ต้นสวาด
เป็นไม้เลื้อยมีหนามโค้งแหลม ดอกเล็กสีเหลือง ผลเป็นฝักรี มีหนามที่ยาวและแหลม ในฝักมีเมล็ดเป็นรูปกลมรี 2 เมล็ด

ต้นสวาด

ต้นสวาด เป็นไม้เลื้อย พบทั่วไปในเขตร้อน ประเทศไทยพบมากตามป่าละเมาะใกล้ทะเล ลักษณะลำต้นและกิ่งก้านของเถาสวาดมีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ชื่อสามัญ Wait-a-while, Physic nut, Nicker nut, Fever nut, Grey nicker bean, Bonduc nut, Sea pearl, Gray nicker bean, Yellow nicker, Gray nicker, Physic nut, Guilandina seed, Molucca nut (ENGLISH)[6], Grey nickers, Nuckernut[1] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonduc (L.) Roxb. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Guillandina bonduc L., Guilandina bonduc Griseb., Caesalpinia bonducella (L.) Fleming, Guillandina bonducella (L.) Fleming, Guilandina bonducella L., Caesalpinia crista sensu auct. [6] อยู่วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่วงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[2] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มะกาเล็ง (เงี้ยว-จังหวัดเชียงใหม่), มะกาเลิง (ภาคใต้), หวาด (จังหวัดเชียงใหม่), ตามั้ด (ภาคใต้), ดามั้ด (มลายู-จังหวัดสตูล), หวาด (ภาคใต้), สวาด (ภาคกลาง), บ่าขี้แฮด (เชียงใหม่) [1],[2]

ลักษณะต้นสวาด

  • ต้น เป็นไม้เถาเลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยการใช้หนามของตัวเองช่วยประคอง ที่ตามลำต้น กิ่งก้าน เส้นใบมีหนามโค้งแหลม สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีใช้เมล็ด พบได้ทั่วไปที่เขตร้อน ชอบขึ้นที่ตามป่าเบญจพรรณ ริมแม่น้ำลำธาร ป่าโปร่งทั่วไป ป่าละเมาะใกล้ทะเล ปัจจุบันพบเจอได้น้อย[1],[3]
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกมีสองชั้น ขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบย่อยเป็นรูปไข่ ที่ปลายใบจะแหลมนิดหน่อย ส่วนโคนใบไม่เท่ากัน ใบกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียวเข้ม หูใบประกอบเป็นแบบขนนก[1],[2],[3]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ช่อมีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ออกดอกที่กิ่งเหนือซอกใบนิดหน่อย ดอกสวาดนั้นจะเป็นช่อเดี่ยวหรือบางครั้งก็อาจแตกแขนงได้ ก้านช่อมีลักษณะยาวและมีหนาม มีดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีเหลือง จะมีใบประดับเป็นเส้นงอ มีความยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร[1],[3]
  • ผลเป็นฝัก เป็นรูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี จะมีหนามที่ยาวและแหลม หรือขนยาวแหลมแข็งคล้ายกับหนามอยู่ที่ตามเปลือก มีเมล็ดอยู่ในฝัก 2 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปกลมรี เปลือกของเมล็ดนั้นแข็งและเป็นสีม่วงเทา เมล็ดมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร[1],[2]

สรรพคุณต้นสวาด

1. นำรากมาดองกับเหล้าขาวสามารถใช้เป็นยาแก้พยาธิได้ (ราก)[4] ยอดมีสรรพคุณที่เป็นยาถ่ายพยาธิ (ยอด)[4], เมล็ดจะมีสรรพคุณที่เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[5]
2. ใบสวาดเป็นส่วนผสมในตำรับยาอม ยาอมมะแว้ง เป็นยาสามัญประจำบ้านและเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จะมีสรรพคุณที่สามารถเป็นยาช่วยบรรเทาอาการไอ และละลายและขับเสมหะได้ (ใบ)
3. ในตำรายาไทยใช้ใบสวาดเป็นขับผายลม แก้อาการจุกเสียดแน่น และยาขับลม (ใบ)[1],[2]
4. ใบสวาดกับเมล็ดนั้นจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ไอ (ใบ,เมล็ด)[5]
5. ผลสวาดจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้กระษัย (ผล)[2] บ้างก็ว่าใบสวาดนั้นก็มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้กระษัย (ใบ)[5]
6. ใบสวาดกับผลสวาดจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (ใบ,ผล)[1],[2]
7. สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง และแก้ท้องเสียได้ (เมล็ด)[5]
8. บางข้อมูลก็ระบุเอาไว้ว่านำใบมาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วคอ สามารถช่วยรักษาแผลในลำคอได้ (ใบ)[5]
9. นำยอดมาบดแล้วกรองเอาแต่น้ำ สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้ (ยอด)[4] เมล็ดนั้นจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ไข้ (เมล็ด)[5]

ประโยชน์ต้นสวาด

  • วรรณคดีหลายเรื่องได้มีการกล่าวเชิงเปรียบเทียบกับความรัก ความพิศวาส ระหว่างหญิงและชาย เนื่องจากมีความพ้องเสียงกัน ตามธรรมเนียมไทยในการจัดขันหมากงานแต่งงานบางพื้นที่ จะนำใบรักกับใบสวาดมารองก้นขันหมากโท ที่ใส่หมากพลู ขันหมากเงินทุน สินสอด จะใส่ใบรักกับใบสวาดรวมกับดอกไม้ สิ่งมงคล อย่างเช่น ใบเงิน ดอกบานไม่รู้โรย ใบทอง ถั่วงา [3]
  • สมัยก่อนเด็กจะใช้เมล็ดสวาดเล่นหมากเก็บ เนื่องจากมีขนาดรูปร่างเหมาะสม[3]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “สวาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [10 มิ.ย. 2014].
2. ไม้ในวรรณคดีไทย. “สวาด (Caesalpinia Bonduc (L.) Roxb.)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/thaienclycropedia/book23/b23p216.htm. [10 มิ.ย. 2014].
3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สวาด Nickernut/Grey Nickers”. หน้า 68.
4. MULTILINGUAL MULTISCRIPT PLANT NAME DATABASE. “Sorting Caesalpinia names”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.plantnames.unimelb.edu.au. [10 มิ.ย. 2014].
5. หนังสือพรรณไม้ป่าชายหาด. (มัณฑนา นวลเจริญ). “สวาด”.
6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “สวาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [10 มิ.ย. 2014].