ขลู่

ขลู่

ขลู่ เป็นไม้พุ่มริมน้ำ ที่มักจะพบตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง ตามหาดทราย หรือด้านหลังป่าชายเลน เป็นพืชในวงศ์ทานตะวันที่ส่วนของดอกมีรสหอมฝาดเมาเค็ม นิยมนำส่วนของใบมาชงเป็นชาดื่มเพื่อลดน้ำหนักได้ ส่วนของยอดอ่อนมีรสมันจึงนำมาใช้กับเครื่องเคียงขนมจีนได้ ในวงการการแพทย์แผนไทยได้มีการทดลองนำใบมาต้มให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ในระยะเริ่มแรก เพื่อช่วยดูแลสุขภาพในระดับหนึ่งได้ เป็นต้นที่จุดเด่นอยู่ที่ส่วนของใบ ซึ่งใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้งจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง สามารถนำใบสดมาเคี้ยวช่วยลดกลิ่นปาก และยังอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยาสมุนไพรด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขลู่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (L.) Less.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Indian marsh fleabane”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ขลู่” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “เพี้ยฟาน” ภาคใต้เรียกว่า “ขลู คลู” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ขี้ป้าน” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “หนาดวัว หนาดงัว หนวดงั่ว หนวดงิ้ว” จีนกลางเรียกว่า “หลวนซี” แต้จิ๋วเรียกว่า “หล่วงไซ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
ชื่อพ้อง : Baccharis indica L., Conyza foliolosa Wall. ex DC., Conyza corymbosa Roxb., Conyza indica (L.) Blume ex DC.

ลักษณะของต้นขลู่

ขลู่ เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กที่ขึ้นเป็นกอ มักจะพบตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง ตามหาดทราย หรือด้านหลังป่าชายเลน
ลำต้น : แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นกลม เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเขียว มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบดินเค็มมีน้ำขังตามหนองน้ำ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดเล็กและมีกลิ่นฉุน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปวงรี ปลายใบแหลมหรือมีติ่งสั้น โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันและแหลม มีขนขาวขึ้นปกคลุม เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ หลังใบและท้องใบเรียบเป็นมัน ค่อนข้างเกลี้ยง ไม่มีก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อฝอยสีขาวนวลหรือสีม่วง มักจะออกตามปลายยอดหรือตามง่ามใบ มีลักษณะกลมหลายช่อมารวมกัน ดอกมีลักษณะเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบของดอกแบ่งออกเป็นวงนอกและวงใน ปลายจักเป็นซี่ฟันประมาณ 5 – 6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก
ผล : เป็นผลแห้งไม่แตก มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกขนาดเล็ก ผลมีสันหรือเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก มีสีขาว
เมล็ด : เมล็ดมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม

สรรพคุณของขลู่

  • สรรพคุณ แก้โรคเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ สูญเสียเกลือแร่ในร่างกายน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน
  • สรรพคุณจากใบสดแก่ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้กระษัย ช่วยรักษาไข้ ช่วยขับเหงื่อ เป็นยาสมานทั้งภายนอกและภายใน
  • สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาอายุวัฒนะ
    – ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก ด้วยการนำเปลือกต้นขูดเอาแต่ผิวมาขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง แล้วมวนเป็นยาสูบ
    – ช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัส ด้วยการนำเปลือกต้นมาสับเป็นชิ้นใช้มวนบุหรี่สูบ
    – ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการนำเปลือกต้นขูดเอาขนออกให้สะอาดแล้วลอกเอาแต่เปลือก มาต้มรมริดสีดวงทวารหนัก
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยรักษาเลือดลม น้ำคั้นจากใบช่วยรักษาโรคบิด เป็นยาขับปัสสาวะ
    – ช่วยบำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก แก้ผื่นคัน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำอาบ
    – ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยแก้ตานซางในเด็ก ช่วยแก้มุตกิดระดูขาวของสตรี ช่วยลดอาการบวมน้ำ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ด้วยการนำใบมาชงดื่มเป็นชา
    – ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการนำใบสดมาตำบีบคั้นเอาแต่น้ำแล้วทาตรงหัวของริดสีดวงทวาร
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาอายุวัฒนะ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยรักษาโรคตานขโมย รักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ช่วยรักษาเลือดลม เป็นยาช่วยย่อย ช่วยแก้นิ่ว ช่วยแก้นิ่วในไต ช่วยรักษาประดง
    – รักษาโรคเบาหวาน ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกินเป็นยา
    – ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ รักษาอาการขัดเบา ด้วยการนำทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มเป็นยาก่อนอาหารครั้งละประมาณ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง
    – ช่วยแก้ผื่นคันและรักษาโรคผิวหนัง ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ
  • สรรพคุณจากราก แก้กระษัย
  • สรรพคุณจากใบและราก ช่วยรักษาไข้ ช่วยขับเหงื่อ ช่วยล้างพิษ ช่วยแก้นิ่ว เป็นยาฝาดสมาน
    – แก้แผลอักเสบ ด้วยการนำใบและรากสดมาตำพอก
    – รักษาแผลเรื้อรัง ด้วยการนำใบและรากทำเป็นขี้ผึ้งใช้ทา
    – ช่วยรักษาอาการเส้นตึง ด้วยการนำใบและรากมาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ทำการต้มกับน้ำอาบ
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้นิ่ว
  • สรรพคุณจากใบและต้นอ่อน ช่วยรักษาประดง ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ บรรเทาอาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ
    – ช่วยรักษาหิด รักษาขี้เรื้อน ด้วยการนำใบและต้นอ่อนมาต้มกับน้ำอาบ
    – ช่วยบรรเทาอาการปวดเอว ด้วยการนำใบและต้นอ่อนมาตำผสมกับแอลกอฮอล์ ใช้ทาหลังบริเวณเหนือไต

ประโยชน์ของขลู่

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนมีรสมัน จึงนำมาใช้ทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ลาบ หรือเป็นเครื่องเคียงขนมจีน ใบอ่อนนำไปลวกใช้ทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกและใส่ในแกงคั่วได้ ส่วนของดอกนำมายำร่วมกับเนื้อสัตว์ได้
2. ใช้ในด้านความหอม ใบสดแก่นำมาตำผสมกับเกลือใช้กินรักษากลิ่นปากและช่วยระงับกลิ่นตัว

คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบอ่อน

คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบอ่อนต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 42 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 9.4 กรัม
โปรตีน 1.8 กรัม
ไขมัน 0.5 กรัม
น้ำ 86.0 กรัม
วิตามินเอ 3,983 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.02 มิลลิกรัม
วิตามินซี 30 มิลลิกรัม
 ธาตุแคลเซียม 256 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 5.6 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 49 มิลลิกรัม

ขลู่ เป็นต้นที่มีส่วนของใบให้ความหอม และนิยมนำมาใช้ชงชาดื่มเพื่อลดน้ำหนัก เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยในด้านความงามแล้ว ยังช่วยในเรื่องของระบบในร่างกายได้อีกด้วย เป็นต้นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ยอดอ่อนจะมีรสมันจึงสามารถนำมาใช้ทานสดได้ สรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดน้ำหนัก แก้โรคเลือด ช่วยบำรุงประสาท รักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง แก้นิ่วในไต แก้ปัสสาวะพิการ บรรเทาอาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ ช่วยลดความดันโลหิต และลดอาการบวมน้ำได้ ถือว่าเป็นยาชั้นยอดอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการที่คนไทยมักจะเป็นกันบ่อย เพราะฉะนั้นแล้วขลู่เองก็คู่ควรแก่การนำมาใช้เป็นอย่างมาก

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขลู่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 93-94.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขลู่ (Khlu)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 59.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ขลู่ Indian Marsh Fleabane”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 168.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ขลู่”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 120.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 ก.พ. 2014].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [12 ก.พ. 2014].
โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th. [12 ก.พ. 2014].
“ขลู่สมุนไพรดีริมทาง”. (จำรัส เซ็นนิล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [12 ก.พ. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ขลู่”. อ้างอิงใน: หนังสือยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน (มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ), หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [12 ก.พ. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [12 ก.พ. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://identify.plantnet.org/malaysia/observations/1008415826
https://efloraofindia.com/2011/03/26/pulchea-indica/