ฆ้องสามย่าน
เป็นพรรณไม้ล้มลุก ดอกสีเขียวมีผิวจะเกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม ด้านบนมีสีเหลือง ผลแห้งออกเป็นพวง

ฆ้องสามย่าน

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Kalanchoe laciniata (L.) DC. อยู่วงศ์กุหลาบหิน (CRASSULACEAE)[1],[2] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ฮอมแฮม (จังหวัดแม่ฮ่องสอน), คะซีคู่ซัวะ (กะเหรี่ยง, จังหวัดแม่ฮ่องสอน), เถาไฟ (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) [1],[2], ทองสามย่าน, ส้นเส้า, ใบทาจีน, มือตะเข้[3]

ลักษณะต้นฆ้องสามย่าน

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สามารถสูงได้ถึงประมาณ 20-100 เซนติเมตร ผิวจะเกลี้ยงหรือจะมีขนนิดหน่อย ที่ปล้องข้างล่างสั้น ที่ปล้องกลางหรือปล้องบนมีความยาวมากขึ้นนิดหน่อย ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน ลำต้นกับใบฉ่ำน้ำ เป็นพรรณไม้จำพวกมหากาฬ ใบหูเสือ หรือคว่ำตายหงายเป็น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ชอบดินร่วน และที่มีความชื้นปานกลาง แสงแดดปานกลาง มักขึ้นที่ตามพื้นที่ลุ่ม กลิ่นคล้ายการบูรกับผิวส้ม[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีหลายรูปร่าง ใบที่บริเวณตรงกลางลำต้นจะเว้าเป็นแฉกลึกแบบขนนกชั้นเดียวหรือสองชั้น คล้ายกับใบประกอบ แต่ละแฉกเป็นรูปขอบขนานแคบ ที่ปลายจะแหลม ที่ขอบจะจักเป็นฟันเลื่อยแกมซี่ฟันหยาบ เป็นสีเขียวและมีไขเคลือบ ใบที่เล็กกว่าขอบใบจะเรียบหรือเกือบเรียบ ก้านใบมีความยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร มีลักษณะแบน ค่อนข้างที่จะโอบลำต้นเอาไว้ ใบที่บริเวณโคนต้นจะไม่เว้าหรือจะเว้าเป็นแฉกตื้นหรือเป็นรูปไข่ ที่ขอบเป็นจักซี่ฟันแกมเป็นคลื่น ไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบที่สั้น ใบเป็นสีเขียวอ่อนอาจจะมีสีม่วงแซม[1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อชูขึ้นที่บริเวณปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก มีใบประดับที่เล็กและแคบ กลีบรองกลีบดอกมีลักษณะเป็นสีเขียวมีผิวจะเกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม จะตั้งตรง ที่ปลายแยกเป็นกลีบ เป็นรูปหอกแกมรูปไข่ ที่ปลายจะแหลม ส่วนที่โคนจะเชื่อกัน กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงแจกัน มีกลีบอยู่ 4 กลีบ ที่ปลายแยกเป็นกลีบ เป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ส่วนที่โคนจะพองออกสามารถเห็นได้ชัด มีสีเขียว ด้านบนมีสีเหลือง มีเกสรเพศผู้อยู่ 8 อัน จะโผล่พ้นกลีบดอกนิดหน่อย ท่อเกสรเพศเมียมีลักษณะเกลี้ยง ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร รังไข่เป็นรูปหอก มีความยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีผิวที่เกลี้ยง เป็นสีเขียว[1],[2]
  • ผล ออกเป็นพวง เป็นผลแห้ง ผลเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน จะแตกตามตะเข็บเดียว[1],[2]

สรรพคุณของใบฆ้องสามย่าน

1. นำใบสด 5 กรัม มาผสมต้นสดฟ้าทะลายโจร 15 กรัม (Andrographis paniculate Nees) แล้วนำไปตำชงด้วยเหล้าที่หมักจากข้าว แล้วก็นำมาทานแบบครั้งเดียวหมด สามารถแก้งูพิษกัดได้(ใบ)[4]
2. นำใบมาตำ สามารถใช้พอกกันแผลเรื้อรัง แผลฟกช้ำ แผลฝีมีหนอง แผลไหม้ได้ (ใบ)[2],[3]
3. ในตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะนำใบมาตำ ใช้พอกรักษาบาดแผลที่โดนมีดบาด น้ำที่คั้นได้จากใบสามารถใช้เป็นยาห้ามเลือดในแผลสดได้ (ใบ)[1],[2]
4. สามารถทานใบเป็นยารักษาอาการท้องร่วง แก้บิดได้ (ใบ)[2],[3]
5. นำใบมาตากแดดให้แห้งแล้วเอาไปบดให้เป็นผง สามารถใช้ทาลิ้นเด็กอ่อนเป็นยาแก้ละอองซางได้ (ใบ)[1],[2]
6. นำใบมาผสมดอกบัวหลวงขาว ดีปลี จันทน์ทั้งสอง ใบน้ำเต้า ละลายน้ำดอกพิกุล ดอกมะลิ น้ำตำลึง ดอกบุนนาค ดอกแคแดง สามารถทำให้ตัวเย็นได้ และสามารถใช้เป็นยาแก้ไข้เพื่อเสมหะ ไข้เพื่อลม ไข้เพื่อโลหิตได้(ใบ)[1]
7. เอาใบมาคั้นเอาน้ำผสมปรุงกับน้ำมันมะพร้าว สามารถใช้เป็นยาทาถูนวดรักษาโรคอวัยวะโตที่เรียกว่าโรคเท้าช้างให้ทุเลาได้ (ใบ)[2],[3]
8. เอาใบมาตำใช้พอกฝีจะช่วยทำให้เย็นเป็นยาถอนพิษ พิษตะขาบ รักษาอาการเจ็บปวด แมงป่องต่อย แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้พิษอักเสบปวดบวมได้ (ใบ)[1],[2],[3]
9. สามารถใช้ใบเป็นยาพอกบาดแผล บรรเทาอาการระคายเคือง ทำให้แผลหายด้วยการที่มีเนื้องอกมาปิดแทนได้ เป็นยาสมานแผล ฆ่าเชื้อบาดแผล (ใบ)[1],[2]
10. นำใบมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะได้ (ใบ)[1],[2]
11. สามารถนำใบมาตำใช้พอกหน้าอกรักษาอาการไอ เจ็บหน้าอกได้ (ใบ)[2]
12. ในตำรายาไทยจะนำใบมาใช้เป็นยาเย็นแก้ร้อนใน ดับพิษร้อน (ใบ)[1],[2]
13. นำใบมาต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้อาการอ่อนเพลีย และช่วยบำรุงร่างกายได้ (ใบ)[1]

ประโยชน์ฆ้องสามย่าน

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกระถาง ปลูกตามบ้านหมอ ตามสวนยาจีน

สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ฆ้องสามย่าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [10 ม.ค. 2015].
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ฆ้องสามย่าน”. หน้า 135.
3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 9 คอลัมน์ : สมุนไพรน่ารู้. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “ฟ้าทะลายโจร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [10 ม.ค. 2015].
4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คะซีคู่ซัวะ”. หน้า 175-176.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://succulentsnetwork.com/kalanchoe-laciniata-christmas-tree-plant2.https://paudhshala.com/kalanchoe-laciniata-kalanchoe-plant.html
3.https://toptropicals.com/catalog/uid/kalanchoe_laciniata.htm