ต้นฉัตรทอง ดอกใช้รักษาอาการตกขาวในสตรี

0
1283
ต้นฉัตรทอง ดอกใช้รักษาอาการตกขาวในสตรี ไม้พุ่มขนาดเล็ก แผ่นใบเป็นแฉกเหมือนรูปดาว ดอกเดี่ยวรูปถ้วย สีชมพู สีแดง และสีขาว เกสรกลางดอกมีสีเหลือง ผลกลมและแบน
ต้นฉัตรทอง
ไม้พุ่มขนาดเล็ก แผ่นใบเป็นแฉกเหมือนรูปดาว ดอกเดี่ยวรูปถ้วย สีชมพู สีแดง และสีขาว เกสรกลางดอกมีสีเหลือง ผลกลมและแบน

ฉัตรทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Alcea rosea L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Althaea rosea (L.) Cav.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) ชื่อสามัญ Hollyhock ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ (จีนกลาง) ซูขุย (จน-แต้จิ๋ว) จวกขุ่ยฮวย

ลักษณะของต้นฉัตรทอง

  • ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นโดยประมาณ 2.5 เมตร ลำต้นมีสีเขียวและตามลำต้นมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย จัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันไปตามลำต้น แผ่นใบมีสีเขียว ลักษณะของแผ่นใบเป็นแฉกเหมือนรูปดาว ใบหนึ่งจะมีแฉกโดยประมาณ 3-7 แฉก แต่โคนใบจะมีลักษณะเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยัก ขนาดกว้างโดยประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวโดยประมาณ 6-10 เซนติเมตร ก้านใบมีลักษณะกลมยาวมีสีเขียว มีความยาวโดยประมาณ 4-8 เซนติเมตร
  • ดอก ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ ลักษณะของดอกเป็นรูปถ้วย ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบเรียงซ้อนกัน กลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกมีสีชมพู สีแดง และสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมเข้าหากันเป็นหลอด ส่วนปลายดอกบานออก ส่วนเกสรกลางดอกมีสีเหลือง ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวลักษณะเป็นรูปถ้วยเช่นกัน โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน แต่ส่วนปลายกลีบนั้นจะแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ (บ้างว่ามีกลีบเลี้ยงโดยประมาณ 7-8 กลีบ) มีก้านดอกยาวโดยประมาณ 2.5 เซนติเมตร
  • ผล ลักษณะเป็นรูปทรงกลมและแบน ผลเมื่อโตจะมีจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 3 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต ผิวของเมล็ดมีรอยเส้นขวาง

สรรพคุณของฉัตรทอง

1. ทำให้ชุ่มชื่น (ดอก)
2. เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น (ดอก)
3. รากและดอกใช้เป็นยาจับพิษร้อนในร่างกาย ทำให้เลือดเย็น (ราก ดอก)
4. รากและเมล็ดเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก เมล็ด)
5. ช่วยแก้โลหิตกำเดา (ราก ดอก)
6. รักษาอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือตกเลือด ด้วยการนำรากสดโดยประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำสะอาดรับประทาน หรือจะใช้รากสดโดยประมาณ 60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาก็ได้ หรือหากมีอาการตกเลือดก็สามารถใช้ดอกต้มรับประทานเป็นยาได้เช่นกัน (ดอก ราก)
7. แก้อาการไอเป็นเลือด (ราก ดอก)
8. รากสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาและป้องกันโรคเยื่อจมูกอักเสบหรือเยื่อภายในร่างกายอักเสบได้ (ราก)
9. หากมีไข้หรือเป็นไข้จับสั่น ก็ให้ใช้ดอกสดที่ผึ่งแห้งแล้ว นำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำสะอาดรับประทานเป็นยาแก้ไข้ ส่วนรากและเมล็ดในตำราได้ระบุไว้ว่ามีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้เช่นเดียวกับดอก (ดอก ราก เมล็ด)
10. ช่วยรักษาโรคหัด ด้วยการใช้ดอกที่บานเต็มที่แล้ว (สดหรือแห้งก็ได้) นำมาต้มกินหรือบดเป็นผงกิน (ดอก)
11. เมล็ดใช้เป็นยาช่วยหล่อลื่นลำไส้ ด้วยการใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว นำมาต้มรับประทานหรือบดเป็นผงรับประทาน ส่วนดอกตามตำราก็ระบุว่ามีสรรพคุณช่วยหล่อลื่นเช่นกัน (เมล็ด ดอก)
12. แก้บิด ขับถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้ยอดอ่อนนำมาต้มกับน้ำสะอาดรับประทาน แต่ต้องนำมาปิ้งกับไฟให้พอเหลืองเสียก่อน และให้ใช้โดยประมาณ 6-18 กรัม หรือจะใช้ดอกนำมาต้มรับประทานก็ได้ (ยอดอ่อน ดอก)
13. รักษาโรคหลอดลมอักเสบ (ราก ดอก)
14. รักษาเด็กที่ปากเป็นแผลอักเสบ ด้วยการใช้ยอดอ่อนผสมกับน้ำผึ้ง นำมาทาเช้าเย็น โดยการนำไปปิ้งกับไฟให้แห้งแล้วให้เป็นผงเสียก่อน (ยอดอ่อน)
15. ถ้ามีอาการท้องผูก ให้ใช้ดอกสดโดยประมาณ 30 กรัม นำมาผสมกับชะมดเชียง 1.5 กรัม กับน้ำสะอาดครึ่งแก้วใช้ต้มรับประทาน บ้างก็ว่าให้ใช้รากสดๆ ผสมกับเมล็ดของตังเกี้ยงไฉ่ (อย่างละ 30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำสะอาดรับประทาน ส่วนเมล็ดก็แก้ท้องผูกเช่นกัน โดยนำมาเมล็ดมาต้มรับประทานหรือบดเป็นผงรับประทาน แต่จะต้องใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว (ดอก เมล็ด ราก)
16. รากและดอกใช้แก้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ปัสสาวะแสบร้อน (ราก ดอก)
17. รักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ด้วยการนำเมล็ดแก่ที่ตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ผสมกับน้ำอุ่นรับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยใช้รับประทานครั้งละ 6 กรัม (ตำรับนี้สามารถใช้แก้ปัสสาวะขัดและอุจจาระขัดได้ด้วย) ส่วนเด็กที่มีอาการท้องผูกก็รับประทานได้ แต่ต้องใช้โดยประมาณ 3-10 กรัม (เมล็ด)
18. รักษาแผลในลำไส้ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 3 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้รับประทานเป็นยา (ราก)
19. แก้ลำไส้อักเสบ รักษาฝีในลำไส้ หรือฝีในท้อง ด้วยการใช้ราก 20 กรัม โกฐน้ำเต้า 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำสะอาดรับประทาน แต่หากมีอาการเลือดออกด้วยก็ให้เพิ่มโกฐสอ 20 กรัม แปะเจียก 20 กรัม และสารส้มสตุ 19 กรัม ต้มกับน้ำสะอาดเป็นยารับประทาน หรือจะนำมารวมกันแล้วบดให้เป็นผง ทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทานก็ได้เช่นกัน (ราก)
20. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัดและอุจจาระติดขัด (เข้าใจว่าใช้รากสดโดยประมาณ 30-60 กรัม) หรือจะใช้ดอกสดโดยประมาณ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำครึ่งแก้วแล้วใส่ชะมดเชียง 2 กรัม เป็นยารับประทาน ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณขับปัสสาวะเช่นกัน แต่ต้องเป็นเมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้วนำมาต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน (ดอก เมล็ด ราก)
21. รักษาปากมดลูกอักเสบ (ราก ดอก)
22. รักษาโรคหนองใน ด้วยการใช้ยอดอ่อนหรือใบนำมาต้มกับน้ำสะอาดกินเป็นยา จะใช้ใบสดหรือใบแห้งก็ได้ หรือจะนำมาเผาให้เป็นเถ้าแล้วนำมาบดเป็นผงกินก็ได้เช่นกัน โดยจะใช้อยู่ที่โดยประมาณ 6-20 กรัม หรือจะใช้รากสดโดยประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือทำเป็นเม็ด หรือบดเป็นผงกินก็ได้ ส่วนเมล็ดก็สามารถนำมาทำเป็นยาแก้โรคหนองในได้เช่นกัน (ใบ เมล็ด ราก)
23. แก้อาการปัสสาวะมากผิดปกติ ใช้รากสดนำมาล้างให้สะอาด แล้วทุบให้แตกใส่น้ำสะอาดต้มให้เดือดจนเข้มข้น แล้วรินน้ำรับประทาน (ราก)
24. หากปัสสาวะเป็นเลือด ให้ใช้เถาจากยอดอ่อนของต้น นำมาผสมกับเหล้าใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง แต่ต้องรับประทานทีละน้อยๆ หรือจะใช้รากสดนำมาต้มกับน้ำสะอาดดื่มก็ได้ ส่วนดอกและเมล็ดตามตำราก็ระบุว่าแก้ปัสสาวะเป็นเลือดได้เช่นกัน (เถาจากยอดอ่อน ดอก เมล็ด ราก)
25. หากสตรีมีอาการตกขาว นำดอกสดโดยประมาณ 150 กรัม นำมาผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แล้วนำไปบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทาน แต่ก่อนรับประทานจะต้องดื่มเหล้าก่อน 1 ถ้วยชา หรือจะใช้รากสดๆ โดยประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำสะอาดกินก็ได้เช่นกัน (ดอก ราก) ส่วนอีกวิธีให้ใช้ราก 35 กรัมและดอกอีก 10 กรัม นำมาตุ๋นกับเนื้อหมูรับประทาน ก็สามารถใช้แก้มุตกิดระดูขาวได้เช่นกัน (ราก ดอก)
26. รักษาแผลบวมอักเสบ ให้ใช้รากสดนำมาตำแล้วพอก หรือถ้าเป็นแผลบวมจะใช้ดอกมาตำหรือบดให้เป็นผงใช้พอกหรือทาบริเวณที่เป็นแผลก็ได้ (ดอก ราก)
27. รากและเมล็ดใช้ตำพอกรักษาแผลเรื้อรังได้ (ราก เมล็ด)
28. รักษาอาการบวมน้ำ ด้วยการนำเมล็ดแก่ที่ตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ผสมกับน้ำอุ่นรับประทานวันละ 2 ครั้ง ใช้รับประทานครั้งละ 6 กรัม ส่วนเด็กที่มีอาการท้องผูกก็รับประทานได้ แต่ต้องใช้ประมาณ 3-10 กรัม (เมล็ด) ส่วนรากและดอกก็ช่วยแก้บวมน้ำได้เช่นกัน (ราก ดอก)
29. รักษาแผลไฟไหม้ แผลโดนน้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ดอกสดที่ตำละเอียดแล้วนำมาผสมกับน้ำมันพืช ใช้เป็นยาพอกบริเวณนั้น (ดอก)
30. รักษาแผลหิด ด้วยการใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว นำมาต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน (เมล็ด)
31. รากใช้เป็นยาดูดหนอง ด้วยการใช้รากสดๆ นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น (ราก)
32. รากและเมล็ดช่วยในการคลอดบุตรของสตรี (ราก เมล็ด)
33. รักษาแผลฝีหนอง ใช้ยอดอ่อนหรือใบนำมาต้มกับน้ำสะอาดกินเป็นยา จะใช้ใบสดหรือใบแห้งก็ได้ หรือจะนำมาเผาให้เป็นเถ้าแล้วนำมาบดเป็นผงรับประทานก็ได้เช่นกัน โดยจะใช้โดยประมาณ 6-20 กรัม (ใบ) ส่วนรากและดอกก็ช่วยขับฝีหนอง (ราก ดอก)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของฉัตรของ

1. ดอกมีสารสีแดงที่ใช้เป็นตัวบ่งบอกความเป็นกรดด่างได้
2. ในเมล็ด พบสาร Myrtillin-a, น้ำมันและน้ำมันหอมระเหย ในน้ำมัน 11.9% ประกอบไปด้วย Oleic acid 34.88%
3. ราก จะมีสารเมือกอยู่มาก หากต้นมีอายุ 1 ปี สารเมือกนี้จะประกอบไปด้วย Methylpentosans 10.59%, Mucus, Pentose 7.78%, Pentosans 6.68%, Uronic acid 20.04% โดยสารเมือกนี้จะใช้เป็นยาหล่อลื่น ยาช่วยลดอาการระคายเคือง และใช้เป็นยาพอกแก้ผิวหนังอักเสบ
4. ดอก จะมีผลึกเป็นสารสีเหลือง และมีจุดหลอมเหลวอยู่ที่ 261 องศาเซลเซียส ซึ่งสารนี้อาจเป็น Dibenzoyl carbinol จะเป็นสารผสมของ Kaempferol และดอกที่เป็นสีขาวจะแยกได้ Dihydrokaempferol

คำเตือน : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้

ประโยชน์ของฉัตรทอง

1. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามรั้วตามสวนทั่วไป
2. หากใบหน้ามีรอยเหี่ยวย่นหรือเป็นฝ้า ก็ให้ใช้ดอกสดนำมาบดให้ละเอียดผสมกับรังผึ้งสด ใช้ทาหน้าก่อนนอนทุกคืน

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1 หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ฉัตรทอง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 233-236.
2 หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ฉัตรทอง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 190.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://botany.cz/
2.https://www.plantopedia.com/