กำแพงเจ็ดชั้น
กำแพงเจ็ดชั้น ในชื่อทางวิทยาศาสตร์ Salacia chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)
สมุนไพรกำแพงเจ็ดชั้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า น้ำนอง มะต่อมไก่ (ภาคเหนือ), ขาวไก่ ตาไก่ ตากวาง เครือตากวาง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หลุมนก (ภาคใต้), ตะลุ่มนก (ราชบุรี), ตาไก้ ตาใกล้ (พิษณุโลก), ขอบกระด้ง พรองนก (อ่างทอง), กระดุมนก (ประจวบคีรีขันธ์), กลุมนก เป็นต้น[1],[2]
กำแพงเจ็ดชั้น คือสมุนไพรที่ได้ขึ้นชื่อเรื่องการช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (คนละชนิดกันกับต้น “ว่านกำแพงเจ็ดชั้น”) เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง เพราะอัตราการเกิดและการอยู่รอดมีความเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกและทำลายเป็นอย่างมาก ในบางพื้นที่ของป่าหรือตามชุมชนต่าง ๆ ก็มีจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในการเพาะและขยายพันธุ์เพื่อที่จะสามารถนำมาปลูกทดแทนในป่าได้ และส่งเสริมให้มีการปลูกตามหัวไร่ปลายนาในชุมชนสืบต่อไป
ลักษณะของกำแพงเจ็ดชั้น
- ต้นเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อยมีเนื้อที่แข็ง ความสูงของต้นอยู่ที่ประมาณ 2-6 เมตร เปลือกต้นผิวเรียบ เป็นสีเทานวล ภายในเนื้อไม้มีวงปีเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เรียงซ้อนกันอยู่ประมาณ 7-9 ชั้น พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มักพบตามป่าชายทะเล ตามป่าดิบริมแหล่งน้ำหรือที่โล่ง และป่าเบญจพรรณ ที่มีความระดับความสูงถึง 600 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด[1],[2],[3]
- ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน สลับกับตั้งฉาก ลักษณะแผ่นใบเป็นรูปวงรี หรือรูปวงรีกว้าง หรือรูปวงรีแกมใบหอก หรือรูปไข่ หรือรูปไข่หัวกลับ ใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ปลายใบนั้นแหลมหรือเป็นมน ส่วนโคนเป็นสอบ ขอบใบเป็นหยักหยาบ ๆ แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน เป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบ เนื้อใบกรอบ ผิวด้านบนและด้านล่างของใบหนาและเป็นมัน มีเส้นแขนงใบประมาณ 4-10 คู่ และส่วนของก้านใบนั้นยาวประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร[1]
- ดอกออกเป็นช่อ แบบเป็นกระจุกหรือช่อแยกเป็นแขนงสั้น ๆ ตามซอกใบหรือตามกิ่งก้าน ดอกมีขนาดที่เล็ก เป็นสีเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง ดอกมีกลีบทั้งสิ้น 5 กลีบ ปลายกลีบดอกเป็นมนและบิดเล็กน้อย แกนดอกนูนเป็นวงกลม มี 3-6 ดอกในแต่ละช่อ กลีบดอกเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปรี มีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยงทั้งหมด 5 กลีบ ซึ่งมีขนาดที่เล็กมาก ลักษณะของกลีบเลี้ยงนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายเป็นมนกลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ที่ขอบเป็นชายครุย ส่วนจานฐานดอกเป็นรูปถ้วยลักษณะคล้ายกับถุง และมีปุ่มเล็ก ๆ อยู่ตามขอบอีกด้วย มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้อยู่ 3 ก้าน ติดบนขอบจานของฐานดอก ก้านเกสรนั้นสั้น มีอับเรณูเป็นรูปส้อม ปลายเกสรชนกันเป็นยอดแหลม และยังมีรังไข่ซ่อนอยู่ในจานฐานดอกอยู่ 3 ช่อง มีออวุล 2 เม็ดในแต่ละช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น และก้านดอกยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1]
- ผลมีลักษณะค่อนข้างจะกลม เป็นรูปกระสวยกว้างหรือรูปรี ผลผิวเกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๆ 1-2 เซนติเมตร โดยผลตอนอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีแดงอมส้ม และผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม ขนาดใกล้เคียงกับผล ผลสามารถนำมารับประทานได้[1]
สรรพคุณของกำแพงเจ็ดชั้น
1. ลำต้นช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 1-2 ช้อนชา ในเวลาช่วงเช้าและเย็น หรืออีกสูตรให้นำไปผสมเข้ากับเครื่องยารากชะมวง รากตูมกาขาว และรากปอก่อน (ลำต้น) หรือจะใช้รากมาต้มหรือนำไปดองเป็นสุราไว้ดื่มก็ได้เช่นกัน (ราก)[1]
2. ช่วยบำรุงกำลังได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
3. สามารถช่วยขับผายลม (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1],[2]
4. ดอกมีฤทธิ์ช่วยแก้อาการบิดมูกเลือด (ดอก)[1],[5]
5. ลำต้นปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้เข้ากับเครื่องยา แก่นตากวง แก่นตาไก้ แก่นตาน แก่นดูกไส และแก่นตานกกด (ลำต้น)[1],[5]
6. ช่วยฟอกและขับระดูขาว ขับน้ำคาวปลาของสตรี โดยการนำต้นไปผสมเข้ายากับเปลือกต้นมะดูก หรือจะใช้ใบหรือรากก็ได้เช่นกัน (ต้น, ใบ, ราก)[1],[2],[5]
7. ในประเทศฟิลิปปินส์มีการใช้รากกับยาแผนโบราณเพื่อช่วยบำบัดอาการปวดประจำเดือน (ราก)[3]
8. ลำต้นนำมาปรุงเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้เข้ากับเครื่องยา แก่นกระถิน ปูนขาว และว่านงวงช้าง จากนั้นนำมาต้ม (ลำต้น)[1]
9. ต้นสามารถช่วยแก้น้ำดีพิการได้ (ต้น)[5]
10. เถาใช้ช่วยแก้ซางให้ตาเหลือง (เถา)[5]
11. สามารถช่วยรักษาโรคตับอักเสบ (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1]
12. หัวช่วยรักษาบาดแผลเรื้อรังได้ (หัว)[5]
13. หัวสามารถช่วยรักษาตะมอยหรือตาเดือน (หัว)[5]
14. ลำต้นนำมาปรุงเป็นยาแก้ปวดเมื่อย โดยใช้เข้ากับเครื่องยา ตากวง ตาไก่ ขมิ้นเกลือ ดูกหิน ตับเจ่า และอ้อยดำ (ให้ใช้เฉพาะลำต้นของทุกต้นนำมาต้มน้ำดื่ม) หรือจะใช้ลำต้นมาต้มน้ำดื่ม หรือนำไปดองกับสุราก็ได้เช่นกัน (ต้น)[1]
15. แก่นและรากนำมาต้มน้ำดื่มเป็นแก้เส้นเอ็นอักเสบ (แก่น, ราก)[1]
16. สามารถช่วยแก้อาการปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ เข้าข้อ (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1],[2]
17. ตัวผลนั้นในภูมิภาคอินโดจีนใช้เข้ายาพื้นบ้านเพื่อช่วยลดกำหนัดหรือความต้องการทางเพศ (ผล)[3]
18. ต้นใช้ช่วยฟอกโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษทำให้ร้อน แก้โลหิตจาง ด้วยการนำต้นมาผสมเข้ายากับเปลือกต้นมะดูก (ต้น) หรือจะใช้ส่วนของรากนำมาต้มหรือดองสุราดื่ม ก็ช่วยดับพิษร้อนของโลหิตเช่นกัน (ราก)[1],[2]
19. เถาช่วยบำรุงหัวใจ (เถา)[4],[5]
20. รากนำมาต้มหรือดองกับสุราดื่มช่วยบำรุงน้ำเหลือง [1],[5]
21. สามารถช่วยแก้อาการผอมแห้งแรงน้อยได้ (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1]
22. ต้นใช้ช่วยแก้เบาหวาน ด้วยการนำลำต้นมาผสมเข้ากับเครื่องยาแก่นสัก รากทองพันชั่ง หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู และหญ้าชันกาดทั้งต้น (ต้น) ส่วนในประเทศกัมพูชาจะใช้เถาของต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (เถา)[1]
23. รากนั้นมีรสเมาเบื่อฝาด นำไปต้มหรือดองกับสุราดื่ม ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ [1]
24. รากช่วยรักษาโรคตาได้ [1]
25. ต้นและเถาใช้แก้ไข้ [5]
26. สามารถช่วยแก้ประดง (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1], (เถา)[5]
27. ต้นใช้ช่วยแก้หืด โดยการนำลำต้นผสมเข้ากับเครื่องยาแก่นพลับพลา แก่นโมกหลวง แก่นจำปา ต้นสบู่ขาว ต้นคำรอก และต้นพลองเหมือด (ต้น)[1]
28. ต้นสามารถช่วยแก้เสมหะได้ (ต้น)[5]
29. ลำต้นนำมาปรุงเป็นยาระบาย โดยใช้เข้ากับเครื่องยาคอแลน ตากวง ดูกไส พาสาน และยาปะดง (ลำต้น) หรืออีกสูตรให้ใช้ผสมเข้ากับเครื่องยารากชะมวง รากตูมกาขาว และรากปอด่อน (ต้น) หรือจะใช้ส่วนรากและแก่นนำไปต้มเป็นน้ำดื่มเป็นยาระบายก็ได้เช่นกัน (แก่น, ราก)[1]
ประโยชน์ของกำแพงเจ็ดชั้น
นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรได้แล้ว ตัวผลนั้นก็สามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้เช่นกัน (ผล)[1],[3]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [14 ต.ค. 2013].
2. มูลนิธิสุขภาพไทย. “กำแพงเจ็ดชั้น ไม้ชื่อแปลกช่วยบำรุงโลหิต”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [14 ต.ค. 2013].
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [14 ต.ค. 2013].
4. กรมปศุสัตว์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th. [14 ต.ค. 2013].
5. เดอะแดนดอตคอม. “Gallery ดอกกำแพงเจ็ดชั้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [14 ต.ค. 2013].
6. ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “การศึกษาความหลากหลายพรรณพืชสมุนไพร ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดชุมพร”. (ชัยรัตน์ รัตนดำรงภิญโญ).
รูปอ้างอิงจาก
1. https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:162552-1
2. https://indiabiodiversity.org/files-api/api/get/raw/observations//a0bf405b-e293-4fff-90b2-6050d61b658c/211.jpg