งัวเลีย
เป็นไม้พุ่มมีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ดอกสีเหลืองหรือมีสีเขียวปน ใบเดี่ยวเรียงสลับ ผลกลมสีเขียวเมื่อสุกจะเป็นสีแดง ผลขรุขระเนื้อสีเหลือง

งัวเลีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Capparis flavicans Kurz วงศ์ (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)[1]
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ งวงช้าง (อุดรธานี),งัวเลีย (ขอนแก่น),วัวเลีย (อุบลราชธานี), กระจิก (ภาคกลาง), ค้อนก้อง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กะอิด (ราชบุรี), ตะครอง (นครศรีธรรมราช),ไก่ให้ ไก่ไห้ (พิษณุโลก),ก่อทิง ก่อทิ้ง (ชัยภูมิ), กระโปรงแจง กะโปงแจง (สุโขทัย), หนามนมวัว โกโรโกโส หนามเกาะไก่ (นครราชสีมา)เป็นต้น[1]

ลักษณะของงัวเลีย

  • ต้น เป็นไม้พุ่ม มีความสูงราวๆ 2-10 เมตร เรือดยอดเป็นพุ่มทึบแผ่กว้างและแตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านสาขาแตกออกมาเรียวเล็ก มีหนามแหลมบริเวณกิ่งก้านและลำต้น ความยาว 1-3 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองรูปดาวขึ้นปกคลุมอยู่ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลอมเทาแตกเป็นร่องลึกและบางตามลำต้นแนวยาว ชอบอยู่ในดินหินในระดับต่ำหรือดินทราย พบขึ้นตามป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และป่าละเมาะ [1],[2],[3]
  • ดอก เป็นสีเหลืองหรือมีสีเขียวปน เป็นดอกเดี่ยว ดอกจะออกตามกิ่งอ่อนและซอกใบ มีกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ 4 กลีบ กว้างราวๆ 4-6 มิลลิเมตร และยาวราวๆ 8-9 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบกว้างราวๆ 4-5 มิลลิเมตรยาวราวๆ 5-8 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นบริเวณกลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอกอย่างหนาแน่น ก้านดอกยาว 1-3 เซนติเมตร เกสรตัวเมียมีก้านชูโค้งยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร มีรังไข่เป็นรูปไข่หรือรูปรี มีขนหนาแน่นบริเวณก้านชูตัวเมียและรังไข่ มีเกสรตัวผู้อยู่ 6-12 อันบริเวณกลางดอก มีสีออกเหลืองอมเขียว ดอกจะออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีใบเป็นรูปไข่ รูปรี หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด โคนใบมนเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ปลายใบมนหรือเว้าเป็นบุ๋ม ผิวใบส่วนบนมีสีเขียวเข้มและส่วนล่างเป็นสีขาวปกคลุม มีเนื้อบางที่หนาและนุ่ม มีเส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น ก้านใบยาว 3-4 มิลลิเมตร ใบมีขนาดกว้างราวๆ 1-2 เซนติเมตรและยาวราวๆ 1.5-3 เซนติเมตร[1],[2],[3]
  • ผล เป็นรูปมนรีเล็กน้อยหรือกลม เป็นผลสด ทั่วทั้งผลมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ ผลมีสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีแดงหรือส้มแดง เปลือกผลมีขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำและหนา มีสันนูนอยู่ 4 สัน ส่วนปลายเป็นติ่งแหลม ผลกว้างราวๆ 2.5-3.5 เซนติเมตรและยาวราวๆ 2.5-4 เซนติเมตร มีเนื้อสีเหลืองหุ้มเมล็ดอยู่ เมล็ดมีสีน้ำตาลยาว 6-8 มิลลิเมตร กว้าง 3-7 มิลลิเมตร ผลมักจะออกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]

ประโยชน์ของงัวเลีย

  • ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้เนื่องจากมีดอกที่สวยงามแปลกตา[2]
  • นำมาทำเป็นยาช่วยขับลมและแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้

สรรพคุณของงัวเลีย

  • ใบ หากทานเข้าไปจะสามารถช่วยในการขับน้ำนมของสตรีได้(ใบ)[1]
  • ใช้แก้อาการวิงเวียนศีรษะได้โดยการนำเนื้อไม้ดิบหรือตากแห้งมาบดเป็นผง จากนั้นทำให้เป็นควันและสูดดม(เนื้อไม้)[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “งัว เลีย”. หน้า 213-214.
2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กระจิก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [10 ม.ค. 2015].
3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ไก่ไห้”. อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [10 ม.ค. 2015].
4. https://medthai.com

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/
2. http://kplant.biodiv.tw/