โกฐหัวบัว สรรพคุณเป็นยาขับลม แก้อาการแน่นหน้าอก

0
1498
โกฐหัวบัว
โกฐหัวบัว สรรพคุณเป็นยาขับลม แก้อาการแน่นหน้าอก เป็นไม้ล้มลุก ดอกย่อยสีขาวขนาดเล็ก มีขนเล็กน้อยที่เส้นใบ เหง้ามีผิวขรุขระสีน้ำตาลอมเหลือง มีกลิ่นหอมฉุน รสขม
โกฐหัวบัว
เป็นไม้ล้มลุก ดอกย่อยสีขาวขนาดเล็ก มีขนเล็กน้อยที่เส้นใบ เหง้ามีผิวขรุขระสีน้ำตาลอมเหลือง มีกลิ่นหอมฉุน รสขม

โกฐหัวบัว

โกฐหัวบัว ใช้ส่วนข้อของลำต้นในการขยายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ชอบดินหนาและลึก ชอบอากาศร้อนชื้น [4],[5] ชื่อสามัญ Selinum[2], Szechuan lovage[5] ชื่อวิทยาศาสตร์ Ligusticum striatum อยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ ชวงชวอง ชวนโซยงวิง(จีนกลาง), ชวงเกียง (จีนแต้จิ๋ว)เป็นต้น[1],[5]

ลักษณะของโกฐหัวบัว

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีกลิ่นหอม ลำต้นตั้งตรงมีความสูงราวๆ 30-80 เซนติเมตร ส่วนโคนต้นจะเป็นข้อๆและมีรากฝอยงอกอยู่บริเวณข้อ จะแตกกิ่งก้านมากบริเวณช่วงบน[1],[5]
  • ดอก เป็นช่อแบบซี่ค้ำร่มมีหลายชั้น มีดอกย่อยสีขาวขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปกลมรี มีกลีบดอก 5 กลีบ ช่อดอกจะออกบริเวณกิ่ง มีเกสรตัวอยู่ 5 อัน[1],[5]
  • ใบ ออกเรียงเวียนประกอบแบบขนนกมี 2-3 ชั้น มีแฉกท้ายสุดเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีรอยหยักลึกสุดแบบขนนกที่ขอบใบ ก้านใบยาว 20 เซนติเมตร โคนก้านแผ่ออกเป็นกาบ ใบที่อยู่ใกล้โคนต้นจะเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ความกว้างราวๆ 15 เซนติเมตรและยาว 20 เซนติเมตร[5] มีขนเล็กน้อยที่เส้นใบ ส่วนหน้าและหลังใบไร้ขน[1]
  • ผล เป็นรูปไข่หรือกลมรี มีสองลูกเป็นห้าเหลี่ยมและในเหลี่ยมมีท่อน้ำมันอยู่ 1 ท่อ[1],[5]
  • เหง้า มีลักษณะออกกลมคล้ายกำปั้น มีผิวขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำไม่สม่ำเสมอ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-7 เซนติเมตร ข้อป่อง ปล้องสั้น ผิวด้านนอกเหี่ยวย่น สาก เนื้อแน่น หักยาก เป็นสีน้ำตาลอมเหลือง รอยหักจะมีสีเหลืองอมเทาหรือขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมฉุนที่รุนแรง มีท่อน้ำมันกระจายอยู่ทั่ว รสขม มันและหวานในภายหลัง ชาเล็กน้อย และเป็นส่วนที่นำมาทำเป็นยา[1],[4]

ประโยชน์ของโกฐหัวบัว

  • ค้นพบว่า สารสกัดจากเหง้ามีประสิทธิภาพในการไล่ยุงสูง ใช้ป้องกันยุงกัดได้ถึง 6.5 ชั่วโมง และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรืออาการแพ้ใด ๆ จึงสามารถนำมาพัฒนาเพื่อสร้างสารไล่ยุง เพื่อทดแทนสารเคมีไล่ยุงชนิดต่างๆได้ ข้อมูลจากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[6]
  • ดอกถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางแต่งหน้า[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • พบว่าใช้ในการลดระดับความดันในเส้นเลือดได้ ทดลองโดยนำมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของหัวใจที่แยกออกจากร่างของกระต่ายและหลอดเลือดหัวใจของกระต่ายเกิดการขยายตัว[1]
  • มีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณ 2% ซึ่งจะมี cnidic acid, cnidium lactone และชันที่มีรสเปรี้ยว และยังมีสาร phthalide หลายชนิดเช่น ferulic acid, crysophanol, butylpthalide, butylidenephthalide, 3-butylidine-7-hydroxyphthalide, wallichilide, spathulenol, tetramethylpyrazine, senkyunolide A, perlolyrine, sedanonic acid, neocni-dilide, ligustilideเป็นต้น[4],[5]
  • เมื่อใช้น้ำที่สกัดได้จากเหง้า นำมาฉีดเข้าไปในมดลูกของกระต่ายที่กำลังตั้งครรภ์
    สามารถนำเหง้าที่สกัด มาฉีดในมดลูกของกระต่ายที่กำลังตั้งครรภ์พบว่ามดลูกบีบตัวอย่างแรง และเมื่อฉีดมากเกินไปจะทำให้ การบีบตัวของมดลูกเกิดอาการชาและหยุดการบีบตัว[1]
  • ช่วยป้องกันการขาดออกซิเจนในเลือด อาการอักเสบ ต้านอาการปวด ช่วยขับเหงื่อ ขับประจำเดือน ช่วยทำให้นอนหลับได้นาน และยังสามารถลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้และมดลูกได้ [4]
  • พบสารจำพวก Chidiumlantone, Phenols, Ferulic acid, Folic acid, Cnidlide กับน้ำมันระเหยและอัลคาลอยด์(Alkaloid)ในเหง้าโกฐหัว[1]

สรรพคุณของโกฐหัวบัว

1. มีการใช้ใน “พิกัดจตุวาตะผล” ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ยาบำรุงธาตุ แก้ตรีสมุฏฐาน แก้พรรดึก แก้ลมกองริดสีดวง ขับผายลม(เหง้า)[4]
2. จัดอยู่ในตำรับ“ยาหอมนวโกฐ”และ“ยาหอมเทพจิตร” ซึ่งสามารถช่วยแก้อาการหน้ามืด คลื่นเหียน อาเจียน ตาลาย ใจสั่น แก้ลมจุกแน่นในท้อง แก้อาการหน้ามืดได้(เหง้า)[4]
3. ช่วยลดความดันในเส้นเลือดและทำให้เส้นเลือดในหัวใจขยายตัวได้ เมื่อนำมาเข้าตำรายารักษาโรคหัวใจ(เหง้า)[1]
4. สามารถเป็นยาทำให้หายปวดเมื่อยตามร่างกายและขับลมชื้นในร่างกายได้ ด้วยการใช้เข้ากับตำรายาจีน(เหง้า)[1]
5. เหง้านำมารักษาอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนมาไม่ปกติได้(เหง้า)[1],[5]
6. ใช้เหง้าในการแก้อาการปวดหัวใจได้(เหง้า)[1]
7. นำมาทำเป็นยาแก้เสมหะได้(ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
8. เหง้าใช้เป็นยาฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้เลือดน้อย แก้โรคโลหิตจาง ช่วยกระจายการตีบของเส้นเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดลมไหลเวียน เหง้ามีรสเผ็ด ขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม(เหง้า)[1],[3],[4],[5]
9. ในตำรับยาสมุนไพรประจำบ้าน เช่น “ยาประสะเปราะใหญ่”(ถอนพิษไข้ตานแทรกสำหรับเด็ก) , “ยาวิสัมพยาใหญ่” (แก้อาการท้องขึ้นท้องเฟ้อ), “ยาหอมเทพวิจิตร” (บำรุงหัวใจ แก้ลม), “ยามันทธาตุ” (แก้ธาตุไม่ปกติ)
10. ปรากฏการใช้ในตำรับ “ยาทรงนัตถุ์” ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้วิงเวียน อาการปวดศีรษะ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา แก้สลบ อีกทั้งยังอยู่ในตำรับ“มโหสถธิจันทน์”ซึ่งเป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด (เหง้า)[4]
11. ใช้เป็นยาแก้ไข้ ขับลม แก้หืดไอ บำรุงกระดูก บำรุงโลหิต ซึ่งจัดอยู่ในพิกัดโกฐได้แก่ โกฐทั้งห้า โกฐทั้งเจ็ด และโกฐทั้งเก้า(เหง้า)[2]
12. ใบ สามารถช่วยในการขับพยาธิในท้อง ขับลม แก้บิด ฆ่าเชื้อ แก้โรคประสาท แก้ไอ และใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้ท้องร่วงและแก้หวัดได้ โดยใบมีกลิ่นที่หอมชื่นใจ(ใบ)[5]
13. เหง้าสามารถนำมาทำเป็นยาแก้ปวด[1] แก้อาการปวดจากเลือดคั่ง[5] แก้ปวดกระดูก ปวดข้อ แก้ฟกช้ำและอาการปวดเจ็บต่างๆ(เหง้า)[4],[5]
14. มีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้อาการแน่นหน้าอก จุกเสียดแน่นท้อง [1],[2] อีกทั้งยังใช้ในการ ขับลมในลำไส้ แก้ลม กระจายลมทั้งปวง(เหง้า)[3],[4],[5]
15. มีการนำเหง้ามาเป็นยาแก้ไอ แก้หวัด วัณโรค โรคเข้าข้อ ตกเลือด อาเจียนเป็นเลือด ในประเทศจีน (เหง้า)[4],[5]
16. เป็นสมุนไพรที่เหมาะสำหรับการแก้อาการปวดศีรษะโดยเฉพาะ ใช้เข้ากับตำรายาจีนจะมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดศีรษะได้มากขึ้น (เหง้า)[1],[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐ หัว บัว”. หน้า 112.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐ หัว บัว Selinum”. หน้า 216.
3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของโกฐหัวบัว”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [08 มิ.ย. 2015].
4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐ หัว บัว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [08 มิ.ย. 2015].
5. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย. (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร). “โกฐหัวบัว”. หน้า 71-73.
6. ไทยรัฐออนไลน์. “สมุนไพรไทยสุดเจ๋ง! ทีมนักวิจัย มช. ค้นพบเหง้าโกฐหัวบัว ไล่ยุงดีสุด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [08 มิ.ย. 2015].
7. https://medthai.com

อ้างอิงรูปจาก
1. https://alchetron.com