หนอนตายหยาก
เป็นไม้ล้มลุกกึ่งเถาเลื้อย มีหัวอยู่ในดิน ดอก4กลีบสีเขียวอ่อนอมเหลืองลายเส้นสีม่วงลายประ ชั้นในสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง ฝักห้อยลงเป็นพวง

หนอนตายหยาก

ต้นหนอนตายหยาก อยู่วงศ์หนอนตายหยาก (STEMONACEAE) สามารถพบเจอได้ตามป่าทั่วไปในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย จีน ญี่ปุ่น ลาว มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น กะเพียดหนู, หนอนตายยาก (จังหวัดลำปาง), โปร่งมดง่าม (เชียงใหม่), กะเพียด (จังหวัดชลบุรี, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), สลอดเชียงคำ (อีสานโบราณ), หนอนตายหยาก (แม่ฮ่องสอน), ปงมดง่าม (เชียงใหม่), ป้งสามสิบ (คนเมือง) [1],[2],[6],[7],[8] ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ต้นตายหยากเล็ก ซึ่งชื่อวิทยาศาสตร์ Stemona tuberosa Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Roxburghia gloriosa Pers., Roxburghia gloriosoides Roxb., Roxburghia viridiflora Sm.) โดยข้อมูลจากหนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ระบุเอาไว้ว่ายังมีหนอนตายหยากเล็กอีกชนิด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stemona japonica Blume Miq. มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ป่ายปู้, หนอนตายหยากเล็ก, โป่งมดง่าม, ตุ้ยเย่ป่ายปู้ (จีนกลาง) ตามตำราระบุเอาไว้ว่าใช้แทนกันได้[3] หนอนตากหยากใหญ่ ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Stemona collinsiae Craib มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ปงช้าง, หนอนตายหยาก, กะเพียดช้าง [5]

ลักษณะของหนอนตายหยาก

ลักษณะของหนอนตายหยากเล็ก

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีกึ่งเถาเลื้อยพัน จะเลื้อยพันต้นไม้อื่น สามารถมีความยาวได้ประมาณ 10 เมตร สูงได้ประมาณ 40-60 เซนติเมตร เถากลม เป็นสีเขียว จะมีรากเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ในดิน มีลักษณะเป็นรูปกระสวย จะออกเป็นกระจุก เนื้อจะอ่อนนิ่มเป็นสีเหลืองขาว ขยายพันธุ์โดยการใช้เหง้าปักชำ การเพาะเมล็ด [1],[2],[7]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงเวียนสลับที่ใกล้โคนต้น จะออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามที่กลางต้นหรือยอด ใบเป็นรูปหัวใจ ที่โคนใบเว้า ส่วนที่ปลายใบจะเรียวแหลม ขอบใบจะเรียบหรือบิดเป็นคลื่นนิดหน่อย ใบกว้างประมาณ 3-14 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 9-20 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นคลื่น ที่เส้นใบแตกออกจากโคนใบขนานกันไปด้านปลายใบ 9-13 เส้น ก้านใบมีความยาวประมาณ 1.5-7 เซนติเมตร [1],[8]
  • ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศจะออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะประมาณ 2-6 ดอก ดอกออกที่ตามซอกใบ ที่ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร และจะมีใบประดับยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร ก้านดอกมีความยาวประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร มีกลีบรวมอยู่ 4 กลีบ จะเรียงเป็นชั้น 2 ชั้น มีชั้นละ 2 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปแถบยาวที่ปลายจะแหลม กว้างประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร กลีบชั้นนอกจะมีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อนอมสีเหลือง สีเขียว จะมีลายเส้นเป็นสีม่วงหรือสีเขียวแก่เป็นลายประ กลีบชั้นในมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง และมีลายเส้นประสีแดง มีเกสรเพศผู้ 4 อัน มีความยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ก้านเกสรมีขนาดสั้น อับเรณูมีลักษณะเป็นสีม่วง มีความยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ที่ปลายมีจะงอย จะงอยที่มีความยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร มีรังไข่อยู่เหนือฐานวงกลีบรวม [1],[8]
  • ผล จะออกเป็นฝักห้อยลงเป็นพวง ที่ปลายฝักจะแหลม กว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ถ้าแห้งจะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดมีขนาดยาวประมาณ 1-1.7 เซนติเมตร ที่ปลายจะเรียวแหลมมีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ก้านเมล็ดมีความยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร จะมีเยื่อหุ้มที่โคนเมล็ด[1],[8]

ลักษณะของหนอนตายหยากใหญ่

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่สามารถมีอายุได้หลายปี มีลำต้นตั้งตรง สามารถสูงได้ถึงประมาณ 20-40 เซนติเมตร จะแตกกิ่งก้านเยอะ จะมีรากอยู่ในดินเยอะ ที่รากจะเป็นรากกลุ่มพวง รากมีลักษณะเป็นสีเหลืองอ่อนอวบน้ำ มีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร สามารถขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด และพอถึงฤดูแล้งต้นเหนือดินจะโทรมหมดเหลือรากใต้ดิน และพอเข้าสู่ฤดูฝนใบจะงอกพร้อมกับออกดอก สามารถพบได้ที่ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา [5],[6]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปหัวใจ ที่โคนใบเว้าจะเป็นรูปหัวใจ ส่วนที่ปลายใบจะแหลม ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร ผิวใบมีลักษณะเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นใบอยู่ประมาณ 10-15 เส้น จะขนานกันอยู่ ที่ระหว่างเส้นแขนงใบจะมีเส้นใบย่อยตัดขวาง ก้านใบมีขนาดยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ที่โคนจะพองเป็นกระเปาะ[5]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตามซอกใบ มีใบประดับเป็นรูปขอบขนานปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 0.25-0.3 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร และก้านดอกย่อยมีขนาดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีกลีบดอกอยู่ 4 กลีบ เป็นสีเหลืองแกมสีชมพู จะขนาดไม่เท่ากันเรียงเป็นชั้น 2 ชั้น ชั้นนอกมีอยู่ 2 อัน เป็นรูปขอบขนานปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1.9-2 เซนติเมตร และมีเส้นแขนงอยู่ประมาณ 9-11 เส้น ชั้นนอกมีอยู่ 2 อัน เป็นรูปไข่ปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.6-0.7 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1.8-1.9 เซนติเมตร และมีเส้นแขนงอยู่ประมาณ 13-15 เส้น มีเกสรเพศผู้อยู่ 4 อัน เป็นรูปขอบขนาน ที่โคนจะเป็นรูปหัวใจขอบเรียบ ส่วนที่ปลายจะแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร เกสรเพศเมียจะมีรังไข่อยู่ที่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร ที่ปลายเกสรเพศเมียจะเล็ก[5]
  • ผล มีขนาดเล็ก ค่อนข้างที่จะแข็ง เป็นสีน้ำตาล[5]

ข้อควรระวังในการใช้

  • รากจะมีพิษ ถ้าทานจะทำให้มึนเมา อาจถึงตายได้[5] มีข้อมูลที่ระบุไว้ว่าการที่จะนำมาใช้เป็นยาต้องผ่านกรรมวิธีการทำลายพิษก่อนถึงจะใช้ได้ อย่างเช่นวิธี การนำรากมาล้างให้สะอาดแล้วลวกหรือนึ่งจนไม่เห็นแกนสีขาวในราก และต้องนำไปตากแดดก่อนใช้ปรุงยา ในบางตำรานำไปเชื่อมกับน้ำผึ้งก่อนใช้ (นันทวัน และอรนุช 2543)

ประโยชน์หนอนตายหยาก

1. ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม แทนการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงได้[7]
2. สามารถนำรากมาโขลกบีบเอาน้ำมาใช้หยอดแผลวัวและควายที่มีหนอนไช หรือนำกากรากสดมาโปะปิดแผลของสัตว์พาหะที่เลียไม่ถึง ใช้เป็นยาฆ่าหนอนที่เกิดในแผล [5],[6]
3. สามารถนำใบมาใช้ยักปากไหปลาร้า ป้องกันหนอนได้[8]
4. สามารถใช้รักษาเหา โดยนำรากสดล้างน้ำสะอาดประมาณ 3-4 ราก มาตำผสมน้ำใช้ชโลมเส้นผมไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยสระออกให้สะอาด ทำจนกว่าเหาจะตาย[4]
5. สามารถนำรากสดประมาณ 500 กรัม มาตำให้ละเอียด แล้วเอาใส่ท่อน้ำทิ้ง ฆ่ายุงและลูกน้ำได้[3]
6. สามารถนำรากมาตำผสมน้ำเป็นยาฆ่าแมลง หนอนศัตรูพืชที่รบกวนพืชผักได้[5],[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
– สารสกัดมีฤทธิ์ที่ฆ่าพยาธิหรือเชื้อโรคได้หลายชนิด[3]
– พบสาร Oxtuberostemonine, Protostemonine, Isotuberostemonine, Stemonine, Tuberostemonine, Hypotoberosstemonine, Iso-Stemonidine, Stemonidine เป็นต้น[3] และมีสารอื่นที่พบ อย่างเช่น stemonone, stemonacetal, rotenoid compound, stemonal[5]
– จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันกับหนูถีบจักรทดลอง โดยป้อนสารสกัดจากรากขนาด 0.25-80 ก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และขนาด 10 ก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลา 1 เดือน ปรากฏว่าไม่พบความเป็นพิษของสารสกัด[9]
– จากการทดลองกับสัตว์ทดลอง ปรากฏว่ายับยั้งการไอของสัตว์ทดลองได้ และจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางของระบบหายใจ ทำให้หายใจได้ผลช้าลง[3]

สรรพคุณหนอนตายหยาก

1. รากของหนอนตายหยากใหญ่ จะมีรสเย็น และจะเป็นยาแก้อาการวัยทอง[6]
2. ในตำรายาไทยนำรากมาทุบหรือตำผสมน้ำหรือหมักกับน้ำ แล้วนำน้ำมาใช้พอกทาฆ่าศัตรูพืช แมลง หิด เหา หนอน (ราก)[1],[2],[5]
3. สามารถใช้รักษาจี๊ดได้ โดยนำรากสดล้างสะอาดประมาณ 3-4 ราก มาหั่นตำละเอียด นำมาพอกตรงที่มีตัวจี๊ด สังเกตได้โดยบริเวณนั้นจะบวม โดยพอกจนหาย (ราก)[4]
4. สามารถนำรากมาปรุงเป็นยารักษามะเร็งตับได้ (ราก)[1],[5]
5. ชาวเขาเผ่าม้งและเย้านำรากหรือทั้งต้นมาต้มกับ ใช้น้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะติดขัด ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว (ราก,ทั้งต้น)[8]
6. รากมีสรรพคุณที่เป็นยาฆ่าเชื้อพยาธิภายในลำไส้ พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวกลม พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวแบน โดยนำรากแห้ง 2 ราก มาต้มกับน้ำทานเป็นเวลาประมาณ 15-20 วัน (ราก)[1],[3],[5],[8] และวิธีถ่ายพยาธิปากขอ โดยนำรากหรือเหง้า 100 กรัม แบ่งต้ม 4 ครั้ง แล้วเอามาสกัดให้เหลือ 30 ซีซี ให้ทานครั้งละ 15 ซีซี ทานติดกันเป็นเวลา 2 วัน ถ่ายพยาธิปากขอได้ (ราก)[3]
7. ในจีนใช้เป็นยาขับผายลมได้ (ราก)[7]
8. สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดฟันได้ โดยนำรากสดล้างสะอาด 1 ราก หั่นและตำให้ละเอียด แล้วเติมเกลือ 1/2 ช้อนชา นำมาใช้อมประมาณ 10-15 นาที แล้วก็บ้วนทิ้ง ทำติดต่อกันเป็นประมาณ 2-4 ครั้ง (เว้นระยะห่างกัน 4-5 ชั่วโมง) (ราก)[4] อีกวิธีนำใบมาตำ แล้วใช้อมแก้อาการปวดฟัน (ใบ)[8]
9. บางข้อมูลระบุไว้ว่ามีการใช้เป็นยาแก้ภูมิแพ้ ด้วยการนำราก กับใบหนุมานประสานกาย อย่างละเท่า ๆ กัน มาต้มกับน้ำดื่มในขณะที่ยังอุ่นต่างน้ำทุกวัน สามารถช่วยแก้อาการของโรคภูมิแพ้ ช่วยลดอาการไอ ช่วยละลายเสมหะได้ (ราก) (ข้อมูลจาก : tripod.com)
10. ในตำรับยาแก้อาการไอจากวัณโรค โดยนำรากหรือเหง้าของหนอนตายหยาก, จี๊ฮวง, เปลือกหอยแครงสะตุ, เกล็ดนิ่ม อย่างละเท่า ๆ กัน มาบดเป็นผง เอามาชงกับน้ำทานครั้งละ 5 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง (ราก)[3]
11. ใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาไทยหลายรายการ อย่างเช่น ยาแก้ดีลมแลกำเดา, ยาต้มสมานลำไส้, ยาตัดรากอุปะทม, ยาแก้ดีกำเดาแผลงฤทธิ์ร้าย, ยาแก้ลมกำเริบ, ยาแก้นิ่วเนื้อด้วยอุปทุม เป็นต้น[6]
12. สามารถนำรากมาทุบละเอียดแล้วแช่กับน้ำ นำมาใช้พอกแผล ฆ่าหนอน ทำลายหิดได้ (ราก)[5]
13. สามารถนำรากมาใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผื่นคันตามร่างกาย โดยนำรากประมาณ 50-100 กรัม มาต้มแล้วเอาน้ำมาใช้ล้างหรือใช้อาบ (ราก)[1],[3],[5]
14. สามารถนำรากหรือหัวมาใช้ปรุงเป็นยาทานแก้น้ำเหลืองเสียได้ (ราก)[1],[5]
15. หัวกับรากจะมีสรรพคุณที่เป็นยารักษาริดสีดวงทวารหนักได้ โดยนำรากต้มทาน พร้อมต้มกับยาฉุนใช้รมหัวริดสีดวง ทำให้ริดสีดวงฝ่อและแห้ง (หัว,ราก)[4],[5],[6]
16. ในตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี นำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิตัวจี๊ด ด้วยการนำรากมาผสมหญ้าหวายนา ชะอม มาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิตัวจี๊ด (ราก)[5]
17. สามารถใช้เป็นยาแก้บิดอะมีบาได้ โดยนำเหง้าหรือราก 5-15 กรัม มาต้มกับน้ำทาน (ราก)[3]
18. ในอินโดจีนนำรากมาใช้เป็นยารักษาโรคเจ็บหน้าอก (ราก)[7]
19. ชาวเขาเผ่าม้งและเย้านำทั้งต้นหรือรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้อาบแก้โรคโปลิโอ (ราก,ทั้งต้น)[8]
20. สามารถช่วยรักษาวัณโรค ช่วยขับเสมหะ (ราก)[4]
21. รากหรือเหง้าจะมีรสขมชุ่ม จะเป็นยาร้อนเล็กน้อย มีพิษนิดหน่อย จะออกฤทธิ์กับม้ามกับปอด สามารถใช้เป็นยาหลอดลมอักเสบ แก้ไอเย็น อาการไอจากวัณโรค ไอเรื้อรัง (ราก)[3]

วิธีใช้

  • ถ้าเป็นรากแห้งให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม เอามาต้มกับน้ำทาน หากใช้ภายนอกให้ใช้ประมาณ 50-100 กรัม เอามาต้ม ใช้น้ำล้างหรือใช้อาบแก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หนอนตายหยาก (Non Tai Yak)”. หน้า 323.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนอนตายหยาก”. หน้า 193.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หนอนตายหยาก”. หน้า 608.
4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หนอนตายหยาก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [14 ก.ค. 2014].
5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หนอนตายหยาก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [14 ก.ค. 2014].
6. สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร. “ข้อมูลของหนอนตายหยาก”.
7. กรมวิชาการเกษตร. “หนอนตายหยาก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/vichakan/. [14 ก.ค. 2014].
8. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หนอนตายหยาก”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3 (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [14 ก.ค. 2014].
9. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รากของว่านหนอนตายหยาก”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [14 ก.ค. 2014].
10. https://medthai.com/