สีเสียด เปลือกของต้นใช้เป็นยาแก้บิด

0
1392
สีเสียด เปลือกของต้นใช้เป็นยาแก้บิด เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ใบเรียบสีเขียวมีขน ดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล มีกลิ่นหอม ฝักแบนตรง
สีเสียด
เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ใบเรียบสีเขียวมีขน ดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล มีกลิ่นหอม ฝักแบน

สีเสียด

สีเสียด พบกระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียเช่น จีน อินเดีย และบริเวณ มหาสมุทรอินเดีย ผู้คนมักใช้มาทำเป็นยาโดยนำแก่นต้นมาสับแล้วต้มและเคี่ยว จากนั้นระเหยน้ำที่ต้ม จะได้ของแข็งเป็นก้อนสีน้ำตาลดำออกมา สามารถใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อเกิดอาการท้องร่วงได้ (Escherichia coli) ส่วนเมล็ดนั้นใช้เป็นแหล่งของโปรตีน ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia catechu จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (LEGUMINOSAE) ชื่อสามัญ Catechu tree, Cutch tree[1], Cutch, Black Catechu[6] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ สีเสียด สีเสียดไทย สีเสียดเหนือ สีเสียดเหลือง สีเสียดหลวง สีเสียดลาว และยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย

ลักษณะสีเสียด

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร กิ่งมีหนามเป็นคู่ ลำต้นมีเปลือกเป็นสีเทาดำ ผิวเปลือกมีความขรุขระสามารถลอกเปลือกผิวออกมาได้ เปลือกในเป็นสีแดง เป็นไม้กลางแจ้ง สามารถทนต่อแสงแดดและความแห้งแล้งได้ดีเติบโตได้ในดินทุกสภาพ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ต้องการน้ำในระดับปานกลางและไม่ชอบน้ำขัง พบขึ้นทั่วไปใน ป่าโปร่งภาคเหนือ ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ตามพื้นที่ราบและที่แห้งแล้งทั่วไป[1],[2],[3],[7]
  • ใบ ลักษณะรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบเบี้ยว แผ่นใบเรียบสีเขียวมีขนขึ้นประปราย ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดเล็กเป็นฝอยแบบเดียวกับใบกระถิน ใบออกตรงข้ามกัน 20 – 50 คู่ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-17 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้าน[1],[2],[3]
  • ดอก เป็นช่อแบบก้านธูปหรือรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กมีสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกย่อยมีจำนวนมากอัดกันแน่น รวมกันเป็นช่อยาวคล้ายหางกระรอก ไม่มีกลีบดอก กลีบรองดอกมีสีเขียวนวล มีกลีบที่ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตรอยู่ 5 กลีบติดกันที่ฐาน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเป็นเส้นเล็ก ๆ สีขาวก้านเกสรไม่ติดกัน[1],[2],[3] ดอกมักจะออกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[6]
  • ผล เป็นฝักแบนตรง กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ปลายและโคนของฝักเรียวแหลม ผิวมันเรียบ เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลดำและแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลเป็นมัน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปแบน เมล็ดภายในฝักมีประมาณ 3-7 เมล็ด (เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด จะมีน้ำหนักประมาณ 65 กรัม)[1],[2],[3],[9] จะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[6]
  • ก้อนสีเสียด คือยางที่ได้จากการนำแก่นต้น สับให้เป็นชิ้นๆ แล้วต้มและเคี่ยวจะได้ยางที่มีลักษณะเหนียวสีน้ำตาลดำ จากนั้นนำมาปั้นเป็นก้อน ทิ้งไว้จนแห้งแข็งเก็บไว้ใช้นำมาบดหรือต้มรับประทานเป็นยาได้ จะมีรสขมและฝาดจัด ไม่มีกลิ่น[1],[2],[8],[9]

ประโยชน์ของสีเสียด

1. สามารถนำไม้จากต้นมาใช้ทำเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมากๆได้ เช่น เสา คาน สะพาน หรือใช้ทำด้ามมีด ด้ามพร้าได้[7] อีกทั้งยังสามารถนำไม้มาทำเป็นถ่านสำหรับหุงอาหาร และเยื่อไม้สามารถเอามาทำแผ่นไม้อัดได้ด้วยแต่ต้องสกัดเอายางออกก่อน[9]
2. ทั้งต้น ใช้เลี้ยงครั่งได้ และใบใช้เป็นอาหารสัตว์ประเภท วัว ควายได้[9]
3. สามารถปลูกไว้เป็นไม้ประดับหรือเพื่อผลิตก้อนในการค้าได้ อินเดียและพม่าจะปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการค้าเป็นหลัก[9]
4. สามารถทำอุตสาหกรรมย้อมผ้าและฟอกหนังสัตว์ โดยการนำเปลือกต้นและก้อนยางมาใช้[2],[6]
โดยแก่นจะให้สีน้ำตาล ที่สามารถนำมาใช้ย้อมผ้า แห อวน และหนังได้ สามารถย้อมสีเส้นไหมจากการใช้เปลือกต้นมาทำ โดยนำมาสับเป็นชิ้นๆ ต้มสกัดสีกับน้ำในอัตราส่วน 1:2 (เปลือก 15 กก. ย้อมเส้นไหมได้ 1 กก.) ต้มนาน 1 ชั่วโมง และนำมาย้อมร้อน สุดท้ายนำเส้นไหมมาแช่ในสารละลายสารช่วยติดสี จุนสี และสารส้ม ก็จะได้เส้นไหมที่มีสีน้ำตาล (สีที่ได้จะไม่อ่อนลงหากนำไปซัก และไม่ทนต่อแสงมาก)[5]
5. สามารถใช้แก่นไม้มาเคี้ยวกินกับหมาก โดยชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่มักจะทำกัน[9]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สามารถใช้สารสกัดมาเป็นยาบำรุงและรักษาโรคข้อได้ โดยส่วนผสมของสารสกัดมี baicalin จาก Scutellaria baicalensis และ (+)-catechin และ epicatechin อยู่ โดยจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเลือดของคนที่มีสุขภาพดีที่ได้รับสารสกัดนี้เมื่อเทียบกับยาที่ใช้รักษาโรคเดียวกัน[10]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำมีฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli สารสกัดด้วยเมทานอลออกฤทธิ์ยับยั้ง Salmonella typhi สายพันธุ์ที่ดื้อยาได้ปานกลาง มีข้อมูลพบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 0.2 กรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ B. subtilis และ S. typhimurium ได้ปานกลาง ส่วนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์หรืออะซีโตนจากลำต้นที่ความเข้มข้น £ 1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ B. subtilis, E. coli และ Salmonella typhimurium[10]
  • มีสารกลุ่มแทนนินที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ฤทธิ์ต้านเชื้อบิด มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านออกซิเดชัน ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ และต้านการก่อกลายพันธุ์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อเกิดอาการท้องร่วง (Escherichia coli)[8]
  • ทั้งต้นมีสาร Epicatechin, ใบมีสาร -(+)-Chatechin, Isoacacatechol, Tannins isoacacatechol acetate, เปลือกต้นพบสารจำพวก Catechol, Gallic acid, Tannin, แก่นมีสาร Catechin, Dicatechin, 3′ ,4′ ,7′ , -Tri-O-methyl catechin, 3′ ,4′ ,5 , 5′ , 7-sPenta-O-methyl gallocatechin[3],[4]
  • การทดลองความเป็นพิษในสัตว์ทดลองเทียบกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง ไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติ และไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน แต่การฉีดสารสกัดจากลำต้นด้วยแอลกอฮอล์กับน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่ามีความเป็นพิษ[10]
  • สารสกัดยางด้วยคลอโรฟอร์มเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้ ในขณะที่สารสกัดด้วยน้ำเข้มข้น 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อ B. subtilisได้ สารสกัดจากยางด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร[10]
  • สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus สายพันธุ์ ATCC 25923 และสายพันธุ์ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ methicillin (MRSA) ได้ดี โดยการใช้สารสกัดจากเนื้อไม้ด้วยน้ำและด้วยแอลกอฮอล์[10]
  • องค์ประกอบทางเคมีของสารในกลุ่ม tannins เช่น epigallocatechin-3-O-gallate, catecchin,acacatechin 2-10%, catechu red, epicatechin, catechutannic acid 20-35%, epicatechin-3-O-gallate, protocatechu tannins, phlobatannin, pyrogallic tannins และสารในกลุ่ม flavonoids เช่น fisetin flavanol dimers , quercetagetin, quercetin [8]

สรรพคุณของสีเสียด

1. สามารถช่วยป้องกันปูนกัดปากได้ โดยใช้ใส่ปูนที่จะรับประทานกับหมากและพลู[6]
2. มีสรรพคุณในการช่วยรักษาแผลที่น้ำกัดเท้าได้ โดยใช้ก้อนยางมาฝนกับน้ำให้ข้นหรือใช้ผงผสมกับน้ำมันพืชทาบริเวณแผล (ก้อนยาง)[6] และเมล็ดก็สามารถนำมาฝนทารักษาแผลน้ำกัดเท้าได้เช่นกัน (เมล็ด)[4]
3. สามารถรักษาโรคผิวหนังได้โดย ใช้เป็นยาทาภายนอก (แก่น, ก้อนยาง)[1],[2]
4. ผงนำมาละลายกับน้ำใช้ใส่แผลสดสามารถเป็นยาห้ามเลือดได้ (ผง)[6],[9]
5. ใช้เป็นยาแก้บิดได้โดยการนำเปลือกต้นผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ (เปลือกต้น)[1],[3],[4]
6. มีสรรพคุณในการช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบได้(ก้อนยาง)[8]
7. ช่วยรักษาแผลในลำคอ และใช้รักษาเหงือก ลิ้น และฟันได้ (ก้อนยาง)[7],[9]
8. สามารถใช้เป็นยาแก้อาการไอ แก้ไข้จับสั่นได้(ก้อนยาง)[7]
9. ใช้ปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการได้ โดยการนำเปลือกต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น (เปลือกต้น)[3] สามารถใช้เป็นยาบำรุงธาตุและแก้อติสารได้ (ก้อนยาง)[9]
10. มีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อได้ เช่นท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้และการอุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน (ก้อนยาง)[8]
11. สามารถใช้เป็นยาระงับเชื้อได้โดยการนำเปลือกต้นนำมาต้มใช้น้ำที่ต้มเป็นยาระงับเชื้อ หรือจะใช้ก้อนมาบดหรือต้มเป็นยาทาก็ได้(เปลือกต้น, ก้อนยาง)[9]
12. ใช้เป็นยาทาแก้โรคหิดได้ โดยการนำเมล็ดที่อยู่ในฝักมาฝนทา(เมล็ด)[3],[4]
13. ใช้เปลือกต้นเป็นยาชะล้างบาดแผล ล้างแผลหัวนมแตก แก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง แผลหัวแตก เป็นยาสมานแผลได้(เปลือกต้น)[1],[3],[4] ส่วนแก่นใช้เป็นยารักษาบาดแผล (แก่น)[1],[2] อีกทั้งก้อนยางสามารถนำมาใช้เป็นยาทา สมานบาดแผล หรือรักษาบาดแผล ล้างแผลที่ถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็วได้เช่นกัน (ก้อนยาง)[1],[3],[8]
14. สามารถใช้ในการรักษาโรคริดสีดวงได้ (ก้อนยาง)[8]
15. ใช้กินเป็นยาแก้ท้องร่วงได้ ส่วนแก่นมีสารแทนนินทำให้มีฤทธิ์ฝาดสมาน (แก่น, เปลือกต้น, ก้อนยาง)[1],[2],[3] มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรงได้ โดยการใช้ส่วนเปลือกต้นมาทำ(เปลือกต้น)[1]
16. การใช้ก้อนมาบดให้เป็นผงประมาณ 1/3-1/2 ช้อนชาแล้วต้มเอาน้ำดื่มให้หมดใน 1 ครั้ง ดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร จะทำให้เป็นยาแก้อาการท้องเดินได้ ส่วนเปลือกต้นก็สามารถแก้ท้องเดินได้เช่นเดียวกัน (ก้อนยาง, เปลือกต้น)[3],[4],[8] ถ้าท้องเดินมากให้ใช้ผงผสมกับผงอบเชย อย่างละเท่ากันมา 1 กรัมแล้วนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมงรับประทานครั้งละ 4 ช้อนแกง วันละ 3 ครั้ง (ผง)[6]
17. สามารถช่วยห้ามเลือดที่ออกจากจมูก แก้ปากที่เป็นแผล หรืออาการเจ็บที่มีเลือดออกได้(ก้อนยาง)[8],[9]
18. สามารถปิดธาตุ คุมธาตุ แก้อาการลงแดงได้ โดยใช้ก้อนยางและเปลือกต้นมาทำ(เปลือกต้น, ก้อนยาง)[1]
19. สามารถแก้บิดมูกเลือดได้ (ก้อนยาง)[1]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สี เสียด เหนือ (Sisiad Nuea)”. หน้า 305.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สี เสียด เหนือ Catechu Tree / Cutch Tree”. หน้า 32.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สีเสียดเหนือ”. หน้า 784-785.
4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สี เสียด เหนือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [08 ต.ค. 2014].
5. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม. “สี เสียด เหนือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : qsds.go.th/webtreecolor/. [08 ต.ค. 2014].
6. ไทยเกษตรศาสตร์. “สีเสียดเหนือมีประโยชน์อย่างไร”. อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [08 ต.ค. 2014].
7. พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “สี เสียด แก่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th. [08 ต.ค. 2014].
8. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สี เสียด ไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [08 ต.ค. 2014].
9. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สี เสียด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [08 ต.ค. 2014].
10. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สี เสียด”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [08 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://indiabiodiversity.org/
2. https://www.flickr.com/
3. https://medthai.com/