หวดหม่อน

หวดหม่อน

หวดหม่อน เป็นพืชในวงศ์ส้มที่เป็นไม้พุ่มสูง พบตามป่าดงดิบและป่าละเมาะ ในหมู่ชาวเขานิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ชาวไทใหญ่ ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ ลีซอ ชาวม้ง ชาวกะเหรี่ยง ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี และตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร ต้นมีรสหอมร้อน ดอกมีรสร้อน เปลือกต้นมีกลิ่นหอมและรสร้อน ผลมีรสเปรี้ยวร้อน ค่อนข้างที่จะเป็นยาร้อนต่อร่างกาย ทำให้ดีต่อระบบเลือดลมเป็นอย่างมาก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหวดหม่อน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clausena excavata Burm.f.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สีสม หมอน้อย หวดหม่อน” ภาคเหนือเรียกว่า “เพี้ยฟาน หญ้าสาบฮิ้น หมี่” ภาคอีสานเรียกว่า “หัสคุณเทศ สมัดน้อย สมัดขาว” ภาคใต้เรียกว่า “มะหลุย” จังหวัดเพชรบูรณ์เรียกว่า “สมัดใหญ่ สมัดใบใหญ่ หัสคุณโคก” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ขี้ผึ้ง แสนโศก” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “ยม รุ้ย” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “สามโสก” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “หัสคุณ อ้อยช้าง” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ชะมัด” จังหวัดชลบุรีเรียกว่า “สามเสือ” จังหวัดยะลาเรียกว่า “สำรุย” ชาวเขมรเรียกว่า “กันโทร๊ก” ชาวม้งเรียกว่า “เต็งละ” ชาวขมุเรียกว่า “ระยอลร์” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เส่เนอซี” คนเมืองเรียกว่า “ขี้ฮอก เพี้ยฟาน เหมือดหม่น เฮือดหม่อน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “มุ่น ไม้หมี สามโซก หมุยขาว หมุยหอม หอมพาน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ส้ม (RUTACEAE)

ลักษณะของหวดหม่อน

ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมากแบบไม่เป็นระเบียบ ตามกิ่งก้านมีขนสั้นที่บริเวณปลายกิ่ง
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวเรียบ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 15 – 30 ใบ ปลายช่อเป็นใบเดี่ยว ก้านใบย่อยเป็นสีเขียว ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน รูปเคียว รูปไข่ รูปวงรี หรือรูปใบหอก เห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยวด้านหนึ่งสอบเป็นรูปลิ่ม อีกด้านโค้งมน ขอบใบเรียบหรืออาจมีซี่จักเล็กน้อย ใบมีขนนุ่มสีน้ำตาล
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง มักจะออกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก วงกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก กลีบดอกมี 4 – 5 กลีบ เป็นรูปไข่แกมขอบขนาน มีสีขาวแกมเหลือง หรือสีขาวปนเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน มักจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
ผล : เป็นผลสดรูปกระสวย เป็นรูปกลม รูปวงรี หรือรูปไข่ยาว ขนาดเล็ก ผิวผลใสฉ่ำน้ำ ผิวเกลี้ยงหรืออาจมีขนละเอียดบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียวปนเหลือง ผลแก่เป็นสีส้มอมชมพูหรือสีแดง ภายในผลมีเมล็ดมาก

สรรพคุณของหวดหม่อน

  • สรรพคุณ เป็นยาแก้ผอมแห้ง แก้หืดไอ ขับลมในท้อง แก้ริดสีดวง ช่วยขับเลือดและหนองให้ตก
  • สรรพคุณจากราก แก้ไข้ ช่วยกระจายเลือดลม แก้แน่น เป็นยาขับพยาธิ รักษาริดสีดวง ช่วยขับเลือดและหนองให้ตก เป็นยาพอกแผล แก้โรคผิวหนัง แก้คุดทะราด
    – บำรุงกำลัง โดยชาวไทใหญ่นำรากมาต้มกินเป็นยา
    – แก้โรคงูสวัด โดยตำรับยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีนำรากมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้พิษงู ด้วยการนำรากและเหง้ามาบดผสมกับแอลกอฮอล์เล็กน้อย ใช้ปิดตรงบริเวณที่ถูกงูกัด
  • สรรพคุณจากใบ แก้ไข้ รมแก้ริดสีดวงจมูก ช่วยแก้หืดไอ เป็นยาแก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย ช่วยกระจายเลือดลมให้เดินสะดวก ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต แก้ขัดยอก แก้เสียดแทง
    – รักษาไข้มาลาเรีย รักษาวัณโรค เป็นยาแก้พิษ โดยชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ และลีซอ นำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้ไข้มาลาเรีย โดยชาวม้งนำใบมาตำและผสมกับใบของสมุนไพรอื่น เช่น ส้มโอ เครือเขาดำ ท้อ แล้วนำผ้ารัดที่ข้อมือด้านหนึ่งและข้อเท้าอีกด้านหนึ่ง
    – รักษาแผลสด รักษาแผลถลอก ช่วยห้ามเลือด แก้อาการอักเสบบวมอันเกิดจากไฟ แก้ผื่นคัน ฆ่าหิด ฆ่าเหา แก้ข้อเคล็ด ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
    – ช่วยแก้แผลเปื่อย แก้แผลอันเกิดจากอาการคันและเกา ช่วยแก้โรคผิวหนัง แก้อาการคัน ช่วยฆ่าเชื้อโรค ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำอาบ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาแก้ไอ
    – รักษาไข้มาลาเรีย รักษาวัณโรค เป็นยาแก้พิษ โดยชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ และลีซอ นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้อาการวิงเวียนศีรษะ โดยชาวกะเหรี่ยงนำทั้งต้นมาต้มอาบ
    – แก้อาการปวดฟัน โดยตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำกลั้วปาก
    – แก้ผื่นคัน โดยคนเมืองนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ
  • สรรพคุณจากลำต้นและใบ แก้พิษ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น รมแก้ริดสีดวงจมูก เป็นยาแก้โลหิตในลำคอและลำไส้ให้กระจาย
  • สรรพคุณจากกิ่งและใบ
    – แก้ไข้ยามไม่สบายหลังจากคลอดลูก โดยชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน นำกิ่งและใบมาต้มกับน้ำอาบหรือใช้อบตัว
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้เสมหะให้ตก
  • สรรพคุณจากกระพี้และแก่น เป็นยาแก้โลหิตในลำไส้ เป็นยาช่วยขับลมภายใน เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน
  • สรรพคุณจากยอดอ่อน เป็นยาแก้อาการท้องผูก
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาฆ่าพยาธิอันบังเกิดแต่ไส้ด้วนและไส้ลาม เป็นยาถ่าย

ประโยชน์ของหวดหม่อน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนทานร่วมกับขนมจีน น้ำพริก ลาบ แกงหน่อไม้
2. ใช้ในการเกษตร ลำต้นและใบนำมาเผารมควันตามเล้าไก่เพื่อกำจัดไรไก่ ใบไปใส่ไว้ในรังไข่จะช่วยไล่ไรไก่ ชาวเขาเผ่าลีซอจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำอาบให้ไก่เพื่อกำจัดไรไก่
3. เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร เป็นส่วนประกอบของสมุนไพร “สันโศก”

หวดหม่อน เป็นต้นที่นิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรกันอย่างแพร่หลายมาก โดยเฉพาะชาวเขา อีกทั้งยังมีการนำมาทำเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งต้นคาดว่าน่าจะเป็นยาร้อน มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ริดสีดวง ช่วยกระจายเลือดลม เป็นยาพอกแผล ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ไข้ได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หวดหม่อน”. หน้า 71.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สมัดใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [26 ก.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Clausena excavata Burm.f.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [26 ก.ย. 2014].
ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สันโศก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/. [26 ก.ย. 2014].
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “มุ่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [26 ก.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สันโสก, เพี้ยฟาน”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [26 ก.ย. 2014].
มูลนิธิชีววิถี. “วิจัยสมุนไพรสันโศก ห่วงสิทธิบัตร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.biothai.net. [26 ก.ย. 2014].
รองศาสตราจารย์ ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ และคณะ หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
1.https://www.picturethisai.com/es/wiki/Clausena.html
2.https://www.inaturalist.org/taxa/345598-Clausena-excavata