สำโรง เปลือกของต้นใช้รักษาโรคไส้เลื่อน

0
1392
สำโรง
สำโรง เปลือกของต้นใช้รักษาโรคไส้เลื่อน เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง สีแดงเข้ม ไร้กลีบดอก ผลอ่อนมีสีเขียว และผลแก่สีแดงหรือสีส้ม ผิวผลเรียบแข็ง ผลแห้งสีน้ำตาลและแข็งเหมือนไม้
สำโรง
เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกเป็นช่อแยกแขนง สีแดงเข้มไร้กลีบดอก ผลอ่อนมีสีเขียว และผลแก่สีแดงหรือสีส้ม ผิวผลเรียบแข็ง ผลแห้งสีน้ำตาลและแข็งเหมือนไม้

สำโรง

สำโรง พบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าโปร่งทั่วไป และป่าเบญจพรรณ ชื่อสามัญ Pinari, Bastard poon[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia foetida L.จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ โหมโรง (ภาคใต้), มะโรง มะโหรง (ปัตตานี), จำมะโฮง (เชียงใหม่)เป็นต้น[1]

ลักษณะของสำโรง

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงราวๆ 15-20 เมตรและมีความสูงมากได้ถึง 30 เมตร ลำต้นตรงไม่คดงอ มีกิ่งก้านที่ขนาดใหญ่น้อยบริเวณส่วนลำต้นและลำต้นสูงชะลูด ทรงพุ่มโปร่ง เรือนยอดเป็นรูปไข่ไปจนถึงรูปทรงกระบอก กิ่งก้านแผ่ออกไปรอบๆตั้งฉากกับลำต้นเป็นระยะๆ ทรงพุ่มเป็นชั้นๆคล้ายฉัตร มีระยะห่างในแต่ละชั้นใกล้เคียงกัน กิ่งก้านจะแตกในความสูงตั้งแต่ 8-10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาอาจมีน้ำตาลปน มีลักษณะเรียบและค่อนข้างหนา เห็นร่องรอยแผลของก้านใบที่หลุดลอกรอบต้นได้ชัดเจน ลักษณะเป็นเส้นหยาบๆสีน้ำตาล โคนต้นแก่จะแตกเป็นพูพอนเล็กน้อย เนื้อไม้อ่อนค่อนข้างเหนียวและเป็นไม้หยาบ ใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์[1],[2],[4]
  • ใบ กางแผ่ออกจากจุดเดียว เป็นใบประกอบแบบฝ่ามือออกเรียงเวียนสลับ ใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนานหรือรูปรี ขอบใบเรียบ ปลายใบมีติ่งแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม มีใบย่อย 7-8 ใบ ใบยาวราวๆ 10-30 เซนติเมตรและกว้าง 3.5-6 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและเกลี้ยง ท้องใบและหลังใบเรียบ แต่ท้องใบจะมีสีที่อ่อนกว่า มีเส้นแขนงอยู่ในแต่ละใบข้างละ 17-21 เส้น ก้านใบยาวราวๆ 13-20 เซนติเมตร[1],[2],[4]
  • ดอก ออกบริเวณปลายกิ่ง เป็นดอกช่อแบบแยกแขนง มีดอกย่อยสีแดงเข้ม ไร้กลีบดอก มีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ ส่วนโคนติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม ปลายกลีบม้วนออกแยกเป็น 5 กลีบ โดยดอกที่บานเต็มที่จะมีขนาดราวๆ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกจะงอลงด้านล่าง มีเกสรตัวผู้ 12-14 อัน ก้านเกสรสั้นมากติดอยู่กับรังไข่ ดอกมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ช่อดอกจะออกไล่เลี่ยกับการผลิใบอ่อน ดอกจะออกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม [1],[2],[4]
  • ผล เป็นรูปทรงรีหรือรูปไต มีขั้วผลติดเป็นกระจุก 4-5 ผล มีติ่งแหลมบริเวณปลายผลออกเป็นพวกห้อยย้อยลงมา ผลอ่อนมีสีเขียว และผลแก่เป็นสีแดงหรือสีส้ม ผิวผลเรียบแข็ง มีขนาดยาว 8-10 เซนติเมตรและกว้าง 6-9 เซนติเมตร ผลแห้งจะแตกออกเป็น 2 ซีกตามร่องประสาน เปลือกของผลที่แห้งจะมีสีน้ำตาลและลักษณะแข็งเหมือนไม้ มีเมล็ดกลมรีสีดำอยู่ภายใน เมล็ดมีเนื้อในเป็นสีขาว ขนาดกว้างราวๆ 1.3 เซนติเมตร และยาวราวๆ 2.5 เซนติเมตร ใน 1 ผลจะมีเมล็ด 12-13 เมล็ด ผลจะออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[1],[2],[4]

ประโยชน์ของสำโรง

  • ผลมีรสเผ็ดหวานใช้ในการรับประทานได้ และน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดก็ใช้จุดไฟและใช้ปรุงอาหารต่างๆได้ [4]
  • ใช้เนื้อไม้ในการทำเป็นเครื่องเรือน ไม้อัด หีบใส่ของได้ เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อน และเปลือกก็ใช้ในการทำเชือกได้[4]
  • นำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้เนื่องจากต้นสำโรงมีรูปทรง ผล ใบ ที่สวยงาม โดยมักจะใช้ปลูกตามริมถนน โรงเรียน วัด จะให้ร่มเงาและความแปลกตาได้ แต่ไม่นิยมปลูกไว้บริเวณเขตที่พักอาศัยเนื่องจากดอกมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

สรรพคุณของสำโรง

1. เมล็ด ใช้ในการรักษาบาดแผลได้ (เมล็ด)[3],[3]
2. ใช้ผลและเปลือกผลมาปรุงเป็นยากินแก้โรคไตพิการได้ เนื่องจากมีรสฝาด (ผล,เปลือกผล)[1],[2]
3. เปลือกผลใช้ในการรักษาอาการปัสสาวะพิการได้[1],[2]
4. สามารถช่วยแก้อาการบวมน้ำได้โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำกิน(เปลือกต้น)[1],[2]
5. เปลือกผล แก้อาการลำไส้พิการได้ (เปลือกผล)[1],[2]
6. ผล ช่วยในการสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ อีกทั้งยังเป็นยาแก้ท้องร่วงได้(ผล)[1],[2],[3] และน้ำที่ได้จากผลยังเป็นยาสมานท้อง (น้ำจากเปลือกผล)[1]
7. ใช้ในการแก้กระหายน้ำได้ (เปลือกหุ้มเมล็ด)[3]
8. เปลือกต้นมีสรรพคุณในการแก้ลมและโลหิตพิการได้(เปลือกต้น)[2]
9. ใช้แก้โรคปวดข้อได้ โดยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำกิน(เปลือกต้น)[1],[2]
10. ใช้น้ำที่ได้จากเปลือกผล มารักษาโรคไตได้(น้ำจากเปลือกผล)[1]
11. ใช้เปลือกต้นในการรักษาโรคไส้เลื่อนได้ โดยนำเปลือกต้นมาฝนกับฝากระเบื้องดินเผา และผสมกับน้ำปูนใส โดยฝนจนเป็นน้ำข้น จากนั้นนำมาทาลูกอัณฑะบริเวณที่บวมได้ไม่นาน ติดต่อกัน 30 วันวันละหลายครั้งๆจะช่วยทำให้ถุงอัณฑะหดตัว(ตำรายาสมุนไพร หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า) (เปลือกต้น)[5]
12. เปลือกต้น ช่วยในการปัสสาวะได้ (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
13. เปลือกต้น,เมล็ดเป็นยาระบายอ่อน ๆ [1],[2],[3]
14. ใช้เปลือกต้น ในการแก้บิดปิดธาตุได้[1]
15. ใช้เปลือกช่วยในการละลายเสมหะได้[4]
16. เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยในการขับเหงื่อ[1],[2]
17. ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและอาจมได้ โดยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำกิน(เปลือกต้น)[1],[2]
18. ใบสามารถใช้เป็นยาระบายได้(ใบ)[1],[3]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สำโรง (Sam Rong)”. หน้า 303.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “สำโรง”. หน้า 183.
3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สำโรง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [12 มิ.ย. 2014].
4. พรรณไม้บริเวณสวนสมุนไพรสาธิต, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สำโรง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [12 มิ.ย. 2014].
5. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.cabidigitallibrary.org/
2. https://www.monaconatureencyclopedia.com/