จุกโรหินี หรือบวบลม ช่วยขับลม ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยเลิกบุหรี่
จุกโรหินี หรือบวบลม เป็นไม้เลื้อยลักษณะคล้ายกับพุงปลาเป็นคู่ ๆ ด้านในเป็นสีม่วง เนื้อใบหนาและอวบน้ำ

จุกโรหินี

จุกโรหินี (Dischidia major) หรือเรียกอีกอย่างว่า “บวบลม” เป็นไม้เลื้อยที่มีลักษณะโดดเด่น ส่วนมากมักจะพบในรูปแบบของใบที่นำมารับประทานเป็นผักร่วมกับขนมจีน สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรได้ทุกส่วนของต้น มีชื่อเรียกหลากหลายและบางที่มักจะเรียกว่า “พุงปลา” เพราะมีลักษณะคล้ายกับพุงปลาเกาะอยู่บนต้นไม้ และที่สำคัญจุกโรหินีสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของจุกโรหินี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dischidia major (Vahl) Merr.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “โกฐพุงปลา จุกโรหินี พุงปลาช่อน” ภาคเหนือเรียกว่า “กล้วยไม้” ภาคตะวันออกและระยองเรียกว่า “เถาพุงปลา” คนเมืองเรียกว่า “ข้าวฟ่าง” จังหวัดนครราชสีมาและอุบลราชธานีเรียกว่า “บวบลม” จังหวัดจันทบุรีและตราดเรียกว่า “พุงปลา” จังหวัดพังงาเรียกว่า “กล้วยมุสัง” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “จุรูหินี” ประเทศไทยเรียกว่า “โกฎฐ์พุงปลา” ประเทศเขมรเรียกว่า “นมตำไร”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)
ชื่อพ้อง : Dischidia rafflesiana Wall.

ลักษณะของจุกโรหินี

จุกโรหินี เป็นไม้เลื้อยล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย พม่า ไทย อินโดจีน มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย สามารถพบได้ตามป่าดงดิบทั่วไป ป่าชายเลน ป่าแพะและป่าเบญจพรรณ
เถา : เถามีลักษณะกลมสีเขียว ตามข้อเถามีรากงอกเพื่อใช้สำหรับยึดเกาะ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ใบมี 2 แบบอยู่บนต้นเดียวกัน แบบแรกมีลักษณะคล้ายถุงปากแคบและแบนเป็นเหลี่ยม ๆ ผิวด้านนอกเกลี้ยงเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ส่วนด้านในเป็นสีม่วง แบบที่สองเป็นใบธรรมดาที่มีลักษณะค่อนข้างกลม ปลายใบมน มีติ่งแหลมสั้น ๆ เนื้อใบหนาและอวบน้ำ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ขนาดเล็ก โดยจะออกตามง่ามใบตรงข้ามกับใบ มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ และป่องเบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง ส่วนตรงปลายเป็นรูปกรวย ที่ปลายปากดอกแต้มไปด้วยสีม่วงและมีขนอยู่ด้านนอก กลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ ตามขอบกลีบดอกจะมีขน
ผล : ออกผลเป็นฝักสีเหลืองแกมสีส้ม ผิวของฝักมีลักษณะขรุขระ

สรรพคุณของจุกโรหินี

  • สรรพคุณจากผล
    – ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำผลมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – เป็นยาหยอดหูหรือใช้หยอดหูน้ำหนวก ด้วยการนำผลมาดึงไส้ออกแล้วใส่น้ำ จากนั้นนำไปเผาไฟให้อุ่นแล้วเอาน้ำมาหยอดหู
    – แก้ลมพันไส้ ด้วยการนำผลมาผสมกับมดแดงฮ้างแล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่ม
    – ขับลมในกระเพาะอาหาร ด้วยการนำผลมาผสมกับฝอยลมแล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่มหรือนำผลมาเผาไฟแล้วเอาน้ำมาดื่มเป็นยาขับลม
  • สรรพคุณจากราก แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงกำลัง แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย แก้อาการไอเมื่อเคี้ยวกับพลู แก้หอบหืด แก้อาการอาเจียน แก้เสมหะพิการ แก้อาการท้องร่วงและท้องเสีย แก้บิด แก้ปวดเบ่ง แก้มูกเลือด เป็นยาฝาดสมานหรือใช้ทาเป็นยาสมานแผล
  • สรรพคุณจากใบ แก้อาการอาเจียน แก้เสมหะพิการ แก้อาการท้องร่วงและท้องเสีย แก้บิด แก้ปวดเบ่ง แก้มูกเลือด เป็นยาฝาดสมานหรือใช้ทาเป็นยาสมานแผล
    – ป้องกันอาการเจ็บม้ามในขณะออกกำลังกาย ด้วยการนำข้าวมายัดใส่ใบที่เปลี่ยนรูปแล้วนำไปเผาไฟจนข้าวสุกจนกลายเป็นสีม่วงแล้วนำมารับประทาน
  • สรรพคุณจากเถา
    – ขับลม แก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ ด้วยการนำเถามาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้โรคตับพิการ
    – แก้อาการปวดท้องที่เกิดจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ด้วยการนำมาต้มแล้วดื่ม

ประโยชน์ของจุกโรหินี

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนใช้รับประทานร่วมกับขนมจีน
2. ช่วยให้เลิกบุหรี่ ผลนำมาผสมกับข้าวเย็นเหนือเพื่อนำมารับประทานในการเลิกบุหรี่

จุกโรหินี ถือเป็นพืชที่โดดเด่นในเรื่องของการช่วยเลิกบุหรี่ได้ เหมาะอย่างมากสำหรับคนที่อยากเลิกและเป็นวิธีธรรมชาติที่ไม่มีผลกระทบ เป็นพืชที่มีลักษณะเหมือนบวบหรือเหมือนพุงปลา มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยขับลม ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นยาหยอดหูน้ำหนวก ป้องกันอาการเจ็บม้ามในขณะออกกำลังกาย และช่วยเลิกบุหรี่ซึ่งเป็นอาการที่คนส่วนมากกำลังเผชิญ ถือเป็นพืชที่คู่ควรแก่การปลูกและใช้ประโยชน์ได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “จุกโรหินี (Chuk Rohini)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 96.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “บวบลม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [1 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “จุกโรหินี”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [1 มี.ค. 2014].
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โกฐพุงปลา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 80-82.
ไทยเกษตรศาสตร์. “จุกโรหินี”. อ้างอิงใน: วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [1 มี.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “โกฐพุงปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [1 มี.ค. 2014].
พฤกษาน่าสน มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร.