กระไดลิง
เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่เป็นขั้น ๆ ดูคล้ายบันได รสเบื่อเมา สีขาวอมเหลือง ฝักแบน

กระไดลิง

กระไดลิง หรือบันไดลิง กระไดเต่า เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Bauhinia scandens L.[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lasiobema scandens (L.) de Wit[3], Lasiobema scandens var. horsfieldii (Miq.) de Wit) มีอีกข้อมูลที่ระบุว่า เป็นชนิด Bauhinia scandens var. horsfieldii (Prain) K.Larsen & S.S.Larsen[1],[4] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lasiobema horsfieldii Miq.) โดยจัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ คือ มะลืมคำ (เชียงใหม่), กระไดลิง (ราชบุรี), กระไดวอก โชกนุ้ย (ชาวบน-ชัยภูมิ), เครือเสี้ยว (ไทใหญ่), กระไดวอก มะลืมดำ (ภาคเหนือ), บันไดลิง, ลางลิง[1],[2],[4]

ลักษณะของต้นกระไดลิง

  • ลักษณะของต้น[1],[3]
    – เป็นพรรณไม้เถาเนื้อแข็งผลัดใบ ขนาดใหญ่
    – มีมือเกาะ มักขึ้นพาดพันตามเรือนยอดของต้นไม้อื่นไปได้ไกล
    – เถาแก่มีลักษณะแข็ง เหนียว แบน โค้งไปมาจนเป็นลอนอย่างสม่ำเสมอ เป็นขั้น ๆ ดูคล้ายบันได
    – ตามกิ่งอ่อนจะมีขนขึ้นประปราย กิ่งแก่จะเกลี้ยงไม่มีขน
    – กระจายพันธุ์ในอินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย
    – ประเทศไทยจะสามารถพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้
    – ขึ้นตามป่าดิบแล้งและตามป่าเบญจพรรณชื้น
  • ลักษณะของใบ[1]
    – ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน
    – ใบเป็นรูปไข่หรือรูปพัด
    – ปลายใบแหลมอาจจะเว้ามากหรือน้อย
    – ใบมีความกว้าง 5-12 เซนติเมตร และยาว 6-11 เซนติเมตร
    – ใบที่อยู่ส่วนปลายจะเว้าลึกลงมาค่อนใบ
    – แผ่นใบจะมีลักษณะเป็นสองแฉก
    – โคนใบกว้างและมักเว้าเล็กน้อย
    – ตรงรอยต่อก้านใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ
    – มีเส้นใบออกจากโคนใบ 5-7 เส้น
    – ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน
    – ผิวใบด้านล่างมีขนขึ้นประปรายหรือเกลี้ยง
    – ก้านใบมีความยาว 1.5-5 เซนติเมตร
    – หูใบมีขนาดที่เล็กมาก เป็นติ่งยาวและร่วงได้ง่าย
  • ลักษณะของดอก
    – ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง
    – ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง
    – มีความยาว 12-25 เซนติเมตร
    – มีขนขึ้นประปราย
    – แตกแขนงน้อย
    – แต่ละแขนงจะมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก
    – กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูปถ้วย
    – กลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีขาวอมเหลือง
    – แยกจากกัน คล้ายรูปหัด
    – ก้านกลีบดอกสั้น
    – ดอกมีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ 3 อัน
    – มีเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์อีก 2 อัน
    – รังไข่ก้านสั้น
  • ลักษณะของผล[1],[3]
    – ออกผลเป็นฝัก
    – ฝักมีความแบน รูปรีหรืออาจจะเป็นรูปไข่
    – ปลายฝักมน
    – มีติ่งแหลมสั้น ๆ
    – ฝักมีความกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร และยาว 3-4 เซนติเมตร
    – ฝักแก่เป็นสีน้ำตาลแดง
    – ผักเมื่อแห้งแล้วจะแตกออก
    – มีเมล็ด 1-2 เมล็ด เป็นรูปขอบขนาน

สรรพคุณของกระไดลิง

  • ราก สามารถใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆได้[5]
  • ใบ สามารถใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ตัวร้อนได้[5]
  • เมล็ด สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้[5],[6]
  • เมล็ด สามารถใช้แก้ไข้เซื่องซึม มีอาการหน้าหมองเนื่องมาจากพิษไข้ได้[5],[6]
  • เมล็ด สามารถแก้ร้อนใน ช่วยขับเหงื่อได้[5],[6]
  • เถา มีรสเบื่อเมา สามารถใช้เป็นยาแก้พิษฝี แก้ไข้ตัวร้อน และขับเหงื่อได้[2],[5],[6]
  • เถา สามารถใช้เป็นยาแก้พิษไข้ แก้พิษร้อน แก้ร้อนใน แก้ไข้เซื่องซึม แก้พิษโลหิต แก้พิษไข้ทั้งปวง แก้พิษเลือดลม และเป็นยาแก้กระษัยได้[2],[5],[6]
  • เถา ในตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะนำมาต้มกับน้ำหรือฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด[6]
  • เถา ในประเทศอินโดนีเซียจะใช้น้ำเลี้ยงหรือน้ำที่ตัดได้จากเถาหรือต้นสดที่ไหลซึมออกมา นำมาจิบกินบ่อย ๆ เพื่อเป็นยาบรรเทาอาการไอ[1],[6]
  • เปลือกต้น สามารถใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้ปวดข้อได้[5]
  • เปลือกต้น สามารถนำมาต้มกับน้ำอาบเพื่อใช้เป็นยาคุมกำเนิดได้ แต่คนท้องห้ามใช้เด็ดขาดเพราะอาจจะทำให้เกิดการแท้งบุตรได้[4]

ประโยชน์ของกระไดลิง

  • เปลือกต้น มีความเหนียว สามารถนำมาใช้แทนเชือกได้
  • เถาแห้ง ที่มีคดงอไปมา นิยมนำมาใช้ในงานประดิษฐ์หลายอย่าง เช่น ต้นไม้ประดิษฐ์, กรอบรูป, แกนของโคมไฟ

สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

มะลืมคำ,กระไดลิง,กระไดวอก,โชกนุ้ย,เครือเสี้ยว,กระไดวอก,มะลืมดำ,บันไดลิง,ลางลิง

เอกสารอ้างอิง
1. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระ ได ลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [21 ส.ค. 2015].
2. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “กระ ได ลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [21 ส.ค. 2015].
3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กระ ได ลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [21 ส.ค. 2015].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กระ ได ลิง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 ส.ค. 2015].
5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กระ ได ลิง”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [21 ส.ค. 2015].
6. ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “กระ ได ลิง สรรพคุณน่ารู้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [22 ส.ค. 2015].