ว่านดอกทอง
เป็นว่านที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ต้นคล้ายขมิ้น มีพันธุ์ตัวผู้เหง้าและดอกเป็นสีเหลือง และพันธุ์ตัวเมียเหง้าขาวและดอกขาวแต้มสีเหลือง มีกลิ่นคาว

ว่านดอกทอง

ว่านดอกทอง หรือว่านรากราคะ เป็นสมัยโบราณอันน่าพิศวงหากใครได้สูดดมกลิ่นจากดอก มีอันทำให้เกิดอารมณ์ทางราคะอย่างไร้ซึ่งเหตุผล เป็นว่านเสน่ห์มหานิยมที่คนสมัยโบราณมักนำมาทำเป็นยาเสน่ห์ และเป็นว่านมงคลที่หากปลูกไว้หน้าร้านค้าจะทำให้กิจการรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป สามารถพบได้ในประเทศไทยทางภาคเหนือ และทางภาคตะวันตก ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma spp. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ กระเจา, ว่านดอกทองแท้, ว่านดอกทองตัวผู้, ว่านมหาเสน่ห์ดอกทอง, ว่านดอกทองตัวเมีย หรือว่านดินสอฤๅษี, ว่านมหาเสน่ห์ ว่านรากราคะ หรือรากราคะ เป็นต้น

ที่มาของชื่อ

ในสมัยโบราณมีความเชื่อกันว่าหากใครได้ดมกลิ่นของดอกว่านชนิดนี้เข้าไป จะมีความต้องการทางเพศอย่างรุนแรงขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง ว่านชนิดนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า ดอกทอง (ดอกทอง เป็นคำด่าที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยจะเป็นคำด่าที่เอาไว้ใช้กับผู้หญิงที่สำส่อนทางเพศ)

ลักษณะของว่านดอกทอง

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทว่านที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน (เหง้า)
    – ลักษณะของลำต้นและใบ จะคล้ายคลึงกับต้นขมิ้น แต่จะแตกต่างกันตรงที่ลักษณะของเหง้า
    – เหง้ามีรูปร่างเป็นทรงกลม โดยเหง้าจะแตกแขนงออกมาเป็นไหลขนาดเล็ก รอบ ๆ เหง้า ไหลมีความยาวประมาณ 5-10 นิ้ว
    – เหง้า ทั้ง 2 สายพันธุ์ สามารถจำแนกลักษณะได้เป็น ว่านตัวผู้ จะมีเนื้อภายในเหง้าเป็นสีเหลือง และว่านตัวเมีย จะมีเนื้อภายในเหง้าเป็นสีขาว โดยเหง้าของต้นดอกทองตัวเมียจะแตกต่างจากเหง้าของต้นดอกทองตัวผู้ คือ เหง้าจะมีลักษณะคล้ายกับดินสอ ทำให้มีผู้คนบางส่วนนิยมเรียกกันว่า ว่านดินสอฤๅษี
    – ความสูงของต้น ประมาณ 1 ฟุต
    – การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ
  • ดอก
    – ดอก ออกที่บริเวณเหง้าแล้วโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดิน โดยดอกของต้นทั้ง 2 สายพันธุ์ สามารถจำแนกลักษณะได้ดังนี้
    – ว่านดอกทองตัวผู้ กลีบดอกจะมีสีเหลืองล้วน
    – ว่านดอกทองตัวเมีย กลีบดอกจะมีสีขาวและมีลายแต้มสีเหลือง (ว่านดินสอฤๅษี)
    – กลิ่นของดอกทั้ง 2 สายพันธุ์ จะมีกลิ่นคล้ายกับกลิ่นคาวของน้ำอสุจิ (กลิ่นจะไม่คาวจนฉุนเหมือนเนื้อสัตว์ตามท้องตลาด) โดยต้นว่านตัวเมียจะส่งกลิ่นที่รุนแรงมากกว่าต้นว่านตัวผู้
    – ว่านทั้ง 2 สายพันธุ์ จะออกดอกในช่วงฤดูร้อนไปจนถึงฤดูฝนของทุกปี

วิธีการปลูกว่านดอกทอง

  1. วิธีการปลูกต้นว่านมีดังนี้
    1.1. กระถางที่ใช้ในการปลูก แนะนำว่าควรใช้กระถางขนาดเล็กทรงเตี้ยในการปลูกในระยะแรกเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล และให้เตรียมกระถางขนาดใหญ่เอาไว้สำหรับย้ายต้นนำมาปลูก เมื่อต้นเจริญเติบโตในสักระยะหนึ่ง
    1.2. ใช้ดินทรายที่ผสมกับใบไม้ผุ จะช่วยทำให้จะเจริญเติบโตได้ดี และถ้าหากอยากให้ว่านเจริญเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ให้ทำการใส่ปุ๋ยคอกลงไปในปริมาณเล็กน้อยก็จะช่วยได้
    1.3 การรดน้ำนั้น ให้รดน้ำให้มากแต่ไม่ถึงขั้นให้ดินแฉะ และปลูกไว้ในพื้นที่ที่มีแสงแดดรำไร (ไม่ควรปลูกไว้ในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด)
    1.4. เมื่อเริ่มตั้งใบตรงแข็งแรงแล้ว จึงค่อยย้ายมาปลูกในกระถางขนาดใหญ่ เนื่องจากเหง้าของว่านจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น
  2. ในหนังสือ และตำราสมัยโบราณ ได้ระบุไว้ว่าเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ โดยการจะนำต้นมาปลูก โดยให้ทำการปลูกในวันจันทร์ข้างขึ้น และรดน้ำที่ปลุกเสกด้วยคาถา นะโมพุทธายะ 3 จบ
  3. ในปัจจุบันว่านดอกทองแท้สามารถหาได้ยาก เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ หรือในด้านความเชื่อ ก็มีผู้คนเชื่อกันว่าผู้ที่รู้ถึงแหล่งที่อยู่ของว่านชนิดนี้มักจะไม่เปิดเผยข้อมูลให้รู้ เพราะเกรงว่าจะมีผู้นำไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้

พุทธคุณของว่านดอกทอง

1. น้ำที่แช่ด้วยหัวว่านและใบ มีสรรพคุณในการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้เป็นอย่างดี
2. ในสมัยโบราณกล่าวว่า ต้น สามารถนำมาใช้ในทางเสน่ห์มหานิยมได้ โดยชายหนุ่มในสมัยโบราณ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องไปพบหญิงสาว จะนำดอกมาทำเป็นน้ำอบใช้ทาตัว หรือนำมาผสมกับขี้ผึ้งใช้ทาปาก ซึ่งเมื่อหญิงสาวผู้ใดที่ได้กลิ่นว่านชนิดนี้จากชายหนุ่ม หญิงสาวผู้นั้นก็จะเกิดความหลงใหลและคล้อยตามได้โดยง่าย
3. มีความเชื่อว่าหากปลูกไว้ในบ้าน จะช่วยให้เกิดความรักใคร่และเป็นสิริมงคลแก่คนในบ้านได้ (แต่ในสมัยโบราณจะห้ามปลูกไว้ในบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดการผิดลูกผิดเมียของคนภายในครอบครัวได้)

4. มีความเชื่อว่าหากนำต้นว่านตัวเมียไปปลูกไว้ที่หน้าร้านค้า จะช่วยให้ค้าขายเป็นไปอย่างราบรื่น ลูกค้าไหลมาเทมาไม่ขาดสาย และช่วยให้การค้าขายประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “ว่านมหาเสน่ห์“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com.  [21 พ.ย. 2013].
2. ว่านและพรรณไม้สมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร.  “ว่านดอกทอง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th.  [21 พ.ย. 2013].
3. ไทยรัฐออนไลน์. โดยนายเกษตร.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [21 พ.ย. 2013].
4. หนังสือพิมพ์ข่าวสด. “ว่านมหาเสน่ห์“.  คอลัมน์: รู้ไปโม้ด (น้าชาติ ประชาชื่น).  อ้างอิงใน: หนังสือว่านสมุนไพร ไม้มงคล (ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th.  [21 พ.ย. 2013].
5. https://medthai.com