดกลาง มีอายุราว 1 ปี ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก มีเถายาวโดยประมาณ 1-3 เมตร มักเลื้อยเกาะพันกันขึ้นไปบนต้นไม้หรือตามกิ่งไม้ และอาจเลื้อยไปตามพื้นดิน ลักษณะของเถาเป็นเหลี่ยมมีสันโดยประมาณ 5-6 เหลี่ยม และมีขนปกคลุมเล็กน้อย ผิวของเถามีสีเขียว เถามีขนาดก้านไม้ขีดไฟ หรืออาจจะเล็กกว่านั้นก็มี และบริเวณข้อของเถาจะมีมือสำหรับยึดเกาะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด มักเกิดขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ตามชายป่า หรือตามที่รกร้างว่างเปล่า ริมทาง ตามริมน้ำ หรือบริเวณที่มีร่มเงา จนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยจะเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบจะแหลม ส่วนขอบใบเป็นหยักลึกและมีมือเกาะสั้นๆ จะอยู่ที่ปลายยอดระหว่างซอกเถาที่มีก้านช่อดอก โดยมือจับจะมีอยู่ 2 อันแยกกันออกจากก้านช่อดอกที่ยาว ใบมีขนาดกว้างโดยประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและยาวโดยประมาณ 5-12 เซนติเมตร แผ่นใบบางสีเขียว ผิวใบเรียบไม่มีขน ใบหลังจะมีขนาดเล็กกว่า และมีก้านใบยาว
  • ดอก ดอกออกเป็นช่อๆ มีโดยประมาณ 3-4 ดอก โดยจะออกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีกลีบดอก 4-5 กลีบ ดอกมีขนาดไม่เท่ากัน ดอกยาวโดยประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน
  • ผล ลักษณะคล้ายกับถุงลมเป็นเยื่อบางๆ ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม มีพู 3 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลโดยประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เปลือกผลบางและมีสีเขียวอมเหลือง มีขนสั้นนุ่มกระจายอยู่ทั่วผล ผลเมื่อแก่มีสีดำ ก้านผลสั้น ภายในผลจะมีเมล็ดขนาดเล็กโดยประมาณ 1-3 เมล็ด
  • เมล็ด มีลักษณะกลม ผิวเรียบ มีขนาดเท่ากับเมล็ดข้าวโพด หรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมล็ดมีสีเขียวอ่อนและค่อนข้างนิ่ม เมล็ดแก่เป็นสีดำและแข็ง ที่ขั้วเมล็ดมีสีขาวลักษณะคล้ายรูปหัวใจ

หมายเหตุ : ในพรรณไม้วงศ์เดียวกัน ยังพบว่ามีอีกชนิดหนึ่ง คือ ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cardiospermum Halicacabum L.var microcarpum (Kunth) Blume โดยจะมีลักษณะรูปร่างภายนอกที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ชนิดนี้ขนาดของผลจะเล็กกว่ากันประมาณ 1 เท่าตัว แต่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้

สรรพคุณของโคกกระออม

1. ใช้เป็นยารักษาโรคโลหิตให้ตก (ดอก)
2. ทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)
3. ทั้งต้นมีรสขมและเผ็ดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็น โดยจะออกฤทธิ์ต่อตับและไต สามารถใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ได้ (ทั้งต้น)
4. แก้พิษในร่างกาย (ทั้งต้น)
5. ดอกมีรสขมขื่น ใช้เป็นยาขับโลหิต (ดอก)
6. เมล็ดมีรสขมขื่น ใช้เป็นยาแก้ไข้ (เมล็ด) ส่วนเถาใช้เป็นยาแก้ไข้ รักษาไข้จับ (เถา) บ้างว่าใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น) บ้างใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)
7. แก้ตาเจ็บ (ใบ)
8. ทั้งต้นใช้ต้มกินต่างน้ำ จะช่วยลดความดันโลหิตได้ (ทั้งต้น)
9. ใช้รักษาโรคดีซ่าน (ทั้งต้น)
10. ทั้งต้นช่วยรักษาต้อตา (ทั้งต้น) น้ำคั้นจากรากสดใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาต้อ (ราก) หมอพื้นบ้านจะนำรากสดๆ มาคั้นกับน้ำสะอาดใช้หยอดตาแก้ตาต้อ แก้เจ็บตาได้ผลดี (ราก)
11. ราก มีรสขม ทำให้อาเจียน (ราก)
12. ใบมีรสขมขื่น ใช้แก้อาการไอ รักษาโรคหืดไอ แก้ไอหืด (ใบ) ส่วนน้ำคั้นจากใบใช้แก้อาการไอ (น้ำคั้นจากใบ)
13. ช่วยแก้ไข้เพื่อทุราวสา แก้ปัสสาวะให้บริบูรณ์ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
14. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ (เมล็ด) บ้างว่าใช้โคกกระออมทั้ง 5 นำมาต้มกินต่างน้ำก็ช่วยขับเหงื่อได้เช่นกัน (ทั้งต้น)
15. ทั้งต้นใช้ผสมกับตัวยาอื่น ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืด (ทั้งต้น)[4] ส่วนน้ำคั้นจากใบสดก็ช่วยแก้หอบหืดเช่นกัน (น้ำคั้นจากใบ)
16. ดอกช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ดอก) น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (น้ำคั้นจากใบ)
17. ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด และใช้แก้นิ่ว โดยใช้ทั้งต้นนำมาต้มเป็นยาใช้กินต่างน้ำ (ทั้งต้น หากใช้แก้ปัสสาวะขัดเบา ให้ใช้โคกกระออมและใบสะระแหน่ อย่างละประมาณ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำประทาน (เข้าใจว่าคือต้นแห้ง) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าใบเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)
18. รากใช้เป็นยาระบาย (ราก) บ้างว่าใช้ทั้งต้นเป็นยาระบาย (ทั้งต้น)
19. รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
20. ใช้ทั้งต้นนำมาต้มให้คนแก่ที่อาการต่อมลูกหมากโตใช้ดื่มต่างน้ำเป็นยา จะช่วยลดอาการของต่อมลูกหมากโตได้ (ทั้งต้น)
21. ทั้งต้นใช้แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงู (ทั้งต้น) รากใช้ตำคั้นเอาแต่น้ำมากินเป็นยาแก้พิษงู ส่วนกากที่เหลือใช้เป็นยาพอกแก้พิษงู พิษงูเห่า และพิษจากแมลง (ราก)
22. ดับพิษแผลไฟไหม้ แผลไฟลวก (ผล)
23. ผลมีรสขมขื่น ช่วยบำรุงน้ำดี (ผล)
24. ดับพิษทั้งปวง (ผล)
25. ใบสดใช้เป็นยาใส่แผลชั้นยอด โดยใช้น้ำต้มข้นๆ นำมาใช้ล้างแผล (ใบ)
26. ใช้รักษาอาการอักเสบบวมตามร่างกาย โดยนำมาใบสดมาตำกับเกลือแล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบบวม (ใบ)
27. แก้ถอดไส้ฝี (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
28. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ฝี กลาก เกลื้อน (ทั้งต้น)
29. ใช้แก้ฝีบวม ฝีหนอง ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี (ต้นสด) ส่วนใบสดก็สามารถนำมาตำพอกรักษาฝีได้เช่นกัน (ใบ)
30. ใช้รักษาอาการอักเสบบวมตามร่างกาย โดยนำมาใบสดมาตำกับเกลือแล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบบวม (ใบ)
31. แพทย์แผนจีนจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับน้ำนม ทำให้เกิดน้ำนม และยังช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ทั้งต้น)
32. ทั้งต้นช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ (ทั้งต้น)
33. รักษาโรครูมาตอยด์ ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำไปเคี่ยวกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาทาเช้าและเย็นติดต่อกันประมาณ 7 วัน อาการของโรครูมาตอยด์จะค่อยๆ ดีขึ้น (ใบ)

วิธีใช้

1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
2. ต้นแห้ง ให้ใช้ประมาณ 10-18 กรัม นำมาต้มกับน้ำประทาน
3. หากเป็นต้นสด ให้ใช้ประมาณ 35-70 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำรับประทานหรือใช้เป็นยาพอกภายนอก

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. การทดลองในหนูขาวระบุว่าสารสกัดจากใบมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตและช่วยยับยั้งการอักเสบ
2. เมล็ด พบว่ามีน้ำมันหอมระเหย เช่น 11-Eicosenoic acid, 1-Cyano-2 hydroxy methyl prop 2-ene-1-ol และสาร Saponin เป็นต้น
3. ใบกระออมมีฤทธิ์ในการยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ จึงใช้ใบเป็นยาแก้หอบหืดได้
4. น้ำมันระเหยจากเมล็ด เมื่อนำไปทดลองกับสุนัขพบว่าสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่ถ้านำน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดไปสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ในระยะเวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง

ประโยชน์ของโคกกระออม

1. มีการนำยอดอ่อนมาใช้รับประทานเป็นผักสดหรือเผาไฟ โดยยอดอ่อนจะมีรสขมเล็กน้อย ช่วยบำรุงสุขภาพ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความแก่และช่วยในการต่อต้านมะเร็งได้อีกต่างหาก
2. ในชนบทจะเรียกว่า “หญ้าแมงหวี่” หากเด็กมีอาการตาแฉะหรือตาแดง ก็มักจะมีแมลงหวี่มาตอม คนชนบทก็จะใช้เถารวมทั้งใบสด ๆ ด้วย มาพันไว้รอบศีรษะ จะทำให้แมลงหวี่กลัวไม่กล้ามาตอมอีก (เถาและใบ)
3. ใช้เป็นยาสระผมกำจัดรังแค ด้วยการนำเถามาทุบคั้นแช่ในน้ำพอข้น ๆ แล้วนำมาใช้ชโลมศีรษะและทิ้งไว้สักครู่ แล้วค่อยล้างออก จะช่วยกำจัดรังแคได้ดีมาก

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “โคกกระออม”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 168.
2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “โคก กรออม (Kok Kra Om)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 86.
3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “โคก กระ ออม”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 207-208.
4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “โคกกระออม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [19 ก.พ. 2014].
5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “โคกกระออม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [19 ก.พ. 2014].
6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “สะไคน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [19 ก.พ. 2014].
7. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โคกกระออม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [19 ก.พ. 2014].
8. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “โคกกระ ออม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [19 ก.พ. 2014].
9. ไทยรัฐออนไลน์. “โคกกระออมกับสรรพคุณน่ารู้”. (นายเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [19 ก.พ. 2014].
10. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โคกกระออม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [19 ก.พ. 2014].
11. สยามธุรกิจ. “หญ้าแมงหวี่ ขับปัสสาวะ-ลดความดัน-แก้หอบหืด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.siamturakij.com. [19 ก.พ. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.natureticabielli.it/
2.https://commons.wikimedia.org/