สัก
เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทอง ช่อขนาดใหญ่ดอกย่อยขนาดเล็กสีเขียวนวล มีขนปกคลุมบริเวณท้องใบ ผลกลมแป้นเปลือกบาง

ต้นสัก

ต้นสัก เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน พบอยู่ในแถบประเทศอินเดีย บังคลาเทศ พม่า ลาว และไทย สำหรับประเทศไทยพบกระจายทั่วไปในบริเวณภาคเหนือเรื่อยลงมาทางตะวันตกบริเวณทางเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี เขตป่าเบญจพรรณ ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 200-750 เมตร ชื่อสามัญ Teak[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Tectona grandis L.f. อยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[2] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ปายี้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เส่บายี้ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), เคาะเยียโอ (ละว้า-เชียงใหม่), ปีฮี ปีฮือ เป้อยี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)เป็นต้น[1] เป็นพรรณไม้พระราชทานของจังหวัดอุตรดิตถ์[2] สามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ ไม้สักทั่วไป ไม้สักดาฮัต(ไม้ประจำถิ่นของพม่า) และไม้สักฟิลิปปินส์[5] และมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ลาว และไทย ยังมีการแบ่งคุณลักษณะของไม้สัก โดยใช้ความแข็ง ความเหนียว และการตกแต่งของเนื้อไม้ในการพิจารณา โดยจะแบ่งเป็น 5 ชนิดได้แก่[2]
1. ไม้สักทอง ตกแต่งได้ง่าย เสี้ยนไม้ตรง เนื้อไม้มีสีน้ำตาลทอง[2]
2. ไม้สักหิน ตกแต่งได้ง่าย เนื้อไม้มีสีน้ำตาลหรือจาง[2]
3. ไม้สักหยวก ตกแต่งได้ง่าย เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือจาง[2]
4. ไม้สักไข่ ทาสีและตกแต่งได้ยาก เนื้อไม้มีไขปนอยู่เนื้อมีสีน้ำตาลเข้มปนเหลือง[2]
5. ไม้สักขี้ควาย เนื้อไม้เป็นสีเลอะ ๆ มีสีเขียวปนน้ำตาลดำ[2]

ลักษณะของต้นสัก

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงราวๆ 20 เมตรขึ้นไปและอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นตรงไม่คดงอ มีกิ่งก้านที่ขนาดใหญ่น้อยบริเวณส่วนลำต้น เปลือกต้นหนามีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อนแกมเทา เรือนยอดทึบเป็นทรงพุ่มกลม เปลือกต้นเรียบหรืออาจมีรอยแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามแนวยาวของลำต้น โคนต้นแก่จะเป็นร่องและมีพูพอนขึ้นเล็กน้อย มีขนสีเหลืองขึ้นเล็กน้อยบริเวณยอดและกิ่งอ่อน กิ่งอ่อนเป็นรูปเหลี่ยม มีเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทองถึงน้ำตาลแก่ และมีเส้นสีน้ำตาลแก่แทรกอยู่ เนื้อหยาบมีความแข็งปานกลาง เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง ใช้วิธีการติดตา การปักชำ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือเมล็ดในการขยายพันธุ์ มักจะขึ้นเป็นกลุ่มๆ หรือปนอยู่กับไม้เบญจพรรณอื่น ชอบขึ้นตามดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีความลึกมากๆ[1],[2]
  • ดอก จะออกตามปลายยอดและซอกใบ เป็นดอกช่อขนาดใหญ่ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกมี 6 กลีบมีสีเขียวนวล ส่วนโคนเชื่อมกันเป็นหลอดมีขนทั้งด้านในและนอก เกสรตัวผู้ยาวพ้นออกมาจากดอกมี 5-6 อัน เกสรตัวเมียมี 1 อันขนาดเท่ากับเกสรตัวผู้ มีขนอยู่หนาแน่นบริเวณรังไข่ ดอกจะออกช่อแรกที่ปลายยอดสุดของแก่นลำต้นก่อนและภายใน 1 วันดอกจะบาน ดอกจะกลายเป็นผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2]
  • ใบ แตกออกมาจากกิ่ง ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นใบเดี่ยว ใบเป็นรูปรีกว้าง ขอบใบเรียบ โคนใบสอบ ปลายใบมีหางอยู่สั้นๆ ใบที่ออกมาแต่ละคู่จะตั้งฉากสลับกันตามความยาวกิ่ง แต่ละใบมีความกว้างราวๆ 12-35 เซนติเมตรและยาว 15-60 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1-5 เซนติเมตร มีขนปกคลุมบริเวณท้องใบ ท้องใบมีสีเขียว พื้นใบทั้งสองด้านสากมือ หากนำท้องใบอ่อนมาขยี้จะมีสีแดงคล้ายกับเลือด จะผลัดใบในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม และจะแตกใบใหม่ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]
  • ผล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราวๆ 1-2 เซนติเมตร ผลเป็นรูปทรงกลมแป้น มีชั้นกลีบเลี้ยงหุ้มผลอยู่ เป็นสีเขียว ลักษณะบางและพองลม ผลแก่จัดมีสีน้ำตาล มีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ดใน 1 ผล เมล็ดเป็นรูปทรงไข่ จะอยู่ในช่อง ช่องละ 1 เมล็ด ขนาดยาวราวๆ 0.6 เซนติเมตรและกว้าง 0.4 เซนติเมตร จะมีเปลือกบางๆหุ้มอยู่ในแต่ละเมล็ด เมล็ดจะเรียงไปตามแนวตั้งของผล[1],[2]

ประโยชน์ของสัก

  • ในไม้สักทองมีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm. หมายความว่าไม้สักทอง 26 ต้นจะได้ทองคำหนัก 1 บาท [5]
  • มีความเชื่อของคนไทยโบราณว่าการปลูกต้นสักทองไว้ประจำบ้าน จะทำให้มีศักดิ์ศรี เพราะคำว่า “สัก” หรือ “ศักดิ์” หมายถึง การมีศักดิ์ศรี ยศถาบรรดาศักดิ์ เกียรติศักดิ์ โดยให้ปลูกต้นสักทองไว้ทางทิศเหนือของบ้าน และควรปลูกในวันเสาร์จะทำให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้น[4]
  • สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่นใช้ไม้ซุงขนาดใหญ่นำมาแปรรูปในการก่อสร้างต่างๆ
    ใช้ไม้ซุงขนาดเล็กมาทำบ้านไม้ซุง จะได้บ้านที่คงทนและสวยงาม เนื้อไม้สามารถคงทนต่อปลวก แมลง เห็ดราได้ดี เนื่องจากมีสารเทคโทควิโนน (Tectoquinone) อยู่[2],[5]

มีการแบ่งเกรดไม้ในการทำเฟอร์นิเจอร์มี 3 เกรดคือ

1.ไม้เกรดเอ เป็นไม้ที่รื้อมาจากบ้านเก่า มีราคาสูง เนื้อไม้แห้งจะเป็นสีน้ำตาลทองเข้ม ไม้จะหดตัวได้น้อยมาก
2.ไม้เกรดบี หรือไม้ออป.(องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) เป็นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ภูเขา มีคุณภาพดีพอสมควร การหดตัวมีน้อย
3.ไม้เกรดซี หรือไม้นส.(หนังสือแสดงสิทธิทำกิน (นส.3) เป็นไม้ที่มีปลูกในพื้นที่ของเอกชน ไม้มีคุณภาพปานกลาง มีแก่นไม้น้อยกว่าไม้เกรดบี สีเนื้อไม้อ่อนออกเหลืองนวล หดตัวมากกว่าไม้เกรดบี

สรรพคุณของสัก

1. ใช้เปลือกไม้มาบรรเทาอาการบวมได้(เปลือกไม้)[1] และเนื้อไม้ก็สามารถใช้ทำยาแก้บวมได้เช่นกัน(เนื้อไม้)[3]
2. เนื้อไม้ ใช้ในการแก้โรคผิวหนังได้[3]
3. ใช้ใบในการทำยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้[3]
4. เนื้อไม้ ใช้ในการทำยาขับพยาธิได้[3]
5. เนื้อไม้ ใช้ในการคุมธาตุในร่างกายได้ และช่วยแก้ไข้ได้[3]
6. เมล็ด ใช้ในการรักษาโรคตาได้[1]
7. เนื้อไม้ ใช้ในการแก้อาการอ่อนเพลีย[3]
8. ทำเป็นยาบำรุงโลหิตได้ โดยใช้เนื้อไม้และใบมาทำ(เนื้อไม้,ใบ)[3]
9. เนื้อไม้ สามารถแก้ลมในกระดูกได้[3]
10. เปลือก ใช้ทำเป็นยาฝาดสมานได้[3]
11. ใบ ใช้ในการแก้ประจำเดือนไม่ปกติได้ (ใบ)[3]
12. เนื้อไม้,ใบ,ดอก ใช้ในการทำยาขับปัสสาวะได้[3]
13. ใบมีสรรพคุณในการทำยาขับลมได้ และเนื้อไม้ก็สามารถนำมาทานเป็นยาขับลมได้ดีเช่นกัน(เนื้อไม้,ใบ)[3]
14. ทำเป็นยาแก้เจ็บคอได้ โดยนำใบมาทำเป็นยาอม(ใบ)[3]
15. ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ (เปลือกไม้)[1]
16. ใบ ใช้เป็นยาแก้พิษโลหิตได้ (ใบ)[3]
17. ช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยนำใบมาต้มกับน้ำรับประทาน(ใบ)[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สัก (Sak)”. หน้า 294.
2. ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน, สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้. “สัก”.
3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [10 มิ.ย. 2014].
4. ไม้ประดับออนไลน์. “สักทอง ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.maipradabonline.com. [10 มิ.ย. 2014].
5. ข่าวสดรายวัน ฉบับที่ 8121 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556, คอลัมน์: รูปไปโม้ด. (น้าชาติ ประชาชื่น). “ไม้สัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th. [10 มิ.ย. 2014].
6. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://greencleanguide.com/
2. https://paudhshala.com/