พลับพลึงแดง
เป็นไม้ล้มลุก ก้านใบห่อหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ดอกเป็นสีขาวแกมสีชมพู มีกลิ่นหอมช่วงพลบค่ำ ผลสดสีเขียวกลม

พลับพลึงแดง

พลับพลึงแดง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ชื่อสามัญ Red crinum, Giant lily, Spider lily, Red Bog Lily ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Crinum × amabile Donn ex Ker Gawl. หรือ Crinum × amabile Donn (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Crinum × augustum Roxb.) อยู่วงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE)[1],[2],[3],[4],[5] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น พลับพลึงดอกแดง (จังหวัดกรุงเทพมหานคร, ภาคกลาง), พลับพลึงดอกแดงสลับขาว, ลิลัว (ภาคเหนือ), พลับพลึง, พลับพลึงใหญ่ดอกสีชมพู [2],[4],[5],[6]

ลักษณะของต้นพลับพลึงแดง

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี ต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นจะมีหัวอยู่ใต้ดิน ส่วนที่อยู่เหนือดินคือ กาบใบสีขาวหุ้มซ้อนเป็นชั้น ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อไปปลูกหรือการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่มีความชื้นค่อนข้างสูง อย่างเช่น ริมคลอง หนอง บึง ทนต่อสภาพแวดล้อมได้โดยไม่ต้องการดูแลเอาใจใส่เยอะ ถ้าหากต้องการให้มีดอกเยอะให้ปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง แต่ถ้าหากต้องการให้ใบสวยให้ปลูกในที่มีแสงแดดแบบรำไร (หัวมีสาร Alkaloid Narcissine)[1],[2],[5]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนสลับเป็นวง ใบเป็นรูปใบหอก ที่โคนใบจะเป็นกาบทำหน้าที่เป็นก้านใบห่อหุ้มลำต้น ส่วนที่ปลายใบจะแหลม ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1 เมตร ใบมีลักษณะเป็นสีเขียว ผิวใบอ่อนนุ่ม เหนียว อวบน้ำ หนา [1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อที่มีขนาดใหญ่ ก้านดอกจะแทงขึ้นจากกลุ่มของใบตอนปลาย หนึ่งช่อมีดอกย่อยอยู่เป็นกระจุกประมาณ 12-40 ดอกกลีบดอกเป็นสีขาวแกมสีชมพู กลีบด้านบนดอกจะเป็นสีม่วง สีชมพู กลีบด้านล่างเป็นสีแดงเลือดหมู สีแดงเข้ม กลีบดอกแคบเรียวยาว ถ้าดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก มีเกสรยาวยื่นออกจากกลางดอก มีกลิ่นหอม กลิ่นจะหอมมากช่วงพลบค่ำ ออกดอกได้ปีละครั้ง ดอกออกช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม บ้างก็ว่าดอกออกได้ทั้งปี และออกเยอะช่วงฤดูฝน[1],[2],[5]
  • ผล เป็นผลสด มีสีเขียว ผลค่อนข้างกลม มีเมล็ดกลม[1],[4]

พิษของพลับพลึงดอกแดง

  • มีฤทธิ์ระคายเคืองกับระบบทางเดินอาหาร (เข้าใจว่าเป็นส่วนหัว) หัวมีพิษในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ชื่อว่า “Lycorine” อาการเป็นพิษ คือ มีน้ำลายเยอะ อาเจียน ตัวสั่น เหงื่อออก ท้องเดินแบบไม่รุนแรง ถ้ามีอาการมากอาจเกิด Paralysis และ Collapse[6]

วิธีการรักษาพิษ

1. ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อทำให้พิษเจือจาง[6]
2. ทำให้อาเจียนออก[6]
3. นำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างออก เพื่อเอาชิ้นส่วนพลับพลึงออก[6]
4. ทานยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำกับเกลือแร่ภายในร่างกายเยอะเกินไป[6]
5. ควรให้น้ำเกลือจนกว่าจะอาการดีขึ้น[6]

สรรพคุณ และประโยชน์พลับพลึงแดง

1. สารสกัดที่ได้จากใบจะมีฤทธิ์ที่ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ (ใบ)[1]
2. รากสามารถใช้เป็นยารักษาพิษยางน่องได้ (ราก)[2]
3. ใบสดมาลนไฟเพื่อทำให้อ่อนตัวลง นำมาใช้ประคบหรือพันรักษาแก้อาการบวม อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม แพลง ช่วยถอนพิษได้ดี (ใบ)[1],[2],[3],[4]
4. สามารถช่วยขับเลือดประจำเดือนของผู้หญิงได้ (เมล็ด)[2]
5. สามารถใช้หัวเป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับปัสสาวะได้ (หัว)[2]
6. ใช้ใบพลับพลึงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำไปตำเพื่อปิดตรงบริเวณที่ปวด เพื่อใช้รักษาอาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
7. เมล็ดสามารถใช้เป็นยาบำรุงร่างกายได้ (เมล็ด)[2],[3],[4]
8. สารสกัดที่ได้จากใบมีฤทธิ์ที่ช่วยต้านการเติบโตของเนื้องอก (ใบ)[1]
9. หัวกับใบมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ชื่อว่า Lycorine เป็นสารที่มีฤทธิ์ที่ช่วยต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัด กับโรคโปลิโอ สารชนิดนี้เป็นพิษสูง และต้องมีการทดลองกันต่อไป (ใบ, หัว)[1]
10. สามารถใช้อยู่ไฟหลังคลอดสำหรับผู้หญิงได้ (ใบ)[3],[4]
11. สามารถนำรากมาตำใช้พอกแผลได้ (ราก)[2]
12. สามารถช่วยขับปัสสาวะได้ (เมล็ด)[2],[3],[4]
13. สามารถใช้เป็นยาระบายได้ (หัว, เมล็ด)[2],[3],[4]
14. สามารถช่วยขับเสมหะได้ (หัว)[2],[3],[4]
15. สามารถใช้เป็นยาลดไข้ได้ โดยนำใบพลับพลึงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ใบ)[2]
16. หัวจะมีรสขม สามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลังได้ (หัว)[2]
17. ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงาม

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “พลับพลึงดอกแดง”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 91.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. “พลับพลึงดอกแดง (กรุงเทพฯ)”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 144.
3. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “พลับพลึงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th. [22 ม.ค. 2014].
4. หนังสือไม้ดอกหอม เล่ม 1. “พลับพลึงดอกแดง (กรุงเทพฯ)”. (ปิยะ เฉลิมกลิ่น). หน้า 147.
5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พลับพลึงใหญ่ดอกสีชมพู”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th . [22 ม.ค. 2014].
6. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “พลับพลึงดอกแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [22 ม.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:63772-1
2. https://www.plantasyhongos.es/herbarium/htm/Crinum_spp.htm
3. https://medthai.com/