โกฐพุงปลา
ลักษณะคล้ายกระเพาะปลาขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายถุงแบน กลวง ปากแคบ มีคอคอดคล้ายมีขั้ว ก้นป่อง เป็นก้อนที่แข็งปูดหรือปุ่มหูดเกิดจากต้นสมอไทย 

โกฐพุงปลา

โกฐพุงปลา มีลักษณะคล้ายกระเพาะปลาขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายถุงแบน กลวง ปากแคบ มีคอคอดคล้ายมีขั้ว ก้นป่อง แบน ชื่อสามัญ Terminalia Gall, Myrobalan Gall[2] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula Retz. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Myrobalanus chebula (Retz.) Gaertn.) อยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ม่าแน่, ส้มมอ, กกส้มมอ, สมอ, หมากแน่ะ, มาแน่, ปูดกกส้มมอ, สมออัพยา [1]

หมายเหตุ : โกฐพุงปลาในบทความนี้ เป็นคนละชนิดกับต้นที่เป็นไม้เถาเลื้อย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dischidia major (Vahl) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia rafflesiana Wall.) หรือทั่วไปเรียกกันว่า จุกโรหินี หรือ บวบลม

ลักษณะโกฐพุงปลา

โกฐพุงปลา คือก้อนที่แข็งปูดหรือปุ่มหูด (gall) เกิดจากต้นสมอไทย เกิดจากใบและยอดอ่อนของสมอไทย ลักษณะคล้ายกับกระเพาะปลาขนาดเล็ก จะมีรสฝาดและขมจัด เป็นยาฝาดสมานแรง คล้ายถุงแบน กลวง ปากแคบ จะมีคอคอดคล้ายมีขั้ว ที่ก้นมีลักษณะป่อง แบน ผิวเป็นสีน้ำตาลปนสีนวล บางตอนก็จะเป็นตะปุ่มตะป่ำ บางตอนก็จะเรียบ ส่วนที่เหมือนปลิ้นออกอาจจะเป็นสีแดงเรื่อ ที่ผิวด้านนอกจะย่น และมีสีน้ำตาล ด้านในขรุขระ เป็นสีดำ กว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร หนาประมาณ 0.4-1.5 เซนติเมตร ปุ่มหูดหรือปูด (gall) จะเป็นก้อนแข็งที่เกิดจากส่วนของพืช เช่นใบอ่อนหรือกิ่งอ่อนที่ถูกแมลงเจาะและหยอดไข่ไป แล้วต้นสมอไทยจะสร้างสารขึ้นมาป้องกัน ด้วยการห่อหุ้มไข่ของแมลงไว้ เมื่อปุ่มหูดแห้งและแข็ง จะมีลักษณะคล้ายกับถุงแบนและกลวง[1],[3]

สรรพคุณของโกฐพุงปลา

1. ใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยในหลายตำรับ อย่างเช่นในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า พิกัดโกฐ อยู่ใน พิกัดโกฐทั้งเก้า จะมีสรรพคุณเป็นแก้โรคในปากและคอ แก้สะอึก แก้หืดไอ ไข้เพื่อเสมหะ แก้ไข้จับ บำรุงโลหิต ยาแก้ลมในกองธาตุ แก้ไส้ด้วนไส้ลาม แก้โรคปอด แก้หอบ ไข้ในกองธาตุอติสาร ไข้เรื้อรัง บำรุงกระดูก ชูกำลัง และมีสรรพคุณเป็นยาขับระดูร้ายของสตรี[1]
2. สามารถช่วยแก้อาการท้องร่วงได้[2]
3. สามารถแก้อาเจียนได้[1]
4. ในตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้อติสาร คุมธาตุ ลงแดง แก้โรคอุจจาระธาตุลมอติสาร แก้อุจจาระธาตุพิการ[1]
5. บัญชียาสมุนไพร ในตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้ในยารักษาอาการโรคในระบบของร่างกาย มีอยู่หลายตำรับ ก็คือ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม มีปรากฏในตำรับ ยาหอมเทพจิตร และตำรับ ยาหอมนวโกฐ จะมีส่วนประกอบอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรอื่นอีกในตำรับ จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาลาย แก้ลมวิงเวียน ใจสั่น คลื่นเหียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง อาเจียน แก้อาการหน้ามืด, ยาแก้ไข้ มีปรากฏในตำรับ ยาจันทน์ลีลา มีส่วนประกอบร่วมกับสมุนไพรอื่นอีกในตำรับ จะมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้อง แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย เพราะธาตุไม่ปกติ, ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร มีปรากฏในตำรับ ยาธาตุบรรจบ คือตำรับยาที่ช่วยบรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาการท้องอืดเฟ้อ ในตำรับ ยาประสะกานพลู มีส่วนประกอบร่วมกับสมุนไพรอื่นอีกในตำรับ จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการปวดท้อง [1] และยังปรากฏอยู่ในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณในหลายตำรับ อย่างเช่น ตำรับยาหอมอินทจักร ตำรับยาอำมฤควาที ตำรับยาหอมทิพโอสถ [3]
6. มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมานแรง สามารถใช้เป็นยาสมานแผล แก้เม็ดยอดภายใน แก้ฝีภายในได้[1],[2]
7. สามารถใช้เป็นยาแก้เสมหะพิการได้[1]
8. สามารถใช้เป็นยาบิดมูกเลือด แก้บิดได้[1],[3]
9. สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้พิษ แก้พิษทำให้ร้อน แก้ไข้จากลำไส้อักเสบ [1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารที่พบ คือสารในกลุ่ม tannins อย่างเช่น gallic acid, tannic acid, chebulinic acid

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือคู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 5 : คณาเภสัช. (ภก.ศ.ดร. ชยันต์ พิเชียรสุทร, ภก.ศ.พิเศษ ดร. วิเชียร จีรวงส์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐ พุง ปลา”. หน้า 110.
2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐ พุง ปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [09 มิ.ย. 2015].
3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐ พุง ปลา Myrobalan Gall/Terminalia Gall”. หน้า 217.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.indiamart.com/proddetail/terminalia-chebula-extract-4171507773.html
2.https://indiabiodiversity.org/species/show/31838