พริกนายพราน
พริกนายพราน มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบจีนตอนใต้ กัมพูชา และเวียดนาม ประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ มักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และตามป่าละเมาะทั่วไป จนถึงระดับความสูงประมาณ 400 เมตร[1],[2],[3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabernaemontana bufalina Lour. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ervatamia bufalina (Lour.) Pichon, Ervatamia celastroides Kerr, Ervatamia luensis (Pierre ex Pit.) Pierre ex Kerr จัดอยู่ในวงศ์ จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE) ชื่ออื่น ๆ มะลิฝรั่ง (กรุงเทพมหานคร), เข็มดง พุดป่า (จังหวัดเลย), ช้าฮ่อม (จังหวัดตาก), พริกผี (จังหวัดยโสธร), เข็มดง พริกป่า พริกป่าใหญ่ พริกป่าเล็ก (จังหวัดชลบุรี), พุดน้อย พุดป่า พุทธรักษา (จังหวัดอุบลราชธานี), พริกพราน (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของพริกนายพราน
- ต้น
– เป็นพันธุ์ไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก
– ต้นมีความสูงประมาณ 1-4 เมตร
– ลำต้นเกลี้ยงไม่มีขน โดยลำต้นจะแตกกิ่งแผ่กว้างออกไป และตามกิ่งจะมีช่องอากาศอยู่โดยรอบ
– ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด - ใบ
– ใบ เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกในลักษณะที่เรียงตรงข้ามกัน
– ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปรีแคบแกมรูปไข่ ตรงปลายใบเรียวแหลมหรือแหลมยาวคล้ายกับหาง ที่โคนใบมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีขน
– ผิวใบมีเนื้อใบบาง และผิวใบเกลี้ยงไม่มีขน
– ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร
– ก้านใบค่อนข้างสั้น มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.3-0.7 เซนติเมตร[1],[2] - ดอก
– ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกดอกที่บริเวณตามซอกใบหรือที่ปลายยอด
– ช่อดอกมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 3-25 ดอก ก้านช่อดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 4-7 เซนติเมตร
– ดอกมีสีเป็นสีขาวแกมเหลืองอ่อน ลักษณะรูปร่างของดอกเป็นรูปดอกเข็ม
– กลีบเลี้ยงดอกมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 กลีบ มีสีเป็นสีเขียวอ่อน มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ลักษณะรูปร่างของกลีบเลี้ยงจะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ปลายแหลมยาว เรียงตัวซ้อนกันอยู่ใต้ดอก บางครั้งขอบก็มีขนอุยขึ้นเล็กน้อย
– กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.7 เซนติเมตร และตรงปลายจะแยกออกเป็น 5 แฉก มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7-9 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายรูปไข่
– ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน ก้านเกสรค่อนข้างสั้น อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ตรงปลายเป็นติ่งแหลม
– ท่อเกสรเพศเมียจะมีลักษณะเรียว มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7 มิลลิเมตร ปลายเกสรจะแยกออกเป็น 2 แฉก และมีรังไข่อยู่ด้วยกัน 2 ช่อง แยกห่างจากกัน มีความยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร[1],[2] - ผล
– ออกผลในลักษณะที่เป็นฝักคู่ มีรูปร่างลักษณะโค้ง รูปทรงรีตรงปลายเรียวแหลม ตัวผลคอดเว้าเป็นพูตื้น ๆ มีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 0.7 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.9-1 เซนติเมตร
– ผิวฝักจะมีลักษณะที่เป็นมันมีสีเขียว และฝักย่อยจะแตกออกเป็นแนวเดียวกัน - เมล็ด
– ภายในฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 6-8 เมล็ด เมล็ดที่แก่จะมีเยื่อหุ้มเมล็ดที่เป็นสีแดงสด[1]
สรรพคุณของต้นพริกนายพราน
1. ตำรายาของไทย ระบุเอาไว้ว่าทั้งต้นมีรสชาติเย็นซ่า โดยจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน แก้ไข้ ช่วยดับพิษร้อน ส่วนรากจะนำมาใช้ทำเป็นยาแก้โรคลม หรือจะนำมาทำเป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษเนื่องจากชอกช้ำ และช่วยแก้อาการช้ำในได้อีกด้วย (ราก, ทั้งต้น)[1]
2. ตำรับยาพื้นบ้านของทางภาคอีสาน จะนำรากมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ไอ แก้ตกขาวของสตรี แต่ถ้านำรากมาฝนกับน้ำแล้วนำมาดื่มจะมีฤทธิ์เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด หรือถ้านำมาตำให้ละเอียด ก็จะใช้เป็นยาทาสำหรับแก้ฝี (ราก)[1]
3. ตำรายาพื้นบ้านของจังหวัดมุกดาหาร จะนำรากมาใช้ทำเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1]
4. ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี จะนำรากมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาสำหรับแก้ท้องเสีย และช่วยสมานแผล (ราก)[1]
5. ตำรับยาพื้นบ้านของภาคกลาง จะนำรากมาผสมรวมกับรากต้นหนามพุงดอและรากของต้นต่อไส้ มาฝนกับเหล้าใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ราก)[1]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พริกนายพราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [30 ก.ย. 2015].
2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พริกนายพราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [30 ก.ย. 2015].
3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “พริก นาย พราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [30 ก.ย. 2015].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://apps.phar.ubu.ac.th/
2.https://www.earth.com/