ตะเคียนทอง
เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แผ่นใบบางเหนียวเป็นมัน ดอกสีเหลืองแกมน้ำตาลขนาดเล็กและมีขนนุ่มปกคลุม กลิ่นหอม ผลอ่อนสีเขียวอ่อน ผลสุกสีน้ำตาลเข้ม

ตะเคียนทอง

ตะเคียนทอง พบในประเทศบังกลาเทศ, ประเทศกัมพูชา, ประเทศอินเดีย, ประเทศลาว, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศพม่า, ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม ชื่อสามัญ Malabar iron wood, Takian, Thingan, Iron wood, Sace ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)[1],[3],[5] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง), แคน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จะเคียน (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[3],[5]

ลักษณะตะเคียนทอง

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงอยู่ที่ 20-40 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง มีเส้นรอบวงกว่า 300 เซนติเมตร เรือนยอดมีลักษณะกลมเป็นทรงพุ่มทึบ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลดำ มีลักษณะต้นหนา แตกเป็นสะเก็ด แก่นไม้มีสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้เป็นสีเหลืองหม่น มีท่อน้ำมันหรือยางเป็นเส้นสีเทาขาวทอดผ่านอยู่เสมอ [1],[2],[3],[6]
  • ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบเรียว โคนใบเบี้ยว แผ่นใบจะเหนียวแต่บาง หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน มีตุ่มหูดอยู่ที่บริเวณท้องใบตามง่ามแขนง ความกว้างของใบจะอยู่ที่ 3-6 เซนติเมตร และความยาวจะอยู่ที่ 10-15 เซนติเมตร มีเส้นแขนงอยู่ 9-13 คู่ที่ใบ ใบย่อยเชื่อมกันเป็นขั้นบันได หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม[1],[3],[8]
  • ดอก เป็นดอกช่อ ช่อดอกจะออกบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ เป็นช่อแบบแยกแขนง มีความยาวอยู่ที่ 5-7 เซนติเมตร ในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 40-50 ดอก ดอกมีสีเหลืองแกมน้ำตาล ดอกมีขนาดเล็กและมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ดอกมีกลิ่นหอม มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ แต่ละกลีบจะมีความยาว 3-5 มิลลิเมตร ดอกที่บานเต็มที่ดอกจะบิดเป็นกงจักรและจะมีขนาดเพียง 0.3-1 เซนติเมตร กลีบดอกส่วนปลายจะหยัก กลีบดอกส่วนล่างจะบิดและเชื่อมติดกันอยู่ ในดอกมีเกสรตัวผู้ 15 อัน ส่วนยอดของอับเรณูจะแหลม รังไข่ของเกสรตัวเมียจะอยู่เหนือวงกลีบ ดอกจะไม่ออกทุกปี และออกแค่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[8]
  • ผล เป็นผลแห้งและไม่แตก ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน และพอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะของผลจะกลมหรือเป็นรูปไข่เกลี้ยง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลจะอยู่ที่ 0.6 เซนติเมตร ส่วนปลายของผลจะมนและมีติ่งเป็นหนามแหลมอยู่ มีปีกยาว 4-6 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายรูปใบพาย มีอยู่ 1 คู่ ส่วนปลายของปีกมีความกว้างอยู่ที่ 1 เซนติเมตร และจะเริ่มเรียวสอบเข้ามาทางด้านโคนปีก มีเส้นปีกอยู่ตามแนวยาว 9-11 เส้น และจะมีปีกสั้นๆ ซ้อนกันอยู่ 3 ปีก ในหนึ่งผลจะมีเพียงเมล็ดเดียว ลักษณะของเมล็ดจะกลมและเป็นสีน้ำตาล ปีกจะมีหน้าที่พาผลให้ปลิวไปตามลมได้ไกล และจะเริ่มเกิดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[3],[8]

ประโยชน์ตะเคียนทอง

1. สารแทนนิน ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำให้แผ่นหนังมีความแข็งขึ้นกว่าเดิม เมื่อนำมาใช้ฟอก[6]
2. มีน้ำฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallol อยู่ในเปลือกต้น[1]
3. สามารถนำมาปลูกตามป่า หรือสวน เพื่อให้ร่มเงา เป็นไม้เอาไว้บังลม รักษาสมดุลทางธรรมชาติ เนื่องจากไม่ผลัดใบพร้อมกัน ทำให้มีความเขียวอยู่ตลอดทั้งปี[4],[5],[6]
4. สามารถทำน้ำมันจากชันของไม้ได้ โดยจะนำมาใช้ชักเงาตกแต่งเครื่องใช้ หรือนำมาทาเคลือบเรือเพื่อป้องกันเพรียง[1],[5],[6],[8]
5. สามารถนำไม้ตะเคียนมาใช้ประโยชน์ในงานไม้ได้ทุกอย่างที่ต้องการความแข็งแรงและคงทน เช่น สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำพื้นกระดาน ทำฝ้า ทำรั้ว ต่อเรือ ทำเกวียน ทำกังหัน เป็นต้น เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน ทนต่อปลวกได้ดี[1],[2],[3]

สรรพคุณตะเคียนทอง

1.สามารถนำมาทำยาแก้อาการเจ็บปวดได้ เช่น ยาหม่อง โดยจะนำยางของไม้ตะเคียนที่บดเป็นผงมาทำ(ยาง)[6]
2. สามารถนำยางมาผสมกับน้ำ เพื่อทำเป็นยาทารักษาบาดแผลได้(ยาง)[1],[4],[7],[8]
3. เปลือกต้นต้มกับน้ำสามารถนำมาใช้ล้างแผลเรื้อรังได้(เปลือกต้น)[1]
4. มีคุณสมบัติในการช่วยห้ามเลือด(เปลือกต้น, เนื้อไม้)[5],[8],[9]
5. มีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องร่วง (แก่น, เนื้อไม้)[10]
6. ใช้ฆ่าเชื้อโรคในช่องปากได้(เปลือกต้น)[8],[9]
7. แก่น มีคุณสมบัติในการรักษาอาการปวดฟัน หรือแก้อาการเงือกบวม(แก่น)[10]
8. มีสรรพคุณในการขับเสมหะได้(แก่น)[3],[4],[7],[8]
9. มีคุณสมบัติในการควบคุมธาตุ (เนื้อไม้)[10] ปิดธาตุ (แก่น,ยาง)[10]
10. มีฤทธิ์เป็นยาแก้แพ้ ช่วยต่อต้านพวกเชื้อรา แบคทีเรีย รวมไปถึงยีสต์[10]
11. แก่น ใช้รักษาคุดทะราดได้(แก่น)[3],[4],[7],[8]
12. มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะ สามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคได้(เปลือกต้น, เนื้อไม้)[8],[9]
13. มีสรรพคุณในการแก้อาการอักเสบ(เปลือกต้น, เนื้อไม้)[5],[8],[9]
14. เปลือกต้น สามารถใช้เป็นยาในการสมานแผลได้(เปลือกต้น)[8],[9]
15. ยาง มีสรรพคุณในการแก้อาการท้องเสีย(ยาง)[10]
16. ส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณในการแก้บิดมูกเลือด(เปลือกต้น)[8],[9]
17. สามารถใช้แก้อาการเหงือกอักเสบได้(เปลือกต้น)[8],[9]
18. สามารถนำเปลือกต้นมาต้มกับเกลือใช้อม เพื่อป้องกันฟันหลุดจากการกินยาเข้าปรอท(เปลือกต้น)[1],[5]
19. เปลือกต้น ใช้แก้อาการลงแดงได้(เปลือกต้น)[8],[9]
20. แก่นต้นสามารถใช้แก้โลหิตและกำเดาได้ โดยแก่นจะมีรสหวาน(แก่น)[3],[4],[7],[8]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [19 ม.ค. 2014].
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [19 ม.ค. 2014].
3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ตะเคียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [19 ม.ค. 2014].
4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [19 ม.ค. 2014].
5. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.155.220.217/office/ppdd/publicpark/thai/2011/. [19 ม.ค. 2014].
6. ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.forest.go.th. [19 ม.ค. 2014].
7. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [19 ม.ค. 2014].
8. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [19 ม.ค. 2014].
9. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะเคียนทอง (Ta Khian Tong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้าที่ 122.
10. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thongthailand.com. [19 ม.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.monaconatureencyclopedia.com/
2. https://www.iplantz.com/
3. https://medthai.com/