ผกากรอง
เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก ใบจะหยักฟันเลื่อย ดอกเป็นช่อคล้ายซี่ร่ม ดอกย่อยเล็กรูปกรวย กลิ่นฉุน ผลเป็นพวงสีเขียวเนื้อนิ่ม ผลสุกสีม่วงดำ

ผกากรอง

ผกากรอง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกา แถบแอฟริกาเขตร้อน[7] ในภายหลังได้แพร่ขยายไปทั่วโลกในเขตร้อน [3] พบขึ้นที่ตามป่าละเมาะที่ค่อนข้างโปร่งและแห้งแล้ง ชื่อสามัญ White sage, Lantana, Cloth of gold, Hedge flower, Weeping lantana ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Lantana camara L. อยู่วงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)[1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อู่เซ่อเหมย (จีนกลาง), หญ้าสาบแร้ง (ภาคกลาง, ภาคเหนือ), ก้ามกุ้ง (ภาคกลาง), เบ็งละมาศ (ภาคเหนือ), สามสิบ (จังหวัดจันทบุรี), ไม้จีน (จังหวัดชุมพร), คำขี้ไก่ (จังหวัดเชียงใหม่), มะจาย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน), หม่าอิงตาน (จีนกลาง), เบญจมาสป่า (ภาคกลาง), ตาปู (จังหวัดแม่ฮ่องสอน), โงเซกบ๊วย (จีนแต้จิ๋ว), สาบแร้ง (ภาคเหนือ), ขะจาย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน), ยี่สุ่น (จังหวัดตรัง), ขี้กา (จังหวัดปราจีนบุรี, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), ดอกไม้จีน (จังหวัดตราด)

ลักษณะผกากรอง

  • ต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยที่มีขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาเยอะ ใบดกและหนา ที่ตามลำต้นจะเป็นร่องมีหนามนิดหน่อย มีขนขึ้นทั้งต้น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการปักชำ การเพาะเมล็ด เป็นไม้ดอกกลางแจ้ง มีอายุหลายปี ชอบแสงแดดจัด ควรรับแสงแดดแบบพอเพียง จะชอบสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง โตได้ดีในดินร่วนปนกับทรายที่สามารถระบายน้ำได้ดี เป็นพืชที่แข็งแรงทนทาน หลายแห่งถือเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เนื่องจากขึ้นและขยายพันธุ์ได้ดีตามธรรมชาติ[1],[3],[6]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวจะออกเรียงตรงข้าม ใบเป็นรูปไข่สีเขียวเข้ม ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่ขอบใบจะหยักเป็นฟันเลื่อย ใบกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร ที่ผิวใบด้านบนจะมีลักษณะหยาบ จะมีขนขึ้นที่ส่วนผิวใบด้านบนกับด้านล่าง ถ้าลูบจะระคายมือ เส้นใบย่น ก้านใบมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[3]
  • ดอก ออกเป็นช่อคล้ายซี่ร่ม ออกดอกที่ตามง่ามใบและยอดของกิ่ง ช่อดอกมีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะเล็กและเป็นรูปกรวย จะมีกลิ่นที่ฉุน กลีบดอกจะบานออกเป็น 4 กลีบ ขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร จะค่อยๆทยอยบานจากด้านนอกเข้าช่อดอก มีเกสรเพศผู้อยู่ที่ตรงกลางดอก 4 ก้านจะอยู่ติดกลีบดอก ดอกมีหลายสี อย่างเช่น สีแดง (ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง), สีขาว (ผกากรอง), สีเหลือง (ผกากรองเหลือง) และมีสีชมพู สีแสด และมีหลายสีในช่อดอกเดียวกัน สามารถออกดอกได้ทั้งปีถ้าหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
  • ผล เป็นรูปกลม จะออกผลเป็นกลุ่มหรือเป็นพวง เป็นผลสด มีเนื้อ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร ผลอ่อนมีลักษณะเป็นสีเขียว เนื้อนิ่ม ผลสุกเป็นสีม่วงดำ มีเมล็ดอยู่ในผล 2 เมล็ด[1],[2],[5],[6],[7]

ประโยชน์ผกากรอง

1. ใบมีกลิ่นฉุน มีสารพิษที่เป็นพิษกับระบบประสาทของแมลงจำพวกหนอนกระทู้ในแปลงผักที่มีชื่อว่า แลนทานิน (Lantanin) ทำให้มีการใช้เป็นสมุนไพรสำหรับฆ่าแมลง ขับไล่แมลงศัตรูพืช [3],[6]
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ต่าง ๆ กลางแจ้ง และทนต่อการตัดแต่ง การดันทรง ทนความแห้งแล้ง ดินเลว เหมาะกับการปลูกในกระถางเพื่อทำไม้ดัดเป็นรูปทรง หรือไม้แคระ [3]
3. ต้นออกดอกดกเป็นช่อทั้งปี เป็นแหล่งอาหารสำคัญของแมลงต่าง ๆ อย่างเช่น ผึ้ง ผีเสื้อ [3]

ข้อควรระวังในการใช้ผกากรอง

  • ใบมีสารเป็นพิษนั่นก็คือสาร Lantanin สารนี้เป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์จำพวกแกะกับแพะ พิษจะส่งผลกับตับและระบบประสาท เวลาสัตว์เลี้ยงทานเข้าไปเยอะ จะทำให้ถึงตาย[6]
  • ห้ามให้ผู้หญิงที่มีครรภ์ทาน[1],[2]
  • สารพิษเอาไปใช้เป็นยาฆ่าแมลงในแปลงผัก อาจจะตกค้างและเป็นอันตรายกับผู้บริโภค ควรใช้แบบระมัดระวัง และเว้นระยะปลอดภัยก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต[6]
  • ต้นมีพิษ การเอาไปใช้เป็นยาสมุนไพรควรใช้แบบระมัดระวัง[8]

สรรพคุณผกากรอง

1. สามารถช่วยแก้อาการปวดเอ็นได้ โดยนำดอกสดมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาใช้ทา แล้วเอากากมาพอกที่บริเวณที่เป็นแล้วเอาผ้ารัดเอาไว้ (ดอก)[5]
2. ใบ มีรสขมเย็น สามารถนำใบสดมาโขลกให้ละเอียด ใช้พอกแก้บวม แก้ปวด พอก รักษาแผลฟกช้ำ รักษาฝี ถอนพิษ (ใบ)[2],[4]
3. สามารถนำดอก มาใช้เป็นยาแก้อักเสบได้ (ดอก)[2]
4. ในตำรับยาแก้ผดผื่นคันใช้ใบผกากรองแห้ง 35 กรัม, ต้นกะเม็ง 35 กรัม, ใบสะระแหน่ 35 กรัม, โซวเฮียะ 35 กรัม, ใบสนแผง 35 กรัม เอามารวมกันบดเป็นยาผง ใช้ผสมกับเหล้าทาตรงบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้ง (ใบ)[1]
5. ก้านกับใบสามารถใช้เป็นยาภายนอกรักษาโรคผิวหนัง ฝีหนอง ด้วยการเอามาตำ ใช้พอกหรือเอามาต้มกับน้ำล้างตรงบริเวณที่เป็น (ใบ)[1]
6. สามารถช่วยแก้อาการปวดกระเพาะได้ (ราก)[1]
7. สามารถช่วยขับลมได้ (ราก, ใบ)[1],[2]
8. ขับลมชื้น (ราก)[1]
9. สามารถช่วยแก้ติดเชื้อวัณโรคที่ต่อมทอนซิลได้ (ราก)[1]
10. สามารถช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือดได้ (ดอก)[2]
11. ราก มีรสจืดขม สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดตัวร้อน หวัดใหญ่ แก้ไข้เรื้อรัง แก้หวัด ไข้สูง โดยนำรากแห้งหนัก 4 บาท มาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม (ราก)[1],[2],[5]
12. ในตำรับยาจีนใช้รากสด 35 กรัม, กังบ๊วยกึง 35 กรัม, ซึ่งปัวจิ้กึง 35 กรัม เอามาต้มกับน้ำทาน (ราก)[1]
13. สามารถช่วยแก้อาการปวดฟันได้ โดยนำรากสดมาต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ราก)[2],[5]
14. ราก สามารถช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ราก)[2]
15. สามารถแก้โรคปวดตามข้อ โดยนำใบมาต้มกับน้ำ ผสมน้ำอาบ หรือใช้ทำเป็นลูกประคบ (ใบ[5], ราก[1])
16. สามารถนำรากมาใช้เป็นยาดับพิษแก้บวมได้ (ราก)[1]
17. ราก มีสรรพคุณที่สามารถ แก้อาการคัน แก้อาการปวดแสบปวดร้อนที่ทางผิวหนังที่เกิดจากการเป็นฝี แก้โรคผิวหนังผื่นคันได้ (ราก)[1]
18. สามารถนำใบมาตำพอกแผล แก้ผดผื่นคันที่เกิดขึ้นจากหิด ฝีพุพองเป็นหนอง (ใบ, ดอก)[2],[5]
19. ใบ สามารถช่วยห้ามเลือดและช่วยรักษาแผลสดได้ โดยนำใบมาตำหรือขยี้ให้ช้ำ ใช้พอกตรงบริเวณบาดแผลสด และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค (ใบ, ดอก)[2],[3]
20. ดอก ใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้องอาเจียน โดยใช้ดอกสดหนัก 1 บาท มาต้มกับน้ำสะอาด ใส่เกลือนิดหน่อย ใช้ดื่มเป็นยา (ดอก)[2],[5]
21. สามารถช่วยแก้วัณโรค วัณโรคปอด โดยนำดอกแห้ง หนัก 1 บาท มาต้มกับน้ำ ใช้ดื่ม (ดอก)[2],[5]
22. สามารถช่วยทำให้อาเจียนได้ (ใบ)[4]
23. สามารถช่วยแก้คางทูมได้ โดยนำรากแห้งหนัก 4 บาท มาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาดื่ม (ราก)[2],[5]
24. สามารถใช้แก้เด็กซึมเซา ง่วงนอนเสมอได้ โดยนำดอกแห้งหนัก 1 บาท ผสมดอกทานตะวันแห้ง 1 ดอก เอามาต้มกับน้ำสะอาด ใช้ดื่ม (ดอก)[5]
25. นำรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม สามารถช่วยแก้อาการเวียนศีรษะจากอากาศร้อนอบอ้าวได้ (ราก)[4]

วิธีใช้

  • ดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 6-10 กรัม เอามาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มแก้หิด (ใบ)[2]
  • ใช้รากแห้งครั้งละ 15-35 กรัม เอามาต้มกับน้ำทาน ถ้าเป็นรากสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม เอามาต้มกับน้ำทาน[1],[2]
  • นำใบสดประมาณ 15-30 กรัม เอามาต้มกับน้ำดื่ม ถ้าใช้ภายนอกให้เอามาตำพอกหรือคั้นเอาน้ำผสมเหล้าใช้เป็นยาทา หรือเอาไปต้มกับน้ำใช้ชะล้างตรงบริเวณที่เป็น (ใบ)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารที่สกัดได้จากใบด้วยแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้และมดลูกของหนูทดลอง และช่วยแก้หอบหืดในหนูทดลอง[1]
  • พบสารพิษ คือ lantadene B, lantadene C, lantadene A (Rehmannic acid) [8]
  • ถ้าเอาใบสดมาให้วัวหรือแกะกิน ปรากฏว่าวัวหรือแกะจะมีอาการกลัวแสงและเป็นดีซ่าน เพราะอาจมีพิษซ่อนอยู่ในใบ[1]
  • สาร Lantaden alkaloid ที่สกัดมีฤทธิ์คล้ายควินิน ช่วยแก้พิษร้อนในร่างกายได้[1]
  • พบสาร Lantic acid, B-Caryophyllene, Alkaloid, Lantanolic acid, Humulene, A-pinene Pcymene เป็นต้น[1]

พิษของผกากรอง

  • พิษเรื้อรังในสัตว์ที่เกิดขึ้นตาม จะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังส่วนอื่นอีก อย่างเช่น ผิวหนังที่บริเวณขา ปาก จมูก หู คอ ไหล่ รวมส่วนอื่น ๆ อาจจะเป็นสีเหลือง แข็ง บวม แตก และมีอาการเจ็บ ผิวหนังลอกและเปิด อาจเกิดอาการอักเสบจนถึงเนื้อเยื่อบุผิวเมือกที่บริเวณใกล้เคียง อาการเยื่อบุตาอักเสบสามารถพบเห็นได้เป็นบางครั้งในระยะที่รับพิษเฉียบพลัน อาจมีผลกระทบกับผิวหนัง เยื่อบุรอบตาและที่ตา[8]
  • คนกับสัตว์ที่ทานเข้าไปจะเกิดอาการผิวหนังไวต่อแสง ผิวหนังมีรอยฟกช้ำดำเขียว ผิวหนังแตกในคน ส่วนสัตว์ถ้ากินเข้าไปจะทำให้น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นเลย มีน้ำนมลดน้อยลง ขนไม่งามเท่าที่ควร ผิวหนังขาด pigment [9]
  • ส่วนที่เป็นพิษนั่นคือผลแก่ที่ไม่สุก ส่วนใบ และทั้งต้นโดยเฉพาะผล สารที่เป็นพิษก็คือ Lantadene ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่อายุประมาณ 2-6 ขวบ[9]
  • อาการเป็นพิษที่เกิดขึ้นในสัตว์ จะมีพิษกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ทดลองที่กินใบ จะมีอาการซึม ไม่อยากกินอาหาร ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หลังจากนี้ประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการตัวเหลืองและขาดน้ำที่ตามเนื้อเยื่อเมือก ตาอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ผิวหนังไวต่อแสง ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบที่เรียกว่า pink nose เจ็บ อาการอักเสบนี้อาจลุกลามถึงตา ปาก โพรงจมูก เป็นแผลบวม หนังตาบวม ปลายจมูกแข็ง หูหนาและแตก ทำให้มีอาการคันจนสัตว์ต้องถูบ่อย ๆ จะทำให้เป็นแผลหรือทำตาบอดได้ ส่วนมากเมื่อรับพิษประมาณ 1-4 อาทิตย์ อาจจะทำให้ตายได้ เพราะไตล้มเหลว อดอาหาร ขาดน้ำ ไม่ขับถ่าย ปัสสาวะไม่หยุด ปริมาณ Billirubin ในเลือดสูง เอนไซม์จากตับสูง และเมื่อชันสูตรซากสัตว์ที่ตายแล้วปรากฏว่า มีอาการตับบวม ดีซ่าน ถุงน้ำดีโต เพราะผนังบวม ไตเหลือง ฉ่ำน้ำ บวม ลำไส้ใหญ่ไม่เคลื่อนไหว[8] และพบว่าวัวที่กินเข้าไปพบว่ามีระดับ serum adenosine diaminase เพิ่มขึ้น ถ้าสัตว์ได้รับสาร serum adenosine diaminase จะมีอาการดีซ่าน (jaundice)[9]
  • ผู้ป่วยที่ได้รับพิษมักไม่แสดงอาการเป็นพิษทันที แต่อาการจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยมีอาการเป็นพิษที่เกิดขึ้น คือ มีอาการ ไม่มีเรี่ยวแรง ท้องเสีย กลัวแสง มึนงง อาเจียน อ่อนเพลีย ขาดออกซิเจน หายใจลึก หายใจช้า รูม่านตาขยาย หายใจลำบาก กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน มีอาการโคม่า การตอบสนองของกล้ามเนื้อ tendon ถูกกด หมดสติ อาจถึงตายได้[8]

การรักษาพิษ

  • รีบส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องให้เร็วที่สุด และควรล้างท้องภายใน 3 ชั่วโมงหลังทานเข้าไป ถ้านานกว่า 3 ชั่วโมงต้องให้ยา corticosteroids, adrenalin, ให้ออกซิเจน, รักษาตามอาการ[8]
  • การรักษาอาการเป็นพิษในสัตว์เลี้ยงที่สงสัยว่าได้รับหลังกินเข้าไปจะมีฤทธิ์ที่ทำให้กระเพาะอาหารของสัตว์หยุดเคลื่อนไหว เป็นสาเหตุทำให้สารพิษเหลือในกระเพาะและเกิดการดูดซึมต่อเนื่อง การแก้พิษโดยป้องกันไม่ให้พิษเกิดการดูดซึมเพิ่มขึ้น ให้ใช้ผงถ่าน (activated charcoal) ปริมาณสูงร่วมกับสารละลายอิเล็กโทรไลต์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระเพาะ และทำให้ของเหลวกลับเข้าสู่ร่างกาย และให้รักษาอาการแพ้แสงแดดของผิวหนัง โดยจะมีรายงานการทดลองใช้เบนโทไนต์ (bentonite) เพื่อรักษาอาการพิษแทนใช้ผงถ่าน ปรากฏว่าสัตว์ทดลองมีอาการดีขึ้นช้ากว่ากลุ่มที่ให้ผงถ่าน 3 วัน แต่ราคาเบนโทไนต์ถูกกว่าผงถ่าน ทำให้ใช้เป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการเป็นพิษในสัตว์เลี้ยงวัว[8]
  • การรักษาอาการเป็นพิษในคน ถ้าทานเข้าไปไม่เกิน 30 นาที ให้ผู้ป่วยทานน้ำเชื่อม ipecac เพื่อช่วยให้อาเจียนเอาเศษชิ้นส่วนพืชออกมา (เด็กที่มีอายุ 1-12 ปีให้ทาน 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ทาน 2 ช้อนโต๊ะ) ถ้าไม่ได้ผลให้ล้างท้อง แต่ยกเว้นในเด็กที่ได้รับพิษมากกว่า 3 ชั่วโมง อาจทำการล้างท้องไม่ได้ผล ควรให้ยา adrenaline, corticosteroids ให้ออกซิเจน, รักษาตามอาการ[8]

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ผกากรอง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 332.
2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ผกากรอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [22 เม.ย. 2014].
3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 295 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ผกากรอง : ความงามที่มากับความทนทานข้ามทวีป”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [22 เม.ย. 2014].
4. ทะเบียนพันธุ์ไม้ในโรงเรียน, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ. “ผกากรอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.wattano.ac.th. [22 เม.ย. 2014].
5. หนังสือเพชรน้ำเอก กรุยอดตำรับยาสมุนไพร. “แขนงที่ 2 ประโยชน์และสรรพคุณของพืชสมุนไพรในการนำมาใช้รักษาโรค”. (พฤฒาจารย์วิพุธโยคะ รัตนรังษี).
6. รักบ้านเกิดดอทคอม. “ผกากรอง ไม้ดอกวัชพืช”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakbankerd.com. [22 เม.ย. 2014].
7. หนังสือไม้ดอกแสนสวย. (อรชร พงศ์ไสว).
8. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผกากรอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [22 เม.ย. 2014].
9. ฐานข้อมูลพืชพิษ, ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “ผกากรอง”. อ้างอิงใน: หนังสือตำราสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 ว่าด้วยสมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภ.หิรัญรามเดช), สารพิษในพืชและอาการพิษในสัตว์ทดลอง (วันทนา งามวัฒน์), สมุนไพรเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (ข้อมูลสรุป) (โครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/poison/. [22 เม.ย. 2014].
10. https://medthai.com