เปราะหอม
เป็นว่านที่มีเหง้า มีรสเผ็ดขมและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดอกมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูแต้มด้วยสีม่วง

เปราะหอม

เปราะหอม เป็นพืชล้มลุกมีเหง้าอายุราวหนึ่งปี เป็นไม้ลงหัวจำพวกมหากาฬ พบได้มากทางภาคเหนือ มีรสเผ็ดขมและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ เปราะหอมขาวและเปราะหอมแดง เป็นส่วนประกอบในตำรับยาเขียวหอม หัวและใบสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหาร เป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกงหรือนำมาตำใส่เครื่องแกง นอกจากนั้นยังนำมาใช้ในด้านความงามได้ มีดอกสีสันสวยงามจึงสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย

>> ขิง สุดยอดสมุนไพรป้องกันเซลล์มะเร็งในระยะยาวได้ 
>> กระวาน เครื่องเทศรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม เป็นยาดีต่อเลือดและลมในร่างกาย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเปราะหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia galanga L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sand ginger” “Aromatic ginger” “Resurrection lily”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เปราะหอมขาว เปราะหอมแดง หอมเปราะ” ภาคเหนือเรียกว่า “ว่านหอม ว่านแผ่นดินเย็น ว่านตีนดิน” ภาคใต้เรียกว่า “เปราะ” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ว่านนกยูง ว่านหาวนอน” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ซู”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ชื่อพ้อง : Kaempferia marginata Carey ex Roscoe

ลักษณะของเปราะหอม

เหง้า : มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน หรือเรียกว่า “เหง้า” เนื้อภายในของเหง้ามีสีเหลืองอ่อนและมีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ใบ : เป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นมาจากหัวหรือเหง้าใต้ดินประมาณ 2 – 3 ใบ แผ่ราบไปตามพื้นดิน หรือวางตัวอยู่ในแนวราบเหนือพื้นดินเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่ป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนหรืออาจเว้าเล็กน้อย บางครั้งอาจมีขอบใบสีแดงคล้ำ มีขนอ่อนอยู่บริเวณท้องใบ ส่วนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบ
ใบอ่อน : ลักษณะม้วนเป็นกระบอกออกมาแล้วค่อยแผ่ราบบนหน้าดิน ในหนึ่งต้นจะมีประมาณ 1 – 2 ใบ ลักษณะของใบมีรูปร่างทรงกลมโต หน้าใบและหลังใบมีสีเขียว ท้องใบนั้นถ้าหากเป็น “เปราะหอมขาว” จะมีท้องใบสีขาว แต่ถ้าหากเป็น “เปราะหอมแดง” ท้องใบจะมีสีแดง ใบมีกลิ่นหอม ออกในช่วงหน้าฝนและจะแห้งเหี่ยวไปในช่วงหน้าแล้ง
ดอก : ออกดอกรวมเป็นช่อ มีดอกประมาณ 4 – 12 ดอก โดยออกตรงกลางระหว่างใบ ดอกมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูแต้มด้วยสีม่วง ในแต่ละดอกจะมีกลีบประดับ 2 กลีบรองรับอยู่ โดยใบและต้นนั้นจะเริ่มแห้งเมื่อออกดอก
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้

สรรพคุณของเปราะหอม

  • ช่วยฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ช่วยแก้ไข้ แก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยแก้สิว แก้ฝ้า ทำให้ผิวหน้าดูสดใส ช่วยรักษาผิวพรรณ
  • สรรพคุณจากหัว ต้านอนุมูลอิสระ น้ำมันหอมระเหยจากหัวมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กคลายตัว ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด
    – เป็นยาแก้ปวดศีรษะ แก้คลายเครียด ด้วยการนำหัวมาตำคั้นเอาน้ำไปผสมกับแป้งหรือว่านหูเสือ จะได้แป้งดินสอพองไว้ทาขมับ
    – เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ด้วยการใช้หัวผสมลงในยาหอม
    – ช่วยในการนอนหลับ ช่วยลดความเครียด ด้วยการนำหัวมาต้มหรือชงกิน
    – ช่วยบรรเทาอาการปวด ด้วยการนำหัวมาโขลกหรือทุบใส่น้ำให้พอชุ่ม นำผ้ามาชุบแล้วใช้พันบริเวณที่มีอาการ
    – ช่วยลดอาการอักเสบที่ฝี ด้วยการนำหัวมาตำใช้พอก
  • สรรพคุณจากหัวและใบ ช่วยป้องกันการเกิดรังแค รักษาอาการหนังศีรษะแห้ง
    – เป็นยาแก้ปวดศีรษะ แก้คลายเครียด ด้วยการนำทั้งหัวและใบมาโขลกแล้วใส่น้ำพอชุ่ม เอาไปชุบมาใช้คลุมหัว
    – ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ด้วยการนำน้ำคั้นจากใบและเหง้าใช้ป้ายคอ
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร บำรุงลำไส้

สรรพคุณของเปราะหอมขาว

  • สรรพคุณจากหัว ช่วยเจริญธาตุไฟ แก้ลงท้อง ช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูก ช่วยแก้เสมหะ ช่วยแก้โลหิต แก้ลมพิษ ช่วยขับลมในลำไส้
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้เด็กมีอาการนอนสะดุ้งผวา แก้ร้องไห้ตาเหลือก แก้ตาช้อนดูหลังคา
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูก
  • สรรพคุณจากต้น ช่วยขับเลือดเน่าเสียของสตรี

สรรพคุณของเปราะหอมแดง

  • สรรพคุณจากหัว ช่วยเจริญธาตุไฟ แก้ลงท้อง ช่วยแก้อาการไอ ช่วยแก้เสมหะ ช่วยขับลม แก้อาการท้องขึ้น แก้ท้องเฟ้อ ช่วยแก้ลมพิษ ช่วยแก้ผดผื่นคัน ช่วยรักษาบาดแผล
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยรักษาโรคตา แก้ตาอักเสบ แก้ตาแฉะ
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยขับลม แก้อาการท้องขึ้น แก้ท้องเฟ้อ ช่วยแก้เกลื้อนช้าง
  • สรรพคุณจากต้น ช่วยขับลม แก้อาการท้องขึ้น แก้ท้องเฟ้อ ช่วยขับเลือดและหนองให้ตก

ประโยชน์ของเปราะหอม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร หัวและใบนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ ใบใช้รับประทานเป็นผักแกล้ม หรือใช้ทำหมกปลาหรือใส่แกงปลา หัวนำมาใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกงหรือนำมาตำใส่เครื่องแกง ทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริก หรือใช้เป็นส่วนผสมในน้ำพริกเผา
2. เป็นสารให้ความหอม กลิ่นหอมสามารถช่วยในการผ่อนคลาย เหมาะสำหรับใช้เป็น Aroma therapy
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ มีทั้งแดงและขาวสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้
4. เป็นความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ นำมาแช่น้ำให้ผู้ป่วยรับประทานจะช่วยปัดเป่าภูตผีปีศาจและขจัดมารออกไปได้ เป็นไม้มงคลที่ใช้สำหรับใส่ลงไปในน้ำสำหรับสรงน้ำพระหรือน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และยังใช้ผสมในพระเครื่อง เป็นว่านมหาเสน่ห์สำหรับชายหนุ่ม นำว่านมาปลุกเสกด้วยคาถาแล้วนำมาเขียนคิ้ว หรือใช้ทาปากเพื่อให้ได้รับความเมตตา ใช้ในงานแต่งของชาวอีสานด้วยการนำไปแช่ไว้ในขันใส่น้ำสำหรับดื่มเพื่อความเป็นสิริมงคล
5. เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ มีการนำมาใช้เป็นเครื่องสำอาง แป้งฝุ่น แป้งพัฟผสมรองพื้น เจลแต้มสิว สบู่ แชมพู ครีมนวดผม เป็นครีมกันแดด ทำเป็นน้ำยาบ้วนปาก

เป็นว่านที่มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม นำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง ทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริกหรือใช้เป็นส่วนผสมในน้ำพริกเผา นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยในการทำให้ผิวพรรณดีจึงมีการนำไปใช้เป็นเครื่องสำอางหรือครีมบำรุงได้ มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของหัว มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ช่วยในการนอนหลับ ช่วยลดความเครียด บรรเทาอาการปวด ดีต่อระบบเลือดและระบบลมในร่างกายอีกด้วย

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เปราะหอมขาว, เปราะหอมแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [18 พ.ย. 2013].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง เปราะหอม“. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2549. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
ว่านและสมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านเปราะหอม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
RUM มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “เปราะหอม…มหัศจรรย์สมุนไพรไทย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rum.psu.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
อภัยภูเบศร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.abhaiherb.com. [18 พ.ย. 2013].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/