สำมะงา
ชื่อสามัญของสำมะงา คือ Seaside Clerodendron, Garden Quinine, Petit Fever Leaves [3],[4] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสำมะงา คือ Volkameria inermis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum inerme (L.) Gaertn.)[1],[4] อยู่วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE) สำมะงา มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น สุ่ยหูหม่าน (จีนกลาง), โฮวหลั่งเช่า (จีน), คากี (ภาคใต้), ลำมะลีงา (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), สาบแร้งสาบกา (จังหวัดภูเก็ต), สักขรีย่าน (จังหวัดชุมพร), เขี้ยวงู (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), สามพันหว่า, ขู่เจี๋ยซู่ (จีนกลาง), จุยหู่มั้ว (จีน), สำมะนา (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), สำลีงา (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), สำปันงา (จังหวัดสตูล), สำมะลิงา (จังหวัดชัยภูมิ), สัมเนรา (จังหวัดระนอง) [1],[4],[5],[7]
ลักษณะของต้นสำมะงา
- ลักษณะของต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้เถา เลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยว ต้นสูงได้ถึงประมาณ 1-2 เมตร จะแตกกิ่งก้านสาขาเยอะ กิ่งก้านมีลักษณะเป็นสีเทา สีขาวมน ๆ ออกเป็นสีน้ำตาลนิดหน่อย เปลือกลำต้นสำมะงาจะเรียบ เป็นสีขาวอมน้ำตาล ที่ตามกิ่งอ่อนจะเป็นสีเขียวอมสีม่วง จะมีขนขึ้น ขยายพันธุ์โดยการปักชำ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นแฉะ ต้นสำมะงาจะชอบแสงแดดเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงประเทศอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยสามารถพบเจอขึ้นได้ที่ตามชายป่าใกล้ลำห้วย ตามป่าชายหาด (ปัจจุบันเริ่มหายาก)[1],[2],[4],[6]
- ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกันคู่ ใบเป็นรูปรี ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะมนหรือแหลม ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร พื้นใบจะมีลักษณะเป็นสีเขียว เป็นมัน ถ้าขยี้จะมีกลิ่นเหม็นเขียวออกมา ที่หลังใบจะเรียบ ส่วนที่ท้องใบก็เรียบเช่นกัน เนื้อใบมีลักษณะบางนิ่ม มีก้านใบสีม่วงแดง มีความยาวได้ถึงประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ลักษณะของดอก ดอกจะออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตามซอกใบที่ปลายยอด ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 3-7 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะมีขนาดที่เล็กเป็นสีขาว กลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกันเป็นหลอดมีความยาวประมาณ 1 นิ้ว ส่วนที่ปลายจะแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ เป็นสีขาว ดอกบานมีความกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นสีเขียว เป็นรูปถ้วย มีเกสรเพศผู้มี ลักษณะเป็นเส้นยาวและเป็นสีม่วง มีอยู่ 5 เส้น ดอกจะร่วงกลายเป็นผล[1],[2],[4]
- ลักษณะของผล เป็นรูปกลมยาว รูปทรงกลม เป็นรูปไข่กลับ ที่ก้นมีลักษณะตัด แบ่งเป็น 4 พู ผลมีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีเนื้อที่นิ่ม ผิวผลมีลักษณะเรียบและเป็นมันลื่น ผลสุกเป็นสีน้ำเงิน สีดำ ผลเมื่อแก่จะแห้งและแตกเป็นซีก 4 ซีก มีเมล็ดอยู่ในผลแต่ละพูจะมี1 เมล็ด [1],[2],[4,[5]
สรรพคุณสำมะงา
1. ใบจะมีรสเย็นเฝื่อน ในตำรายาไทยนำใบเป็นยาทาภายนอก ด้วยการนำมาพอก ต้มกับน้ำ ใช้อาบหรือชะล้างที่ตามร่างกาย หรือจะนำไอน้ำอบมาร่างกายใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน ผดผื่นคันตามตัว แก้หัด แก้ฝี ผื่นคันมีน้ำเหลือง อีสุกอีใส ประดง (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
2. รากสามารถช่วยรักษาไขข้ออักเสบที่เกิดจากลมชื้น แก้อาการปวดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ปวดเอว ปวดขา (ราก)[5]
3. ใบ สามารถช่วยรักษาแผลฟกช้ำดำเขียวบวม ที่เกิดจากการถูกกระทบกระแทก เอวเคล็ด เคล็ดขัดยอก โดยนำใบสดมาตำผสมเหล้า แล้วนำมาทาบริเวณที่ปวด (ใบ)[4],[5]
4. ราก มีสรรพคุณที่สามารถแก้อาการบวมตามร่างกายบางส่วน แผลบวมเจ็บที่อันเนื่องมาจากการกระทบกระแทกได้ (ราก)[4]
5. นำใบตากแห้งมาบดเป็นผงใช้โรยบนแผล ช่วยสมานแผลสด สามารถช่วยห้ามเลือดได้ (ใบ)[4],[5]
6. มีสรรพคุณที่เป็นยาฆ่าพยาธิได้ (ใบ)[4]
7. ราก มีรสขม เป็นยาเย็น จะมีสรรพคุณที่เป็นยาขับลมชื้น มีพิษ และมีกลิ่นที่เหม็น (ราก)[5]
8. ราก มีรสขม นำรากแห้ง 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำทาน ด้วยไฟอ่อน สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดได้ (ราก)[4]
9. ราก สามารถช่วยรักษาอาการปวดข้อ ปวดประสาทที่ก้นกบได้ โดยนำรากแห้ง 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำทาน ด้วยไฟอ่อน (ราก)[4]
10. ทั้งต้นจะมีรสเย็นเฝื่อน นำมาสับเป็นชิ้นประมาณ 3-4 ชิ้น เอามาต้มกับน้ำใช้อาบหรือชะล้างแผล สามารถช่วยรักษาน้ำเหลืองเสีย รักษาโรคผิวหนังพุพองได้ (ทั้งต้น)[1],[2]
11. ใบ ช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อยได้ โดยนำใบมาตำพอกหรือต้มกับน้ำชะล้าง หรือตากให้แห้งแล้วเอามาบดให้เป็นผงใช้ทา โรยในบริเวณที่เป็น (ใบ)[4]
13. ราก ช่วยแก้ตับโต แก้ม้ามโต แก้ตับอักเสบได้ (ราก)[4],[5]
14. ราก ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะได้ (ราก)[5]
15. ใบ มีรสขมเย็น มีพิษ สามารถใช้รักษาโรคมาลาเรียได้ (ใบ)[4]
16. ราก มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย แก้ไข้หวัด ตัวร้อนได้ (ราก)[5]
วิธีใช้สำมะงา
- การใช้ตาม [5] รากให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำแช่จาหรือทำยาประคบ ไม่ควรนำใบกับก้านไม่มาต้มเป็นยาทาน เพราะมีพิษ ควรใช้เป็นยาภายนอกเท่านั้น ขนาดที่ใช้ให้กะตามความเหมาะสม[5]
ข้อควรระวังในการใช้
- ที่ก้านกับใบจะมีพิษ ใบมีพิษมากกว่าราก ห้ามทานเด็ดขาด ควรใช้แบบระมัดระวัง[4],[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- สารที่สกัดจากใบที่มีรสขมด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่กำลังท้อง จากการที่สกัดแยกสารจำพวก Sterols ไม่พบฮอร์โมนเพศหญิง ไม่พบฮอร์โมนเพศชาย และไม่พบต่อมเพศอื่น[4],[5]
- ใบมีสารที่ทำให้มีรสขมและละลายน้ำได้ เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ (Alkaloids) หลายชนิด ก็คือ higher fatty alcohols, unsaponified matters, pectolinarigenin, steroids, cholesterol, 4-methylscutellarein และยังมีพวก resin, gum สารสีน้ำตาล เถาจากใบจะมีเกลือแดง (Sodium chloride) 24.01% ของเถ้าทั้งหมด [4],[5]
- น้ำที่สกัดได้จากใบ มีฤทธิ์ที่กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกออกจากตัว และยังมีฤทธิ์ที่เพิ่มความดันโลหิตของสุนัขที่จะทำให้สลบชั่วคราว ถ้าให้ปริมาณน้อยจะมีฤทธิ์ที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้[4],[5]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สำ มะ งา”. หน้า 556.
2. สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สำ มะ งา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/49320567/. [12 มิ.ย. 2014].
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สำ มะ งา (Samma Nga)”. หน้า 302.
4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สำมะงา Garden Quinine”. หน้า 87.
5. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. “สํามะงา”.
6. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สํามะงา”. หน้า 782-784.
7. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “สํามะงา”. หน้า 182.
อ้างอิงรูปจาก
1.https://plantingman.com/volkameria-inermis/
2.https://identify.plantnet.org/