สตรอเบอรี่ป่า
ชื่อสามัญ Snake Strawberry ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Duchesnea indica (Jacks.) Focke (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Duchesnea indica var. indica) อยู่วงศ์กุหลาบ (ROSACEAE) ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เสอเหมย (จีนกลาง), จั่วม่วย (จีนแต้จิ๋ว), ยาเย็น (เชียงใหม่), ฮ่วยเสี่ยเถาเช่า (จีนแต้จิ๋ว), จั่วผู่ท้อ(จีนแต้จิ๋ว)
ลักษณะของสตรอเบอรี่ป่า
- ต้น เป็นไม้เลื้อยคลุมดิน เหง้าอยู่ใต้ดิน ไหลหรือลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาเลื้อยทอดตามพื้นดิน สามารถเลื้อยยาวได้ประมาณ 1 เมตร ข้อสั้น ที่ตามข้อต้นจะมีราก ลำต้นสูงได้ประมาณ 8-15 เซนติเมตร อาจจะมีขนสั้นหรือขนยาวขึ้นคลุมต้น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การแยกไหล (ตัดไหลที่มีรากชำลงดินที่ผสมขุยมะพร้าว) โตได้ดีและเร็วที่ในดินร่วนซุย ที่ชื้นปานกลาง เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบอากาศเย็น
- ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เป็นก้านใบแบบประกอบสามารถยาวได้ประมาณ 5-8 เซนติเมตร หนึ่งก้านใบมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ออกใบเรียงสลับ ใบย่อยเป็นรูปมนรี ที่ปลายใบจุมน ส่วนที่โคนใบจะเรียวเล็กถึงก้านใบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบกว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว มีความยาวประมาณ 0.5-1.5 นิ้ว แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียว ที่ด้านล่างมีจะขนสั้นเป็นสีขาวขึ้นคลุมอยู่ ที่ด้านบนจะไม่ค่อยมีขน
- ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตามซอกใบ ส่วนใหญ่ก้านช่อดอกจะยาวกว่าก้านใบ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5.5 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะเป็นสีเหลือง มีกลีบดอกอยู่ 3-5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ จะซ้อนเป็น 2 ชั้น ดอกที่บานเต็มที่มีขนาดประมาณ 12-15 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นกลีบแหลมพุ่งออก มีกลีบเลี้ยงดอกประมาณ 3-5 กลีบ มีขนขึ้นคลุมบาง ๆ มีเกสรเพศผู้เยอะมาก[1],[3]
- ผล ติดรวมเป็นกลุ่ม มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมยาวแบน ฉ่ำน้ำ ผลเป็นลูกเล็ก ผลสุกเป็นสีแดงสด ผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร หุ้มด้วยกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวหรือฐานรองดอกที่ขยายเป็นรูปทรงกลม ฉ่ำน้ำ
สรรพคุณ และประโยชน์สตรอเบอรี่ป่า
1. สามารถช่วยแก้บวมได้ (ใบ, ก้าน)[3]
2. ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำทั้งต้น มาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้ปวดเอว แก้ปวดหลัง (ทั้งต้น)[2]
3. สามารถช่วยรักษาแผลมีหนองเรื้อรัง แผลพองมีหนอง โดยนำใบกับก้านสดมาตุ๋นกับเนื้อวัวกิน และนำมาตำใช้พอกตรงบริเวณที่เป็นแผล (ใบ, ก้าน)[1]
4. ผลสุกมีพิษห้ามทาน สามารถใช้ทาแก้โรคผิวหนังได้ (ผล)[3]
5. สามารถช่วยรักษาพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษจากงูกัดได้ โดยนำต้นสดมาตำ ใช้พอกตรงบริเวณที่โดนกัด (ใบ, ก้าน)[1],[3]
6. สามารถช่วยแก้สตรีที่มีประจำเดือนมาเยอะได้ (ใบและก้าน)[3]
7. สามารถถ่ายเป็นมูกเลือด แก้บิดได้ โดยนำใบกับก้านสด 30 กรัม มาต้มกับน้ำทาน (ใบและก้าน)[1]
8. ใบกับก้านมีพิษเล็กน้อย สามารถใช้เป็นยารักษาแผลที่ปากเพราะร้อนในได้ โดยนำใบกับก้านสดมาคั้นเอาน้ำให้ได้ 1 แก้ว เอาไปต้มให้เหลือครึ่งแก้ว ใช้ทานเป็นยา (ใบและก้าน)[1]
9. ถ้าเด็กที่อายุ 10 ปีขึ้นไป เป็นโรคคอตีบ โดยนำใบกับก้านสด 250 กรัม มาตำผสมน้ำเย็น นำมาคั้นเอาน้ำผสมน้ำตาล ค่อยทานให้หมดภายใน 1 วัน (ใบ, ก้าน)[1]
10. ในตำรับยาแก้คอตีบ คอเจ็บ คออักเสบ นำต้นสดมาตำให้แหลกแช่ในน้ำสะอาด (ใช้น้ำสองเท่าของปริมาณยา) ทิ้งเอาไว้เป็นเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง เอามากรองเอาน้ำผสมน้ำตาลนิดหน่อย แบ่งทานวันละ 4 ครั้ง ถ้าเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ ในการทานครั้งแรกให้ทานเพียง 50 ซีซี ครั้งถัดไปให้ทานครั้งละ 30 ซีซี ถ้าเป็นเด็กที่อายุ 6-10 ขวบ ในการทานครั้งแรกให้ทานครั้งละ 100 ซีซี ครั้งถัดไปให้ทานครั้งละ 60 ซีซี (ใบ, ก้าน)[3]
11. สามารถช่วยแก้เด็กที่มีไข้สูง มีอาการชักได้ (ใบและก้าน)[3]
12. ทั้งต้น มีรสชุ่มเปรี้ยว ขมนิดหน่อย เป็นยาเย็น มีพิษแต่ไม่เยอะ จะออกฤทธิ์กับปอด ม้าม สามารถใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน ทำให้เลือดเย็นได้ (ก้าน, ใบ)[3]
13. ถ้าเป็นฝีเนื้อร้าย มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร ให้นำใบกับก้านสด, มาผสมปาล์มจีน, ปั้วกีน้อย อย่างละ 30 กรัม มาต้มทานเป็นยา (ใบและก้าน)[1]
14. สามารถช่วยรักษาแผลที่โดนความร้อนแล้วยังไม่มีหนองได้ โดยนำใบกับก้านสดมาผสมพิมเสนนิดหน่อย แล้วนำมาตำใช้พอกตรงบริเวณแผล (ใบ, ก้าน)[1]
15. สามารถช่วยรักษาแผลไฟไหม้ แผลโดนน้ำร้อนลวกได้ (ใบ, ก้าน)[3]
16. สามารถช่วยรักษาตับอักเสบ รักษาตับอักเสบแบบตัวเหลืองได้ (ใบและก้าน)[1],[3]
17. สามารถช่วยรักษาโรคงูสวัด ผิวหนังผดผื่นคัน ฝีมีหนองได้ (ใบ, ก้าน)[3]
18. นำต้นสดประมาณ 50-100 กรัม มาต้มกับน้ำทาน สามารถช่วยแก้บิดอะมีบา แก้บิดติดเชื้อได้ (ใบ, ก้าน)[3]
19. สามารถช่วยรักษาเยื่อตาอักเสบได้ (ใบ, ก้าน)[1]
20. ถ้ามีอาการไอ อาเจียนเป็นเลือด หรือกระอักเลือด ให้นำใบกับก้านสดประมาณ 60-90 กรัม มาตำคั้นเอาน้ำ 1 แก้ว นำมาผสมน้ำตาลกรวดนิดหน่อย แล้วต้มทานเป็นยา (ใบ, ก้าน)[1]
21. สามารถช่วยแก้คางทูมได้ (ใบ, ก้าน)[3]
22. ถ้ามีอาการคอเจ็บ ไอ ให้นำใบกับก้านสดประมาณ 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำทานหรืออมกลั้วคอ (ใบ, ก้าน)[1]
23. สามารถช่วยรักษาไข้หวัด ไอหวัด มีไข้สูง โดยนำใบกับก้านสดประมาณ 15-25 กรัม มาต้มกับน้ำทานวันละ 2 ครั้ง (ใบ, ก้าน)[1],[3]
24. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีดอก ใบ ผลดูสวยงาม แต่ไม่นิยมทานผล เนื่องจากมีรสจืด แต่นกชอบกิน
ข้อควรระวังในการใช้
- ห้ามทานผลสุกเพราะมีพิษ [3]
- ห้ามให้สตรีที่มีครรภ์ ผู้ที่ร่างกายอ่อนเพลีย ร่างกายพร่องทาน[1]
ข้อมูลทาเภสัชวิทยา
- น้ำต้นสดคั้น จะมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อบิด, เชื้อ Staphelo coccus, เชื้อไทฟอยด์ได้, เชื้อคอตีบ [3]
- เมล็ด มีน้ำมัน น้ำมันประกอบด้วยกรดไขมันหลัก ก็คือ nonsaponification fat ที่ประกอบด้วยสารจำพวก sterol, alcohol, hydrocarbon มี Beta-sitosterol เป็นหลัก โดยมีปริมาณ 89.5% ของประมาณ Sterols ทั้งหมด และมี Linoleic acid 53.1%[1],[3]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สตรอเบอรี่ป่า”. หน้า 740-742.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สตรอเบอรี่ป่า”. หน้า 98.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สตรอเบอรี่ป่า”. หน้า 540.
อ้างอิงรูปจาก
1. https://blog.naver.com/PostView.nhn?blogId=anpi9&logNo=221276982337
2. https://01065622234.tistory.com/128