ต้นพิกุล
ดอกมีขนาดเล็กสีขาวนวล มีกลิ่นหอม ผลอ่อนมีสีเขียวและจะมีขนสั้นนุ่ม ผลสุกมีสีแสด รสหวานอมฝาด

ต้นพิกุล

ต้นพิกุล มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน หมู่เกาะอันดามัน ต้นไม้ชนิดนี้จะชอบขึ้นในที่ที่ดินดี ชอบแดดจัด สามารถทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานถึง 2 เดือน มักปลูกในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนเพื่อใช้เป็นไม้ประดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับดอกที่มีกลิ่นหอมชาวพื้นเมืองใช้ต้นไม้ชนิดนี้เป็นอาหารผลสามารถรับประทานดิบหรือนำไปดอง เมื่อผลเริ่มสุกจะสีเหลืองรสหวาน ใช้เป็นยารักษาโรค ลดอาการปวดฟัน และทำเป็นสินค้ามากมาย ชื่อสามัญ Tanjong tree, Asian bulletwood, Spanish cherry, Bukal, Medlar, Bullet wood ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi L. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi var. parvifolia (R.Br.) H.J.Lam, Mimusops parvifolia R.Br. อยู่ในวงศ์พิกุล (SAPOTACEAE) [1],[2],[3],[6] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ซางดง พิกุลเขา พิกุลเถื่อน พิกุลป่า แก้ว กุน ไกรทอง พกุล พิกุลทอง [1],[3],[4],[7],[8]

ลักษณะ

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่จะไม่ผลัดใบ ต้นสูงประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นจะแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นมีสีเทาอมสีน้ำตาลจะแตกเป็นรอยแตกระแหงตามแนวยาว ทั้งต้นจะมีน้ำยางสีขาว ที่กิ่งอ่อนกับตาจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด วิธีการตอนกิ่ง วิธีการปักชำกิ่ง มีการเพาะปลูกเยอะในมาเลเซีย เกาะโซโลมอน นิวแคลิโดเนีย วานูอาตู ออสเตรเลียทางตอนเหนือ และเขตร้อนทั่วไป[1],[2],[4],[6],[7],[8] (พบว่ามีสารกลุ่มไตรเทอร์ปีนในเปลือกต้น คือ Beta amyrin, Betulinic acid, Lupeol, Mimusopfarnanol, Taraxerone, Taraxerol, Ursolic acid, สารในกลุ่มกรดแกลลิก คือ Phenyl propyl gallate, น้ำมันหอมระเหย คือ Cadinol, Diisobutyl phthalate, Hexadecanoic acid, Octadecadienoic acid, Taumuurolol, Thymol)[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว จะออกเรียงสลับกันแบบห่าง ๆ ใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ใบกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ที่ปลายใบจะเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้น ที่โคนใบจะมน ที่ขอบใบเรียบ เป็นคลื่นนิดหน่อย หลังใบมีสีเขียวเรียบและเป็นมัน ท้องใบจะมีสีเขียวอ่อน เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ก้านใบมีความยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปเรียวแคบ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ร่วงง่าย[1],[3],[4]
  • ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-6 ดอก ดอกจะออกที่ตามซอกใบตามปลายกิ่ง ดอกพิกุลมีขนาดเล็กเป็นสีขาวนวล มีกลิ่นหอม ร่วงง่าย ดอกที่บานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงอยู่ 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น มีชั้นละ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงด้านนอกเป็นรูปใบหอก ปลายจะแหลม จะมีขนสั้นสีน้ำตาลนุ่ม มีความยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร กลีบดอกจะสั้นกว่ากลีบเลี้ยงนิดหน่อย มีกลีบดอกอยู่ 8 กลีบ โคนกลีบจะเชื่อมกันเล็กน้อย กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนที่ยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น แต่ละชิ้นมีลักษณะ ขนาด สีคล้ายกับกลีบดอก ดอกจะมีเกสรตัวผู้สมบูรณ์อยู่ 8 ก้าน อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปใบหอก จะยาวกว่าก้านชูอับเรณู มีเกสรตัวผู้ที่เป็นหมัน 8 อัน มีรังไข่ 8 ช่อง ถ้าดอกใกล้โรยจะมีสีเหลืองอมสีน้ำตาล ออกดอกได้ตลอดปี[1],[2],[3],[4] (ดอกจะมีน้ำมันหอมระเหย ประกอบไปด้วย 3-hydroxy-4-phenyl-2-butanone 4.74%, 2-phenylethanol 37.80%, 2-phenylethyl acetate 7.16%, (E)-cinnamyl alcohol 13.72%, Methyl benzoate 13.40%, p-methyl-anisole 9.94%)[5]
  • ผล เป็นรูปไข่ถึงรี ผิวผลจะเรียบ ผลอ่อนมีสีเขียวและจะมีขนสั้นนุ่ม ผลสุกมีสีแสด ที่ขั้วผลจะมีกลีบเลี้ยง ผลกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อในผลจะเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาด มีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนรี แข็ง มีสีดำและเป็นมัน ติดผลได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[3],[4] (ผลกับเมล็ดพบ Dihydro quercetin, Quercetin, Quercitol, Ursolic acid, สารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน คือ Mimusopane, Mimusops acid, Mimusopsic acid เมล็ดพบสารไตรเทอร์ปีนซาโปนิน คือ 16-alpha-hydroxy Mi-saponin, Mimusopside A and B, Mi-saponin A และมีสารอื่น ๆ อีก อีก Alpha-spinasterol glucoside, Taxifolin)[4]

สรรพคุณของพิกุล

  • ดอกพิกุลอยู่ในตำรับยาหอมนวโกฐ เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ช่วยแก้ลมจุกแน่นในอกในผู้สูงอายุ และช่วยแก้ลมปลายไข้ได้ (มีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืด เป็นอาการหลังจากการฟื้นไข้) [5]
  • ดอกพิกุลอยู่ในตำรับยาพิกัดจตุทิพยคันธา (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล รากชะเอมเทศ รากมะกล่ำเครือ เหง้าขิงแครง) เป็นตำรับยาที่สามารถช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้ลมปั่นป่วน แก้พรรดึก และแก้เสมหะได้ [5]
    สามารถช่วยบำรุงครรภ์ของสตรีได้ (ครรภ์รักษา) (ขอนดอก)[1],[4]
  • สามารถช่วยแก้เกลื้อนได้ (กระพี้)[2],[4],[9] แก่นสามารถช่วยรักษากลากเกลื้อนได้[9]
  • สามารถช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อตามร่างกายได้ (ดอก)[1],[5],[9]
  • ขอนดอก (เนื้อไม้ที่ราลง จะมีสีน้ำตาลเข้มประขาว เรียกว่าขอนดอก) สามารถใช้เป็นยาบำรุงตับได้[1],[4]
  • ใบสามารถช่วยรักษากามโรค และฆ่าเชื้อกามโรคได้[4],[9]
  • ใบจะมีสรรพคุณที่สามารถฆ่าพยาธิได้ (ใบ[2],[4], แก่น[9]) สามารถช่วยแก้ตัวพยาธิได้ (ดอกแห้ง[5],[9], เปลือกต้น[9], ราก[9])
  • สามารถช่วยขับลมได้ (แก่นที่ราก)[2]
  • สามารถแก้อาการท้องเสีย ลงท้องได้ (ดอกสด[2],[5], ดอกแห้ง[5],[9], ผลดิบกับเปลือก[4], เปลือกต้น[9], ราก[9])
  • รากกับดอกสามารถใช้ปรุงเป็นยาแก้ลม (ระบบไหลเวียนทางโลหิต) และช่วยขับเสมหะที่เกิดจากลมได้ (ราก, ดอก)[4],[5],[9]
  • สามารถช่วยรักษาอาการปากเปื่อยได้ (เปลือกต้น)[9]
    เปลือกต้นสามารถใช้เป็นยาอมกลั้วคอล้างปาก และแก้โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม รำมะนาดได้ (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[9]
  • ผลสุกสามารถทานแก้โรคในลำคอและปากได้ (เปลือกต้น)[2]
  • สามารถนำดอกแห้งมาป่นใช้ทำเป็นยานัตถุ์ได้[5],[8]
  • สามารถช่วยแก้อาการร้อนในได้ (ดอกแห้ง)[5],[9]
  • สามารถช่วยแก้หืดได้ (ใบ)[3],[4]
  • สามารถแก้อาการอ่อนเพลียได้ (ดอกแห้ง)[5],[9]
  • สามารถแก้โลหิตได้ (ดอก, ราก) สามารถฆ่าพิษโลหิตได้ (เปลือกต้น)[9]
  • สามารถช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่นได้ (ขอนดอก[4], ดอกแห้ง[5])
  • สามารถใช้เป็นยาบำรุงโลหิตได้ (ดอก, แก่น, แก่นที่ราก, ราก)[2],[3],[4],[9]
  • ช่วยแก้ลมกองละเอียด อาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น ช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่นได้[5]
  • ช่วยบรรเทาอาการไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด แก้พิษสุกใสได้ (สามารถช่วยบรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส) [5]
  • ดอกพิกุลอยู่ในตำรับยาพิกัดเกสรทั้งห้า (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง) ตำรับยา พิกัดเกสรทั้งเจ็ด (เพิ่มดอกจำปา ดอกกระดังงา) ตำรับยาพิกัดเกสรทั้งเก้า (เพิ่มดอกลำดวน ดอกลำเจียก) เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณที่สามารถช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ ช่วยแก้อาการวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ช่วยแก้ลมกองละเอียด ช่วยบำรุงครรภ์ของสตรีได้ หรือใช้เข้ายาผสมดอกไม้ชนิดอื่นที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงา[4],[5]
  • สามารถช่วยแก้ฝีเปื่อยพังได้ (ดอกแห้ง[5],[9], ราก[9])
  • สามารถช่วยแก้อาการบวมได้ (ดอกแห้ง[5],[9], เปลือกต้น[9], ราก[9])
  • ผลดิบกับเปลือกเป็นยาฝาดมาน (ผลดิบและเปลือก[4], ดอกสด[5])
  • สามารถช่วยแก้ตกโลหิตได้ (ดอกแห้ง[5],[9], ราก[9])
  • เมล็ดสามารถใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้[3],[4]
  • สามารถช่วยรักษาไส้ด้วนไส้ลามได้ (ใบ)[9]
  • นำเมล็ดมาตำให้ละเอียด ใช้ทำเป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวารหรือทำยาเหน็บทวารเด็กเมื่อมีอาการท้องผูก สามารถช่วยแก้โรคท้องผูกได้ [2],[4],[9]
  • สามารถช่วยบำรุงปอดได้ (ขอนดอก)[1],[4]
  • ดอกแห้งสามารถช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ ละลายเสมหะได้ (ดอกแห้ง, ราก)[2],[3],[4],[5],[9]
  • นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำเกลือ สามารถช่วยแก้อาการปวดฟัน ช่วยทำให้ฟันแน่น แก้ฟันโยก และช่วยฆ่าแมงกินฟันที่ทำให้ฟันผุได้ [7],[8],[9]
  • สามารถแก้อาการเจ็บคอได้ (ดอกแห้ง)[1],[2],[5],[9]
  • สามารถช่วยรักษาโรคคอได้ (เปลือกต้น)[4]
  • ผลสุกสามารถทานแก้อาการปวดศีรษะได้ (ผลสุก, ดอกแห้ง)[2],[5],[9]
  • แก่นสามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้[3],[4], ผลดิบกับเปลือก[4], ดอกแห้ง[5]), สามารถแก้ไข้จับ แก้ไข้หมดสติ และแก้ไข้คลั่งเพ้อได้ (ดอกแห้ง)[5],[9]
  • สามารถช่วยแก้หอบได้ (ดอกแห้ง)[5],[9]
  • สามารถช่วยแก้เลือดตีขึ้นให้สลบไป และแก้เลือดตีขึ้นถึงกับตาเหลืองได้ (ใบ)[9]
  • สามารถช่วยคุมธาตุในร่างกายได้ (เปลือกต้น)[9]
  • แก่นที่รากกับดอกแห้งสามารถใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้ ดอกสดสามารถใช้เข้ายาหอมช่วยบำรุงหัวใจได้ (ดอก, ขอนดอก, แก่นที่ราก)[1],[2],[4],[5],[9]

หมายเหตุ : ขอนดอก คือ เครื่องยาไทยที่อาจจะได้จากต้นพิกุลหรือต้นตะแบกที่แก่ ๆ จะมีเชื้อราเข้าไปเจริญในเนื้อไม้ ขอนดอกมีกลิ่นหอม มีรสจืด จากข้อมูลระบุว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลมีคุณภาพดีกว่าที่ได้จากชนิดอื่น[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากดอกพิกุลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลองขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ[5]
2. จะมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน (EC50 = 0.23-0.55 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) จะมีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้โพแทสเซียมต่ำ ลดความดันโลหิต จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อรา ฆ่าพยาธิ ต้านฮีสตามีน จะมีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์ สามารถช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบได้ และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ[5] น้ำที่สกัดจากดอกพิกุลแห้งจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะในสุนัขที่สลบ แม้ว่าจะนำน้ำสกัดจากดอกที่เอาเกลือโพแทสเซียมไปทดลองขับปัสสาวะสุนัข หนูขาวปกติ หนูขาวที่ตัดต่อมหมวกไต ก็ยังมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ[8]

ประโยชน์ของพิกุล

  • คนไทยโบราณจะมีความเชื่อว่าถ้าบ้านไหนปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะช่วยส่งผลทำให้มีอายุยืนยาว เพราะเป็นไม้ที่มีความแข็ง แรงทนทาน มีอายุยาวนาน และเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเชื่อว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ สำหรับการปลูกเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับบ้านและผู้อยู่อาศัย ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี (เพราะพิกุลเป็นชื่อที่เหมาะกับสุภาพสตรี) ควรปลูกต้นพิกุลทองที่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ควรปลูกวันเสาร์หรือวันจันทร์ (การปลูกไม้วันเสาร์เป็นการปลูกเพื่อเอาคุณ) จะช่วยป้องกันโทษร้ายต่างๆ[8]
  • เปลือก สามารถใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้[7]
  • น้ำที่ได้จากดอกสามารถใช้ล้างปากล้างคอได้[7]
  • ผลพิกุลสามารถทานเป็นอาหารหรือผลไม้ของคนและสัตว์ได้ และสามารถช่วยดึงดูดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนก[3]
  • ดอกจะมีกลิ่นหอมเย็น สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม และใช้แต่งกลิ่นทำเครื่องสำอางได้[2],[4],[5],[6],[7]
  • ต้น มีลักษณะเป็นทรงต้นเป็นพุ่มใบทึบ และมีความสวยงาม สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ นิยมใช้ปลูกเพื่อประดับอาคารและเพื่อให้ร่มเงา หรือปลูกที่ตามบริเวณลานจอดรถ ริมถนน ดอกจะมีกลิ่นหอม[3]
  • เนื้อไม้พิกุลสามารถใช้ในการก่อสร้างทำเครื่องมือได้ เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี การขุดเรือทำสะพาน โครงเรือ ไม้คาน ไม้กระดาน วงล้อ ครก สาก ด้ามเครื่องมือ เครื่องมือทางการเกษตร เป็นต้น และใช้เนื้อไม้ในงานพิธีมงคลได้ เช่น นำมาทำเป็นด้ามหอกที่ใช้เป็นอาวุธ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือ เป็นต้น[8]
  • ดอกพิกุลจะมีกลิ่นหอมเย็น นิยมใช้บูชาพระ[7]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “พิกุล (Pi Kul)”. หน้าที่ 195.
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พิกุล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [10 ม.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พิกุล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [10 ม.ค. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พิกุล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [10 ม.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พิกุล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 ม.ค. 2014].
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “พิกุล”. อ้างอิงใน: หนังสืออุทยานสมุนไพรพุทธมลฑล หน้า 22 (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [10 ม.ค. 2014].
อุทยานดอกไม้ ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ดอกพิกุล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [10 ม.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย. “พิกุล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6/BotanicalGarden/. [10 ม.ค. 2014].
สมุนไพรไทย-ภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยพิกุล”. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th. [10 ม.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://commons.wikimedia.org/wiki/