ต้นขี้ครอก สรรพคุณที่เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้

0
1329
ขี้ครอก
ต้นขี้ครอก สรรพคุณที่เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ เป็นไม้พุ่มมีขนาดเล็ก ดอกเดี่ยวเป็นสีชมพู ผลกลมแป้นมีขน เมล็ดเป็นรูปไตและเป็นสีน้ำตาล
ขี้ครอก
เป็นไม้พุ่มมีขนาดเล็ก ดอกเดี่ยวเป็นสีชมพู ผลกลมแป้นมีขน เมล็ดเป็นรูปไตและเป็นสีน้ำตาล

ขี้ครอก

ชื่อสามัญ Jute africain, Caesar weed, Hibiscus burr [5] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Urena lobata L. อยู่วงศ์ชบา (MALVACEAE)[1],[2] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ซัวโบ๋เท้า (จีน), ปูลุ (มลายู, จังหวัดนราธิวาส), บอเทอ (กะเหรี่ยง, จังหวัดแม่ฮ่องสอน), ปูลู (ภาคใต้), เส็ง (ภาคใต้), ขี้ครอก (ภาคกลาง), หญ้าอียู (ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ปอเส้ง (จังหวัดปัตตานี), ขี้หมู (จังหวัดนครราชสีมา), ตี้เถาฮวา (จีนกลาง), ทอมทัก (ลั้วะ), ชบาป่า (จังหวัดน่าน), ปะเทาะ (กะเหรี่ยง, จังหวัดแม่ฮ่องสอน), หญ้าหัวยุ่ง (ชาน, จังหวัดแม่ฮ่องสอน), เส้ง (ภาคใต้), ปอเส็ง (ภาคใต้), ขี้คาก (ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ขมงดง (จังหวัดสุโขทัย), หญ้าผมยุ่ง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) [1],[2],[3],[5]

ลักษณะของต้นขี้ครอก

  • ลักษณะของต้น เป็นพรรณไม้พุ่ม มีขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สามารถสูงได้ถึงประมาณ 0.5-2 เมตร มีเปลือกที่เหนียว ลำต้นมีลักษณะเป็นสีเขียวแกมสีเทา ที่ตามลำต้นกับกิ่งก้านจะมีขนเป็นรูปดาวขึ้นอยู่ [1],[5] ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย จะชอบที่มีความชื้นปานกลาง มีแสงแดดแบบเต็มวัน มักจะขึ้นที่ตามป่าราบ ที่ลุ่มรกร้าง จะปลูกกันเยอะตามสวนยาจีน[2]
  • ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบที่โคนต้นจะค่อนข้างกลม ใบกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ที่ปลายใบจะแยกเป็น 3 แฉกตื้น ส่วนที่โคนใบจะกลมหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ที่ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบที่อยู่กึ่งกลางลำต้นจะเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ 3-6.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ส่วนใบที่อยู่ตรงยอดหรือส่วนที่ใกล้ยอดมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวจนถึงรูปใบหอก กว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร จะมีขนนุ่มขึ้นที่ผิวใบด้านบน ผิวใบด้านล่างจะมีขนรูปดาวเป็นสีขาวอมสีเทา ส่วนที่ท้องใบด้านล่างจะเป็นสีที่อ่อนกว่าหลังด้านบนใบ มีเส้นใบอยู่ประมาณ 3-7 เส้น ก้านใบมีความยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร จะมีขนลักษณะเป็นรูปดาวสีขาวอมสีเทา มีหูใบลักษณะคล้ายกับเส้นด้าย หูใบร่วงง่าย มีความยาวได้ถึงประมาณ 2 มิลลิเมตร [1],[3],[4]
  • ลักษณะของดอก เป็นเดี่ยวมีลักษณะเป็นรูปไข่กลม มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หรือออกดอกเป็นกระจุกที่ตามซอกใบประมาณ 2-3 ดอก ริ้วประดับจะติดเป็นรูประฆัง ที่ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนาดสั้นกว่าริ้วประดับ ทั้งมีขนรูปดาวขึ้นที่กลีบเลี้ยงกับริ้วประดับ มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีชมพู เป็นรูปไข่กลับ มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ที่ด้านนอกจะมีขนลักษณะเป็นรูปดาวขึ้น ที่ตรงกลางดอกมีลักษณะเป็นสีชมพูเข้มจนถึงสีแดง มีเกสรเพศผู้อยู่ที่กลางดอกเป็นจำนวนมาก จะติดเป็นหลอดมีความยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร มีลักษณะเกลี้ยง มีอับเรณูเป็นจำนวนมากติดอยู่ที่รอบ ๆ หลอด รังไข่จะอยู่ที่เหนือวงกลีบ จะอยู่ด้านในหลอดเกสรเพศผู้ มีช่องอยู่ 5 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนอยู่ 1 หน่วย มีเกสรเพศเมียเป็นรูปทรงกระบอก มีก้านที่เรียวและเล็ก มีความยาวพ้นหลอดเกสรเพศผู้ จะแตกออกเป็นแฉก 10 แฉก มีขนแข็งประปราย ดอกบานจะกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนอยู่[1],[3],[4],[5]
  • ลักษณะของผล เป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น จะมีขนขึ้นเป็นรูปดาว ผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีหนามแข็งสั้นหัวลูกศรอยู่ที่ผิวผล จะมีน้ำที่เหนียว ๆ ติด ผลแห้งจะสามารถแตกออกได้เป็น 5 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปไตและเป็นสีน้ำตาล กว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร[1],[3],[4],[5]
  • การป้องกันและการกำจัด ให้ใช้วิธีการเขตกรรม ด้วยการถากหรือตัดเพื่อให้สั้นลงและไม่ให้ดอกออก หรือจะขุดทิ้งก็ได้ และใช้สารเคมี อย่างเช่น ไกลโพเซต 16, อามีทรีน, โดเรมี, ทัชดาวน์ [5]

สรรพคุณ และประโยชน์ขี้ครอก

1. ต้น ราก และใบสามารถใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายที่เกิดจากลมชื้นเข้าแทรกได้ (ต้น, ราก, ใบ)[3]
2. สามารถนำทั้งต้นมาตำพอกใช้แก้ฝีเท้านม แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้พิษงู แก้ฝีได้ (ทั้งต้น)[3]
3. สามารถนำต้นกับใบมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้พิษน้ำเหลืองเสีย แก้ไตพิการได้ [1],[2],[3]
4. สามารถนำต้น ราก และใบมาใช้เป็นยาแก้มุตกิด แก้ตกขาวของสตรีได้ (ต้น, ราก, ใบ)[3]
5. สามารถนำต้น ราก และใบมาใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดตัวร้อน และรักษาอาการไอเป็นเลือดได้ (ต้น, ราก,ใบ)[3]
6. สามารถทานรากเป็นยาเย็นได้ จะมีสรรพคุณที่เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ทั้งปวงได้ (ราก)[1],[2],[3]
7. สามารถนำรากมาใช้เป็นยาพอกแก้โรคปวดข้อได้ (ราก)[4]
8. สามารถนำต้น ราก และใบมาใช้เป็นยาขับลมชื้นในร่างกายได้ (ต้น, ราก, ใบ)[3]
9. สามารถนำทั้งต้นมาตำใช้พอกเป็นยาช่วยสมานแผลสด และยาห้ามเลือดได้ (ทั้งต้น)[3]
10. ในตำรายาพื้นบ้านจะนำรากมาผสมสมุนไพรอื่น อย่างเช่น รากพญาดง ในปริมาณที่เท่ากัน มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก แล้วเอามาต้มเคี่ยว สามารถใช้ดื่มแก้หนองในได้ (ราก)[1]
11. สามารถนำต้น ราก และใบมาใช้เป็นยาแก้นิ่วได้ (ต้น, ราก, ใบ)[3]
12. ในตำรายาไทยจะนำใบมาต้มกับน้ำจิบดับพิษเสมหะ แก้ไอ ขับเสมหะ (ใบ)[1],[2],[3] สามารถใช้เป็นยาแก้บิด และรักษาโรคบิดเฉียบพลันได้ โดยนำรากสด 500 กรัม ไปล้างให้สะอาด แล้วนำมาหั่นให้เป็นแว่น มาต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี ให้ต้มน้ำจนเหลือ 500 ซีซี นำมาใช้แบ่งทาน สำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบ ให้ทานวันละ 80 ซีซี สำหรับเด็กอายุ 4-9 ปี ให้ทานวันละ 200 ซีซี สำหรับเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป ให้ทานวันละ 250 ซีซี ให้แบ่งทานวันละ 2 ครั้ง (ราก)[3]
13. สามารถนำต้น ราก และใบมาใช้เป็นยากระจายเลือดลมได้ (ต้น, ราก, ใบ)[3]
14. สามารถนำต้นกับใบมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะได้ (ต้นและใบ, ทั้งต้น)[1],[2]
15. ชาวลั้วะจะนำลำต้นของขี้มาทำเป็นไม้กวาด[4]

ขนาดกับวิธีใช้

  • ใช้ตาม [3] ถ้าเป็นรากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม ถ้าเป็นใบกับต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม ถ้าเป็นทั้งต้นสดให้นำมาตำใช้พอกในบริเวณที่ต้องการ ใช้ประมาณ 30-60 กรัมต่อหนึ่งครั้ง[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารที่สกัดได้จากราก ผล ใบ จะมีฤทธิ์ที่ต้านการเจริญของเชื้อรา[1]
  • พบสารจำพวก Glucolin 21.92%, Phenols, Amino acid และพบน้ำมันในเมล็ด 13-14%[3]
  • สารสกัดที่ได้จากเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ที่ต้านการเจริญของเชื้อราได้ดี[1],[4]
  • สารสกัดที่ได้จากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ที่ช่วยลดความดันโลหิต ลดไข้ในสัตว์ทดลองได้ [1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ขี้ครอก”. หน้า 136.
2. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (ไพร มัทธวรัตน์). “ขี้ครอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [01 ก.พ. 2015].
3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ขี้ครอก”. หน้า 220.
4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ขี้ครอก”. หน้า 137-138.
5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ขี้ครอก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [01 ก.พ. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.malawiflora.com/
2.https://treasurecoastnatives.wordpress.com/
3.https://www.flickr.com/p