ต้นข่อยหยอง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ริมขอบใบเป็นจัก มีหนามตามกิ่ง ดอกเล็กขาวและเหลือง ผลกลมเล็กสีขาวหรือเทา เปลือกมียางขาว ผลสุกสีเหลือง

ต้นข่อยหยอง

ต้นข่อยหยอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดแถบอินโดจีนและมาเลเซีย พบตามป่าบนเนินเขาทั่วทุกภาคของประเทศ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Rinorea virgata (Thwaites) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Scyphellandra pierrei H. Boissieu) อยู่ในวงศ์หน้าแมว (VIOLACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น คันทรง, ข่อยเตี้ย, เฮาสะท้อน, ข่อยหยอง, ข่อยหิน, กะชึ่ม, หัสสะท้อน, เฮาะสะต้อน, คันเพชร, ข่อยนั่ง, ข่อยหนาม, ชาป่า, ผักกรูด, ข่อยป่า [1]

ลักษณะข่อยหยอง

  • ต้น เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง สามารถสูงได้ประมาณ 10 เมตร เปลือกลำต้นมีลักษณะเป็นสีเทาปนสีน้ำตาลอ่อน สีเทาค่อนข้างขาว จะมีหนามแหลมยาวออกที่ตามลำต้นและที่กิ่งก้าน ไม่มียาง เนื้อไม้เหนียว ที่ส่วนบนจะค่อนข้างคดงอเป็นปุ่มปมเป็นร่องเล็กน้อย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด สามารถขึ้นได้ทุกสภาพดิน ชอบความชื้นและแสงแดดระดับปานกลาง ชอบขึ้นที่ตามป่าบนเนินเขาทั่วทุกภาคของประเทศ มีถิ่นกำเนิดแถบอินโดจีนและมาเลเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ที่ปากถ้ำวิมานจักรี จังหวัดสระบุรี ที่เขากระวาน จังหวัดจันทบุรี ตำบลทุ่งกร่าง[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกสลับกัน ใบกลม ที่ส่วนริมขอบใบจะมีลักษณะเป็นจักไม่เรียบและมีหนามแหลมอยู่[1],[2]
  • ดอกข่อยหยอง ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็ก ดอกมีลักษณะเป็นสีขาวและสีเหลือง[3]
    ผลข่อยหยอง ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเท่ากับหัวเข็มหมุด ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลอ่อนจะเป็นสีขาวหรือสีเทา ที่
  • เปลือกด้านในจะมียางสีขาว ผลสุกเป็นสีเหลือง[3]

สรรพคุณของข่อยหยอง

1. สามารถใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะได้ (เนื้อไม้และราก)[1],[2]
2. สามารถใช้เนื้อไม้กับรากเป็นยารักษาโรคกษัย ไตพิการได้ (เนื้อไม้และราก)[1],[3]
3. ใบข่อยหยองจะมีรสเมาเฝื่อน นำมาตำกับข้าวสารแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเป็นยาถอนพิษยาเบื่อยาเมา อาหารแสลงได้ (ใบ)[2]
4. สามารถใช้ปรุงเป็นยาขับเมือกในลำไส้ได้ (เนื้อไม้และราก)[1],[2]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “ข่อยหยอง เนื้อ-รากเป็นยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [04 มิ.ย. 2015].
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ข่อยหยอง”. หน้า 99.
3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ข่อยหยอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [04 มิ.ย. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.samunpri.com/
2.https://identify.plantnet.org/