ไพล
ไพล หรือว่านไพล (Zingiber Cassumunar) คือ พืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นขึ้นเป็นกอ ออกดอกช่อสีนวลกับใบประดับสีออกม่วงแดง ทุกส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ส่วนดอกมีสรรพคุณช่วยขับโลหิตและกระจายเลือดเสีย ส่วนลำต้นช่วยเรื่องปรับสมดุล ใบช่วยแก้ปวดเมื่อยหรือมีไข้ และรากช่วยบรรเทาอาการเลือดกำเดาไหลได้ แต่ส่วนที่สำคัญและมีคุณค่ามากที่สุดก็คือส่วนเหง้าที่แก่จัดได้ที่แล้ว มีสรรพคุณและสารสำคัญหลากลายจนได้จัดเป็นหนึ่งเครื่องยาสมุนไพรพื้นฐานที่ได้รับความสนใจ ตลอดจนมีงานวิจัยรองรับมากมายอีกด้วย
สุดยอดสมุนไพรอีกตัวหนึ่งของบ้านเราที่ถูกหยิบใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณก็คือ “ ไพล ” บ้างก็เรียกว่านไพล ปูขมิ้น ว่านไฟ ไพลเหลือง แล้วแต่ภูมิภาค หลายคนแยกไม่ค่อยออกระหว่างไพลกับขมิ้น เพราะหากมองเพียงผิวเผิน รูปร่างหน้าตาก็เป็นเหง้าเหมือนกันแถมเมื่อผ่าดูเนื้อในก็ยังมีสีเหลืองเหมือนกันอีกด้วย แต่เมื่อคุ้นเคยกับสมุนไพรยอดนิยมทั้งสองชนิดนี้แล้วก็จะแยกออกได้ไม่ยากเลย ขมิ้นจะมีขนาดของหัวเหง้าเล็กกว่าไพลอย่างเห็นได้ชัด ส่วนสีเนื้อในของขมิ้นจะออกเหลืองส้ม สีเข้มสดใส ส่วนไพลสีออกเหลืองนวลคล้ายสีของคัสตาร์ด นอกจากนี้ผิวสัมผัสเปลือกหุ้มของไพลก็ยังหยาบขรุขระมากกว่าขมิ้นอีกด้วย
องค์ประกอบสำคัญของไพล
ไพล เป็นพืชสมุนไพรกลุ่มเดียวกันกับขมิ้น สรรพคุณของไพลจึงมีสารสีเหลืองที่เรียกว่าเคอร์คูมิน ( Curcumin ) เหมือนกัน แต่จะต่างกันในรายละเอียด เพราะเคอร์คูมินก็ยังแยกย่อยออกไปอีกหลายชนิด นั่นทำให้สรรพคุณในการรักษาโรคของสมุนไพรทั้งสองไม่เหมือนกันซะทีเดียว และก็ไม่สามารถใช้แทนกันได้ ไม่ว่ารูปร่างหน้าตาจะคล้ายคลึงกันมากขนาดไหนก็ตาม ตัวอย่างของสารเคอร์คูมินที่พบในไพลได้แก่ cassumunin A-C อนุพันธ์แนฟโทควิโนน ( naphthoquinone derivatives ) อนุพันธ์บิวทานอยด์ ( butanoid der ivat ives ) เป็นต้น สารที่พบอีกกลุ่มหนึ่งก็คือสารกลุ่มฟีนิลบิวทานอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบได้ อย่างเช่น butadiene ( DMPBD ) นอกจากนี้ก็มีส่วนของน้ำมันระเหยมากกว่าร้อยละ 80 สารเคมีสำคัญที่อยู่ในน้ำมันหอมระเหยก็จะเป็นกลุ่มของมอโนเทอร์พีน ( monoterpene ) เช่น แอลฟา-ไพนีน ซาบินีน แอลฟา-เทอร์พินีน แกมมา-เทอร์พินีน และเทอร์พีน- 4-ออล แต่อย่างไรก็ตามปริมาณของสารเคมีเหล่านี้จะแปรผันไปตามแหล่งกำเนิดของไพล จึงทำให้การเลือกนำมาใช้ต้องพิจารณาปัจจัยตรงนี้เพิ่มเติมด้วย
สรรพคุณของไพลและวิธีการใช้งาน
สรรพคุณของไพลลดอาการอักเสบภายนอก : อย่างที่ได้รู้กันไปแล้วว่าในหัว ไพล มีส่วนของน้ำมันระเหยอยู่มาก และในนั้นก็มีสารออกฤทธิ์สำคัญที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ แก้เคล็ดขัดยอก ปวดบวมและฟกช้ำได้ ยังไม่พอหากเป็นอาการปวดเมื่อยก็สามารถช่วยบรรเทาให้เบาลงได้เหมือนกัน โดยนำเหง้าสดที่มีคุณภาพดีมาประมาณ 1 เหง้า ล้างทำความสะอาดคราบดินโคลนออกให้หมดก่อนนำมาตำละเอียด บีบคั้นจนน้ำออกมา แล้วใช้น้ำนั้นทาถูบริเวณที่ต้องการ หรือจะทำให้เป็นลักษณะของลูกประคบก็ได้ สรรพคุณของไพลคือใช้เหง้าสดตำละเอียดผสมกับเกลือหรือการบูรเล็กน้อย คลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดมาห่อด้วยผ้า มัดเป็นทรงกลมแบบลูกประคบ ตอนใช้งานก็เอาไปอังไอน้ำให้ร้อนแล้วค่อยๆ ประคบตามบริเวณที่มีอาการ
สรรพคุณของไพลบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม : ไพล เป็นสมุนไพรที่ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในประเภทเดียวกับ ขิง ข่า ขมิ้น เป็นต้น และคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สมุนไพรในกลุ่มนี้มีเหมือนกันก็คือ ช่วยขับลมในช่องท้องได้ดี จึงลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ทั้งหมด โดยจะใช้เป็นเหง้าแห้งบดละเอียดปริมาณ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อนที่ผสมเกลือลงไปเล็กน้อย ดื่มเหมือนชาเป็นช่วงๆ
สรรพคุณของไพลบรรเทาอาการบิดหรือท้องเสีย : ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโรคบิดและท้องเสียนั้นมีความรุนแรงหลายระดับ และบางครั้งก็เป็นเชื้อโรคที่ร้ายแรง ดังนั้นการรักษาหรือบรรเทาอาการด้วยสมุนไพรก็ต้องเลือกใช้ตามความเหมาะสมด้วย หากเป็นหนักก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาดีกว่า วิธีการใช้ ไพล ก็คือ ฝานเหง้าสดให้เป็นแว่นบางๆ สัก 4-5 แว่น บดให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ เมื่อได้แล้วจึงเติมเกลือเล็กน้อย ทานจนหมด หรือจะเปลี่ยนเป็นการฝนด้วยน้ำปูนใสแล้วทานก็ได้เหมือนกัน
สรรพคุณของไพลบรรเทาอาการของโรคหอบหืด : ไพล ที่สารออกฤทธิ์สำคัญที่มีผลต่อการขยายหลอดลม ซึ่งมีการวิจัยในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหอบหืดมาแล้ว ด้วยการให้ทานไพลในรูปแบบของแคปซูล 200 มิลลิกรัม พบว่าอาการหอบที่มีนั้นลดลง ทั้งยังสามารถใช้เพื่อป้องกันอาการหอบหืดเรื้อรังได้ดีในเด็กและผู้ใหญ่ รูปแบบการเตรียมยาสมุนไพรที่นอกเหนือไปจากการทำเป็นแคปซูลก็คือ ใช้เหง้าไพลแห้ง 5 ส่วน พริกไทยและดีปลีอย่างละ 2 ส่วน กานพลูและพิมเสนอย่างละ 1 ส่วน นำทั้งหมดบดผสมรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว ใช้ผงยานั้นชงกับน้ำร้อนดื่ม หากยังรู้สึกว่าทานยากก็เติมน้ำผึ้งลงไปได้ อย่างไรก็ตามการรักษาโรคหอบหืดด้วยไพลนั้น จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นควรมีการทดสอบการแพ้หรือผลข้างเคียงต่างๆ เอาไว้ด้วย
สรรพคุณของไพลป้องกันยุง : หากมี ไพล ติดครัวอยู่สักเหง้าหนึ่งก็ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อยาทากันยุงแบบเคมีเลย เพราะไพลนี่แหละกันยุงชะงัดนัก โดยใช้ผงเหง้าไพลแช่ในแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซ็นต์ ทำการระเหยให้เข้มข้นมากขึ้นก่อนนำมาใช้งาน สามารถทาได้ทั้งตัวยกเว้นส่วนของใบหน้า เพราะหลายคนก็ผิวแพ้ง่ายและแพ้ส่วนที่เป็นแอลกอฮอล์นั่นเอง ความพิเศษของยาทากันยุงจากเหง้าไพลนี้ก็คือ เมื่อทาแล้วสบายผิว มีกลิ่นหอมและไม่รู้สึกแสบร้อน
ไพล สมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ รักษาอาการได้สารพัด เป็นหนึ่งเครื่องยาสมุนไพรพื้นฐาน คนสมัยก่อนนิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำลูกประคบ แก้ฟกช้ำ ปวด บวม
น้ำมันไพล ของดีประจำบ้าน
ไพล น้ำมันหอมระเหยในเหง้าไพลนั้นมีสรรพคุณดีงามหลายอย่าง แก้วิงเวียนได้ แก้ง่วงนอนได้ เคยถูกใช้เพื่อปรับความสมดุลในด้านจิตใจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หมอยาสุรินทร์มักใช้ไพลเป็นส่วนผสมในการอบตัวให้คนวิกลจริต เพราะน้ำมันหอมระเหยนั้นจะช่วยให้จิตใจสงบลงได้ ถึงขนาดที่มีความเชื่อว่าไพลนั้นใช้ไล่ผีได้เลยทีเดียว คาดว่าคงเป็นผู้ป่วยที่มีจิตไม่ปกติในสมัยก่อนนั่นเอง
รูปแบบของการดึงเอาน้ำมันหอมระเหยจาก ไพล มาใช้ประโยชน์ ที่นิยมมากที่สุดคือการทำ “ น้ำมันไพล ” หลายคนคงเคยได้เห็นบรรดาขวดแก้วขนาดเล็กที่บรรจุน้ำสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเฉพาะตัว ยิ่งผู้สูงอายุยิ่งชอบใช้ถูนวดตามตัวบ้าง ใช้สูดดมและทาถูตรงกระหม่อมบ้าง ก็เรียกได้ว่าเป็นน้ำมันสารพัดประโยชน์เลยทีเดียว หากฟกช้ำก็ใช้น้ำมันทาบางๆ สักวันละ 2 ครั้ง ไม่นานก็จะดีขึ้น ถ้ามีอาการบวมก็ทาน้ำมันบางๆ เช่นกันแต่ควรนวดคลึงไปด้วย แม้แต่เหน็บชาก็ยังใช้ได้ โดยเอาน้ำมันไพลหยดใส่ผ้าที่ห่อเป็นก้อน จากนั้นนำมานวดประคบตรงที่เป็นเหน็บ โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ใช้น้ำมันไพลเป็นน้ำมันพื้นฐานในการผลิตน้ำมันชนิดอื่นๆ ตลอดจนครีมแก้อาการต่างๆ ด้วย
ไพลมีกี่ชนิด และนิยมใช้ทำอะไร
ว่านไพลมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษระการใช้งานที่ต่างกัน
- ไพลแดง ขับลม ขับประจำเดือน มีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ แก้บิด สมานลำไส้ ภายนอก เหง้าสดฝนทาแก้เคล็ดยอก ฟกบวม เส้นตึง เมื่อยขบ เหน็บชา และสมานแผล
- ไพลเหลิอง เป็นว่านที่นิยมใช้ในการรักษาอาการอักเสบ ปวด บวม ฟกช้ำ
- ไพลขาว เป็นว่านที่มีอานุภาพในทางคงกระพันชาตรี ใช้กินหรือเคี้ยวเพื่อคงกระพันชาตรี
- ไพลดำ เป็นว่านทางคงกระพันชาตรี มีการนำมาใช้ในทางไสยศาสตร์ เช่น คงกระพันชาตรี ซึ่งจะต้องเสกด้วยเวทมนตร์คาถา เช่น พุทธังเป็นยา ธัมมังรักษา สังฆังหาย ตะหัง นะหิโสตัง หรือ “นะโมพุทธายะ” 7 จบ สำหรับว่านไพลดำนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทคือ ว่านไพลดำชนิดเนื้อในหัวเป็นสีม่วงอมน้ำตาลจะเด่นในเรื่องของอยู่ยงคงกระพัน และว่านไพลดำชนิดเนื้อในหัวเป็นสีดำ ซึ่งจะเด่นในเรื่องการชักนำเงินทอง
สรรพคุณของไพล สูตรลับทำน้ำมันไพล
แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการทำพอสมควร แต่จากสรรพคุณของ ไพล ทั้งหมดก็ถือว่าคุ้มค่าอย่างที่สุด เพราะเราทำเองย่อมได้น้ำมันไพลที่มีคุณภาพคับแก้ว คือใส่ส่วนผสมแบบหนักเครื่องได้ แถมต้นทุนที่เป็นเม็ดเงินก็ถูก ยิ่งถ้าในครัวเรือนมีสมาชิกมาก ทำสักหนแล้วแจกจ่ายกันไว้ใช้ก็ยิ่งดี
ส่วนผสมน้ำมันไพล
1. เหง้าไพลสดฝานแว่น 2 แก้ว
2. น้ำมันมะพร้าว 1 แก้ว
3. การบูร 1 ช้อนชา
4. ดอกกานพลู 1 ช้อนชา
หากต้องการทำปริมาณที่มากกว่านี้ ก็ใช้วิธีการเทียบสัดส่วนเอาได้เลย
ขั้นตอนการทำน้ำมันไพล
• เทน้ำมันที่เตรียมไว้ลงในกระทะ แล้วยกขึ้นตั้งไฟ
• เมื่อน้ำมันร้อนจัดจึงใส่แว่นไพลลงไปทั้งหมด คล้ายๆ กับการทอดกล้วยแขก
• เบาไฟลงให้เหลือแค่ไฟกลาง ไม่นานนัก ไพลจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่
• ช้อนเอาชิ้นไพลออก ใส่การพลูที่ตำละเอียดลงไปแล้วเบาไฟลงอีกให้เป็นไฟอ่อนๆ เท่านั้น พักไว้ 10 นาที
• กรองน้ำมันนั้นด้วยผ้าขาวบาง แล้วตั้งไว้เพื่อรอให้น้ำมันหายร้อน
• เติมการบูรลงไป ก่อนเทใส่ขวดที่มีฝาปิดสนิท
สรรพคุณของไพลตำ
ตำรับยาที่น่าสนใจเหล่านี้คือตำรับยาที่ใช้กันมาแต่โบราณ ซึ่งที่ยกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และหลายอย่างก็ต้องเลือกเอาตามความเหมาะสมอีกด้วย เพราะบางโรคก็มีองค์ความรู้ที่ละเอียดลออมากกว่าสมัยก่อนแล้ว
• บรรเทาอาการมือเท้าเย็น : ตำหัวไพลเพื่อคั้นเอาน้ำ แล้วผสมกับพริกไทยทา
• แก้ร้อนใน : ใช้เหง้าสดตำละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาทาน
• แก้ผดผื่นคัน : เอาเหง้าสดฝนกับน้ำ แล้วนำมาทาให้ทั่ว
• ผิวถลอกจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ : ฝนกับน้ำสะอาด ใช้ทาแผลทุกวันจนกว่าจะหาย
• แก้อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ : ทุบเหง้าไพลแก่ แล้วดมกลิ่นหอมของไพลนั้น
• เพิ่มน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอด : นำไพลมาต้มจนนิ่มดี กินเป็นประจำระหว่างอยู่ไฟ
• เสริมความแข็งแรงให้เด็กอ่อน : ฝนเหง้าไพลสดกับน้ำสะอาด ใช้เพื่ออาบชำระร่างกายเด็กเล็ก
• บรรเทาอาการแผลไฟลวก : ฝนเหง้าไพลสดแล้วผสมกับน้ำกระทกรกหรือน้ำเกลือ ทาบริเวณแผล
• ถอนพิษตัวบุ้ง : เอาเหง้าไพลไปเผาไฟ แล้วค่อยๆ ประคบบริเวณที่สัมผัสตัวบุ้งในขณะที่ไพลยังอุ่นๆ อยู่
• บรรเทาอาการหน้ามืด ตาลาย : ใช้ส่วนของหัวเหง้าและใบของไพล รวมกับใบมะกรูดและใบมะนาว ใช้อบตัว
• ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่แบบชั่วคราว : คั้นน้ำจากหัวเหง้าไพลสด เน้นให้เข้มข้นเป็นพิเศษ แล้วนำมาทาบริเวณที่ต้องการ
เรื่องน่ารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับไพล
ความจริงแล้ว ไพล มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่าสรรพคุณของไพลแต่ละสายพันธุ์ก็จะส่วนที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ไพลที่เราพบเห็นได้ทั่วไปและนำมาใช้กับตำรับยาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราเรียกว่า “ ไพลเหลือง ” แต่เดิมเรามักใช้ทำสูตรยาคู่กับไพลดำ แต่ต่อมาไพลดำกลับมีบทบาทในด้านเครื่องเทศมากกว่าและค่อนข้างหายาก จึงเหลือใช้เพียงแค่ไพลเหลืองเรื่อยมา อีกประการหนึ่ง ไพล เป็นพืชที่มีพิษต่อตับด้วย จึงต้องระมัดระวังในการใช้ทานเพื่อรักษาโรคหรือบำรุงร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ข้อสรุปในด้านความเป็นพิษนี้มีการทดลองในหนูมาแล้ว พบว่าตับของหนูมีอาการเป็นพิษในระยะเวลา 1 ปี หนูมีอัตราเติบโตที่ช้าลง แต่ไม่มีความผิดปกติในอวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ และหากเป็นคนที่มีผิวบอบบางมาก น้ำมันไพลก็อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
“ไพล” สรรพคุณ-ประโยชน์ของไพล สุดยอดสมุนไพรที่ไม่ได้มีดีแค่บำรุงน้ำนม (ออนไลน์).สืบค้นจาก : http://sukkaphap-d.com [17 มีนาคม 2561].
“ไพล” สุดยอดสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน (ออนไลน์).สืบค้นจาก : http://www.banhealthy.com [16 มีนาคม 2561].