จันทน์เทศ
เป็นไม้พุ่มยืนต้น เนื้อใบแข็ง หลังใบเรียบเป็นมันและมีสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ดอกสีเหลืองอ่อน ผลค่อนข้างฉ่ำน้ำ รกหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม มีกลิ่นหอม

จันทน์เทศ

จันทน์เทศ มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Houtt. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Myristica officinalis L. f, Myristica aromatica Lam., Myristica moschata Thunb.) จัดอยู่ในวงศ์จันทน์เทศ (MYRISTICACEAE) ชื่อสามัญ Nutmeg ชื่อท้องถิ่นอื่น (ภาคเหนือ,เงี้ยว-ภาคเหนือ) จันทน์บ้าน (จีนแต้จิ๋ว) เหน็กเต่าโขว่ (จีนกลาง) โร่วโต้วโค่ว โย่วโต้วโค่ว (มาเลเซีย)

ลักษณะของจันทน์เทศ

  • ต้น เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นโดยประมาณ 5-18 เมตร เปลือกลำต้นเรียบมีสีเทาอมดำ เนื้อไม้สีนวลหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย โดยสามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะกับการเจริญเติบโตคือดินร่วนปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้นโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกและทางภาคใต้ของไทย สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร และนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในปัจจุบันพบว่ามีการปลูกทั่วไปในเขตเมืองร้อน ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคใต้
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลมรี ปลายใบจะแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างโดยประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวโดยประมาณ 10-15 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง หลังใบเรียบเป็นมันและมีสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนท้องใบเรียบและมีสีเขียวอ่อน ส่วนก้านใบยาวโดยประมาณ 6-12 มิลลิเมตร
  • ดอก ออกดอกเป็นช่อ ช่อละโดยประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอกเป็นรูปคนโทคว่ำ ปลายกลีบแยกออกเป็น 4 แฉกแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศกันอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้ยาวโดยประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ดอกมีสีเหลืองอมขาว ลักษณะเป็นรูปไข่กลมรี ยาวโดยประมาณ 6 มิลลิเมตร ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ดอกเพศผู้จะเกิดเป็นกลุ่มๆ ส่วนดอกเพศเมียจะเกิดเป็นดอกเดี่ยว และดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ โดยต้นตัวเมียเท่านั้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนต้นเพศผู้จะปลูกไว้เพื่อผสมเกสรกับต้นตัวเมียเท่านั้น โดยมักจะปลูกต้นตัวผู้และต้นตัวเมียในอัตราส่วน 1 : 10 เท่านั้น
  • ผล เป็นผลสด ค่อนข้างฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม รูปร่างคล้ายกับลูกสาลี่ ยาวโดยประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบมีสีเหลืองนวล สีเหลืองอ่อน หรือสีแดงอ่อน เมื่อผลแก่แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลม ยาวโดยประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 3 เซนติเมตร เมล็ดมีสีน้ำตาล เนื้อและเปลือกแข็ง มีจำนวน 1 เมล็ดต่อผล
  • เมล็ด เราจะเรียกเมล็ดว่า “ลูกจันทน์” (Nutmeg) และเมล็ดจะมีเยื่อหุ้มหรือรกหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม มีกลิ่นหอม ซึ่งเราจะเรียกรกหุ้มเมล็ดว่า “ดอกจันทน์” (Mace) โดยมีลักษณะเป็นริ้วสีแดงจัด รูปร่างคล้ายร่างแห เป็นแผ่นบางมีหลายแฉกหุ้มเมล็ด โดยจะรัดติดแน่นอยู่กับเมล็ด เมื่อนำมาแกะแยกออกจากเมล็ด รกที่แยกออกมาสดๆ จะมีสีแดงสด และเมื่อทำให้แห้งสีของรกจะเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเนื้อ ผิวเรียบและเปราะ มีความยาวโดยประมาณ 3-5 เซนติเมตร กว้างโดยประมาณ 1-3 เซนติเมตรและมีความหนาโดยประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม รสขมฝาดและเผ็ดร้อน

สรรพคุณของจันทน์เทศ

1. ช่วยกระจายเลือดลม (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
2. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด), ลูกจันทน์ (เมล็ด)) ส่วนตำรับยาจีนระบุว่าให้ใช้จันทน์เทศที่เป็นยาแห้ง 10 กรัม เนื้อหมากแห้ง 10 กรัม ดอกคังวู้ 15 กรัม นำมาบดเป็นผง แล้วทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ใช้รับประทานครั้งละ 10-20 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
3. ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) และลูกจันทน์ (เมล็ด) มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนเล็กน้อย โดยออกฤทธิ์ต่อลำไส้และม้าม ใช้เป็นยาทำให้ธาตุและร่างกายอบอุ่น (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
4. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุอ่อน (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
5. ลูกจันทน์ (เมล็ด) มีรสหอมออกฝาด เป็นยาบำรุงโลหิต (ลูกจันทน์ (เมล็ด)) ส่วนอีกตำราหนึ่งก็ระบุว่าดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ก็มีสรรพคุณบำรุงโลหิตเช่นกัน (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
6. ช่วยแก้อาการหอบหืด (เข้าใจว่าต้องใช้ผสมกับตัวยาอื่นด้วย) (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
7. ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้อาการเบื่ออาหาร (ลูกจันทน์ (เมล็ด)) บ้างระบุว่ารกหุ้มเมล็ดก็ช่วยทำให้เจริญอาหารเช่นกัน (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
8. ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) มีรสเผ็ดร้อน เป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)) ส่วนอีกตำราหนึ่งก็ระบุว่าลูกจันทน์ (เมล็ด) ก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังเช่นกัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด))
9. ช่วยบำรุงหัวใจ (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
10. ลูกจันทน์ช่วยทำให้นอนหลับได้และนอนหลับสบาย (ลูกจันทน์ (เมล็ด))
11. ช่วยแก้อาการกระสับกระส่าย ตาลอย (แก่น)
12. แก่นเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้ดีเดือด ไข้ที่เกิดจากไวรัส (แก่น) บ้างระบุว่าลูกจันทน์ (เมล็ด) หรือดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้
13. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
14. ช่วยแก้ดีซ่าน (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
15. ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้อาการกระหายน้ำ (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
16. ช่วยแก้ลม ขับลม โดยใช้ดอกจันทน์ (รก) นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำสะอาดดื่มครั้งเดียว วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันโดยประมาณ 2-3 วัน (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ลูกจันทน์ (เมล็ด) ผล เนื้อผล ราก)
17. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)) แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน อันเกิดจากธาตุไม่ปกติ โดยใช้ดอกจันทน์ (รก) ประมาณ 3-5 อัน นำมาต้มกับน้ำสะอาดพอประมาณ แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ใน 3 ใช้ดื่มเป็นยา (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
18. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลออก (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
19. ช่วยขับเสมหะ (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
20. ช่วยแก้อาการสะอึก (ผล ลูกจันทน์ (เมล็ด))
21. ตามตำราการแพทย์แผนจีน ลูกจันทน์มีรสเผ็ดและอุ่น มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร ทำให้ชี่หมุนเวียนได้ดี ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร ช่วยระงับอาการท้องร่วง แก้อาการท้องร่วงเรื้อรัง อันเนื่องมาจากม้ามและไตพร่องและเย็นเกินไป และมีฤทธิ์ในการสมานลำไส้ (ลูกจันทน์ (เมล็ด))
22. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยใช้ดอกจันทน์ (รก) นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำสะอาดดื่มครั้งเดียว วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันโดยประมาณ 2-3 วัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
23. ช่วยแก้ลมจุกเสียดแน่นท้อง (ลูกจันทน์ (เมล็ด)) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)
24. ช่วยในการย่อยอาหาร (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
25. ช่วยแก้อาการท้องเสียอันเนื่องมาจากธาตุเย็นพร่อง (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
26. ช่วยแก้อาการท้องมาน บวมน้ำ โดยในตำรับยาจีนระบุว่าให้ใช้จันทน์เทศที่เป็นยาแห้ง 10 กรัม เนื้อหมากแห้ง 10 กรัม ดอกคังวู้ 15 กรัม นำมาบดเป็นผง แล้วทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ใช้รับประทานครั้งละ 10-20 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
27. เปลือกเมล็ดมีรสฝาดมันหอม ช่วยแก้ท้องขึ้น แก้อาการปวดท้อง (เปลือกเมล็ด)
28. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ลูกจันทน์ (เมล็ด)
29. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ลูกจันทน์ (เมล็ด)
30. ใช้เป็นยาสมานลำไส้ กระเพาะและลำไส้ไม่มีแรง หรือขับถ่ายบ่อย ให้ใช้ลูกจันทน์ 1 ลูกและยูเฮีย 5 กรัมบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 3 กรัม ถ้าเป็นเด็กให้รับประทานครั้งละ 1 กรัม (ลูกจันทน์ (เมล็ด))
31. ช่วยบำรุงน้ำดี (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
32. แก่นช่วยบำรุงตับและปอด (แก่น) บ้างระบุว่าเมล็ดและรกก็มีสรรพคุณบำรุงปอดและตับเช่นกัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
33. ช่วยแก้อาการปวดมดลูก (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ลูกจันทน์ (เมล็ด)
34. ช่วยในการคุมกำเนิด (ผล ลูกจันทน์ (เมล็ด))
35. ช่วยแก้ตับพิการ (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
36. น้ำมันระเหยง่ายใช้เป็นส่วนผสมของขี้ผึ้งที่นำมาใช้ทาระงับอาการปวด ใช้เป็นยาขับประจำเดือน ทำให้แท้ง และทำให้ประสาทหลอน ส่วนในประเทศอินโดนีเซียใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาการปวดข้อ กระดูก
37. ช่วยแก้ผื่นคัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
38. ช่วยรักษาม้ามหรือไตพิการ ด้วยการใช้ลูกจันทน์หรือดอกจันทน์ ขิงสด 8 กรัม พุทราจีน 8 ผล โป๋วกุ๊กจี 10 กรัม อู่เว้ยจื่อ 10 กรัม อู๋จูหวี 10 กรัม โดยนำทั้งหมดมารวมกันแล้วต้มกับน้ำเป็นยารับประทาน (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
39. ช่วยสมานบาดแผลภายใน (เปลือกเมล็ด)
40. ช่วยบำรุงผิวหนัง บำรุงผิวหนังให้สวยงาม (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)) ช่วยบำรุงผิวเนื้อให้เจริญ (ลูกจันทน์ (เมล็ด) ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
41. แก่นจัดอยู่ในตำรับยา (พิกัดจันทน์ทั้งห้า) (ประกอบไปด้วย แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์แดง (แก่นจันน์ผา) แก่นจันทน์ทนา แก่นจันทน์ชะมด) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ บำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ และช่วยแก้พยาธิบาดแผล (แก่น)
42. ดอกจันทน์มีปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ (รก) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่ช่วยแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย มีอาการใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
43. ตามตำราเภสัชกรรมล้านนา จะใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยามะเร็งครุดและยาเจ็บหัว
44. ผลจัดอยู่ในตำรับยา (พิกัดตรีพิษจักร) ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยตัวยา 3 ชนิด ได้แก่ ผลจันทน์เทศ กานพลู และผลผักชีล้อม โดยเป็นตำรับยาที่ช่วยบำรุงโลหิต แก้ธาตุพิการ แก้พิษเลือด แก้ลม (ผล)
45. ผลจันทน์เทศจัดอยู่ในตำรับยา (พิกัดตรีคันธวาต) ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยตัวยา 3 ชนิด ได้แก่ ผลจันทน์เทศ กานพลู และผลเร่วใหญ่ โดยเป็นตำรับยาที่แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แต่แก้อาการจุกเสียด (ผล)
46. ดอกจันทน์ยังปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ (รก) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))

วิธีใช้สมุนไพรจันทน์เทศ

1. การใช้รักษาอาการตาม ให้ใช้ลูกจันทน์ (เมล็ด) และดอกจันทน์ (รก) ขนาด 0.5 กรัม หรือโดยประมาณ 1-2 เมล็ด หรือใช้รกโดยประมาณ 4 อันแล้วนำมาป่นให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง ประมาณ 2-3 วัน
2. การใช้รักษาอาการตาม ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้โดยประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำสะอาดรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่นๆ ในตำรับยา หากใช้เป็นยาขับลมให้ใช้โดยประมาณ 5 กรัม และหากใช้เป็นยาแก้ท้องเสียให้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ควรเกิน 10 กรัม (น่าจะ 6-8 กรัม)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. ส่วนที่เป็นพิษคือส่วนของเมล็ด โดยสารพิษที่พบ Myristicin (Methoxysafrol), Phenolic ether, Volatile oil
2. ลูกจันทน์ (เมล็ด) มีน้ำระเหยอยู่ประมาณ 8-15%, แป้ง 23%, ไขมัน 25-40% และพบสาร Camphene, D-pinene, Dipentene, Eugenol, Lipase, Myristicin และ Xylan
3. ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) มีน้ำมันระเหยอยู่ประมาณ 6-11% และพบสาร Macilenic acid, Macilolic acid, และยังพบสารเดียวกันกับที่พบในลูกจันทน์อีก เช่น Myristin Olien เป็นต้น ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าดอกจันทน์มีน้ำมันระเหยประมาณ 7-14% โดยมีองค์ประกอบทางเคมีคือ Alpha-pinene (18-26.5%), Beta-pinene (9.7-17.7%), Elemicin, Limonene (2.7-3.6%), Myrcene (2.2-3.7%), Myristicin, Sabinene (15.4-36.3%), Safrole
4. น้ำมันระเหยจากลูกจันทน์ นอกจากจะมีกลิ่นหอมแล้ว ยังออกฤทธิ์ทำให้ประสาทส่วนกลางมึนชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น แมว หากใช้น้ำมันระเหยในอัตราส่วน 1.9 กรัมต่อ 1 กิโลกรัม มาทดลองกับแมว จะทำให้ม่านตาดำขยาย มีอาการหายใจช้าลง เดินไม่ตรง และหมดสติ และถ้าหากใช้น้ำมันระเหยเกินจากอัตราส่วนข้างต้น จะพบว่าแมวจะเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง
5. ผลให้ Myristica Oil ซึ่งเป็น Volatile Oil ประกอบไปด้วย Myristien และ Safrole ซึ่งใช้เป็นตัวแต่งกลิ่นและยาขับลม
6. สาร Myristin ที่พบในจันทน์ เมื่อนำมาสูดดมจะทำให้เกิดอาการมึนเมาคล้ายกับกัญชา โดยพบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ไปกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ซึ่งทำให้เกิดอาการมึนเมาได้
7. มีการทดสอบที่ระบุว่า หากรับประทานเกินกว่าในปริมาณที่กำหนดจะมีผลกระทบต่อไขมันในตับ ทำให้เกิดอาการเป็นพิษ เพราะมีสาร Myristicin อยู่ในน้ำมันระเหยของลูกจันทน์ ซึ่งหากคนรับประทานน้ำมันระเหยในปริมาณ 0.5-1 มม. จะเกิดอาการเป็นพิษต่อตับได้
8. ในคนที่รับประทานผงของลูกจันทน์ครั้งละ 7.5 กรัม จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ พูดจาไม่รู้เรื่อง มีอาการมึนและหมดสติ และหากรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้จะทำให้เสียชีวิตได้
9. การบริโภค Myristicin ในอัตรา 4-5 กรัม จะทำให้คนแสดงอาการผิดปกติทางด้านระบบประสาท เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน หากบริโภคในขนาด 8 กรัม จะทำให้เสียชีวิตได้ และการรับประทานลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม จะทำให้อาการมึนงง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง หัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการชัก และอาจถึงตายได้ เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท การใช้เครื่องยาชนิดนี้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
10. จากการศึกษาฤทธิ์ของน้ำมันในการต้านการชักที่เกิดจากการเหนี่ยวนำโดนสารเคมีและไฟฟ้าในหนูเมาส์ ด้วยการฉีดน้ำมันเข้าทางช่องท้อง 5 นาที ก่อนการเหนี่ยวนำให้หนูเกิดอาการชัก พบว่าขนาด 50, 100 และ 200 มคล./กก. มีผลต้านการชักได้ โดยขนาด 200 มคล./กก. จะให้ผลดีที่สุด และจากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าน้ำมันในขนาด 600 มคล./กก. ไม่เป็นพิษต่อระบบประสาทของหนู และในขนาด 1,265 มคล./กก. ทำให้หนูจำนวนเครื่องหนึ่งหลับ และในขนาด 2,150 มคล./กก. ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง
11. สาร Macelignan ที่แยกได้จากเหง้าของต้นจันทน์เทศ ความเข้มข้น 10 – 50 μM สามารถผลยับยั้งการสร้าง Melanin และยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ได้ เมื่อทำการทดสอบในเซลล์ Melan-a melanocytes ของหนู โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งฤทธิ์ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 13 และ 30 μM ตามลำดับ และให้ผลดีกว่าสารอาร์บูติน (Arbutin) นอกจากนี้ยังมีผลในการลดการแสดงออกของ Tyrosinase, Tyrosinase-related protein-1 (TRP-1), Tyrosinase-related protein-2 (TRP-2)
12. สารสกัดด้วยเอทานอลจากผลและเมล็ด มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญและการงอกของถั่วเขียวผิวดำ
จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมล็ดไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเมื่อให้จนถึงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม (ให้ทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง) ส่วนรากก็ไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเมื่อให้จนถึงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม (ให้ทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง)
13. มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน (Hallucination) หรือความรู้สึกสัมผัสที่ผิดจากความเป็นจริง และยังมีฤทธิ์ในการต้านอาการท้องเสียซึ่งเกิดจากเชื้อ Escherichia coli ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ต้านมะเร็ง ต้านอาการปวดและการอักเสบ ช่วยยับยั้งการสร้าง Prostaglandin
14. จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมล็ดไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเมื่อให้จนถึงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม (ให้ทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง) ส่วนรากก็ไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเมื่อให้จนถึงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม (ให้ทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง)

ประโยชน์ของจันทน์เทศ

1. ลูกจันทน์เป็นผลไม้ที่มีรสชาติแปลก คือ มีรสหวาน ร้อน สามารถนำมาตากแห้งใช้ทำเป็นลูกจันกรอบ หรือนำมาเชื่อมกับน้ำตาลก็จะมีกลิ่นหอมหวานน่ารับประทาน ส่วนเนื้อหุ้มเมล็ดก็สามารถนำมาบริโภคได้เช่นกัน โดยนำมาทำเป็นจันทน์ฝอยหรือเส้น ดอง แช่อิ่ม หยี ตากแห้ง แยม
2. ลูกจันทน์ (เมล็ด) และดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) มีรสและกลิ่นคล้ายกัน สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อช่วยแต่งกลิ่นอาหารได้ โดยเฉพาะดอกจันทน์จะมีเนื้อหนา ใช้เป็นได้ทั้งเครื่องเทศและเครื่องปรุง ให้กลิ่นรสที่นุ่มนวลกว่าแบบเมล็ด[2],[4],[15] ชาวอาหรับนิยมนำมาใส่อาหารประเภทเนื้อแพะหรือเนื้อแกะ ส่วนทางยุโรปจะใช้ใส่อาหารทั้งคาวและหวาน ส่วนชาวดัตซ์นำมาใส่ในแมสโปเตโต้ สตู กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ฟรุตพุดดิ้ง ฯลฯ ชาวอิตาลีจะนำมาใส่ในอาหารจานผักรวม ไส้กรอก เนื้อลูกวัว และพาสต้า สำหรับอาหารทั่วไปของชนชาติในหลาย ๆ ชาติที่ใส่ทั้งลูกจันทน์และดอกจันทน์ก็ได้แก่ เค้กผลไม้ เค้กน้ำผึ้ง ฟรุตพันช์ ฟรุตเดสเสิร์ต พายเนื้อ ประเภทอาหารจานไข่และชีส ส่วนเมล็ดลูกจันทน์บดเป็นผง ก็จะนำมาใช้โรยหน้าเพื่อให้มีกลิ่นหอมกับขนมปัง บัตเตอร์ พุดดิง ช็อกโกแลตร้อน เป็นต้น[16] และทางภาคใต้ของบ้านเราจะใช้เนื้อผลสดกินเป็นของขบเคี้ยวร่วมกับน้ำปลาหวานหรือพริกเกลือ มีรสออกเผ็ดและฉุนจัดสำหรับผู้ไม่เคยกิน แต่เมื่อคุ้นเคยแล้วจะติดรส
3. น้ำมันลูกจันทน์ (Nutmeg oil or myristica oil) ที่ได้จากการกลั่นลูกจันทน์ด้วยไอน้ำ สามารถนำมาไปใช้แต่งกลิ่นผงซักฟอก ยาชะล้าง สบู่ น้ำหอม ครีมและโลชันบำรุงผิวได้[7] หรือเอาเมล็ดมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมาใช้ทำเป็นยาดม ใช้ดมแก้อาการหวัด แก้อาการวิงเวียนหน้ามืดตาลาย
4. ลูกจันทน์และดอกจันทน์ สามารถนำมาใช้ในการปรุงอาหาร โดยนำไปผสมกับขนมปัง เนย แฮม ไส้กรอก เบคอน เนื้อตุ๋นต่างๆ แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น น้ำพริกสำเร็จรูป หรือนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อช่วยในการถนอมอาหาร ส่วนเนื้อผลสามารถนำไปทำเป็นอาหารได้หลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายหรือรู้จักกันมากนัก เพราะการเอาไปแปรรูปยังมีไม่มาก อีกทั้งรสชาติก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อผลจะพบได้มากในประเทศอินโดนีเซีย และสำหรับในส่วนของเมล็ด ชาวบ้านจะนำเมล็ดที่แห้งแล้วมาขูดผิวออก ก่อนนำมาใช้ก็กะเทาะเอาเปลือกออก แล้วเอาเนื้อในเมล็ดมาทุบให้แตกกระจาย คั่วให้หอม แล้วป่นเป็นผงใส่แกงคั่ว ทั้งแบบคั่วไก่ คั่วหมู คั่วเนื้อ หรือใส่ในแกงกะหรี่ ข้าวหมกไก่ เป็นต้น
5. ปัจจุบันได้มีการนำไปแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง ลูกอมลูกกวาด เครื่องหอมต่างๆ ทำเครื่องสำอาง สบู่ ยาสระผม สุรา ซึ่งอเมริกามีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
6. เนื้อผลแก่นิยมนำไปแปรรูปทำเป็นของขบเคี้ยว มีรสหอมสดชื่น หวานชุ่มคอ เผ็ดแบบเป็นธรรมชาติ และช่วยขับลม แก้บิด
7. น้ำมันลูกจันทน์และน้ำมันดอกจันทน์มีฤทธิ์ในการฆ่าลูกน้ำและตัวอ่อนของแมลงได้
8. เนื้อไม้มีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย หรือใช้ทำเครื่องหอมต่างๆ ได้ บ้างว่าใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี เพราะป้องกันมดปลวกได้ดีเยี่ยม

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรจันทน์เทศ

1. สตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้
2. สำหรับผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร มีอาการปวดฟันและท้องเสียอันเกิดจากความร้อน ไม่ควรใช้แก่นเป็นยา
3. ผู้ป่วยที่มีอาการร้อนแกร่ง บิดท้องร่วง ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้
4. ไม่ควรรับประทานลูกมากกว่า 5 กรัม เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง มึนงง ทำให้ระบบการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติและอาจเสียชีวิตได้
5. ลูกมีน้ำมันในปริมาณสูง จึงมีฤทธิ์ในการหล่อลื่นและกระตุ้นลำไส้มากจนเกินไป โดยทั่วไปแล้วจึงต้องนำมาแปรรูปโดยวิธีเฉพาะก่อนนำมาใช้ การคั่วจะช่วยขจัดน้ำมันบางส่วนออกไปได้และทำให้ฤทธิ์ดังกล่าวน้อยลง แต่จะมีฤทธิ์แรงขึ้นในการช่วยทำให้ลำไส้แข็งแรงและระงับอาการท้องเสีย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องร่วง อาเจียน
6. การรับประทานเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สารจากลูกจันทน์จะไปยับยั้งการสร้างน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังไปยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้อีกด้วย และหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้หมดสติ ม่านตาดำขยายตัว โดยพิษของลูกจันทน์นี้มาจากสารที่ชื่อว่า Myristicin ซึ่งพบอยู่ในน้ำมันระเหยของลูกจันทน์

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “จันทน์เทศ (Chan Tet)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 90.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “จันทน์เทศ Nutmeg tree”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 148.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “จันทน์เทศ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 180.
4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [24 ก.พ. 2014].
5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ดอกจันทน์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [24 ก.พ. 2014].
6. สาขาพืชผัก, มหาวิทยาลัยแม่โจ้. “จันทร์เทศ”. อ้างอิงใน: กรมส่งเสริมการเกษตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg. [24 ก.พ. 2014].
7. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th/wiki/. [24 ก.พ. 2014].
8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “จันทน์เทศ”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้เกียรติประวัติของไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [24 ก.พ. 2014].
9. ฐานข้อมูลพืชพิษ, สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “จันทน์เทศ”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือตำราสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 ว่าด้วยสมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร (ภ) หิรัญรามเดช), เอกสารข้อมูลการวิจัยสมุนไพรไทย (วันทนา งามวัฒน์, นาถฤดี สิทธิสมวงศ์ และสุทธิพงษ์ ปัญญาวงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/poison/. [24 ก.พ. 2014].
10. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ลูกจัน/จันทน์เทศ”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [24 ก.พ. 2014].
11. ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว). กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/pharma/. [24 ก.พ. 2014].
12. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “จันทน์เทศ, Nutmeg Tree”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [24 ก.พ. 2014].
13. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. เอกสารวิชาการสมุนไพร. นนทบุรี: สถาบันวิจัยสมุนไพร, 2543.
14. ระบบข้อมูลทางวิชาการ, กรมวิชาการเกษตร. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/vichakan/. [24 ก.พ. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://powo.science.kew.org/
2. https://www.iplantz.com/
3. https://www.indiamart.com/