โสก ดอกรสหอมเปรี้ยว ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงเลือด
โสก หรืออโศกน้ำ เป็นไม้ยืนต้น โคนใบกลมเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปลิ่ม ออกดอกเป็นช่อสีแสดไปจนถึงสีแดงฝักทรงแบน รูปไข่หรือรูปวงรี

โสก

โสก (Asoka) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “อโศกน้ำ” เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย มักจะพบตามริมลำธารในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย โสกมีดอกเป็นสีแสดไปจนถึงสีแดงทำให้ดูสดใสและสวยงามจึงนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกตามวัด ปลูกประดับอาคารสถานที่ ปลูกให้ร่มเงาตามสวนสาธารณะต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม เป็นต้นที่มีดอกรสหอมเปรี้ยวและเป็นยาสมุนไพรของแพทย์พื้นบ้านในอินเดียด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโสก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saraca indica L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Asoka” “Asoke tree” “Saraca”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ส้มสุก” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “โสกน้ำ” จังหวัดยะลาเรียกว่า “ชุมแสงน้ำ” ชาวมลายูปัตตานีเรียกว่า “ตะโคลีเต๊าะ” ชาวมลายูยะลาเรียกว่า “กาแปะห์ไอย์” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “อโศก โศก อโศกน้ำ อโศกวัด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Saraca bijuga Prain

ลักษณะของต้นโสก

โสก เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดีย มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน ลาว เวียดนามตอนใต้ คาบสมุทรมลายู สุมาตราและชวา สามารถพบได้ทุกภาคในประเทศไทย โดยจะขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น
ต้น : เรือนยอดเป็นรูปทรงกลมพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ปลายกิ่งห้อยย้อยลู่ลง เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือแตกเป็นร่องตื้นตามยาวและตามขวางของลำต้น
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยเป็นรูปวงรี รูปไข่ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกประมาณ 1 – 7 คู่ ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบกลมเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบบางและเกลี้ยง ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อนออกเหลือง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีแสดไปจนถึงสีแดง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดเรียว บริเวณปลายแยกเป็น 4 แฉก ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่แกมรูปวงรีหรือรูปขอบขนาน โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 – 8 อัน เกสรเพศผู้ยาวพ้นจากปากหลอด รังไข่มีขนตามขอบ มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักทรงแบน รูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายฝักเป็นจะงอยสั้น เมื่อแก่ฝักจะแตกออกเป็น 2 ซีก ฝักจะเกิดจากดอกสมบูรณ์เพศเท่านั้น โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม
เมล็ด : ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1 – 3 เมล็ด เมล็ดโสกมีลักษณะเป็นรูปไข่แบน

สรรพคุณของโสก

  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาบำรุงธาตุ เป็นยาแก้ไอ เป็นยาขับเสมหะ
  • สรรพคุณจากเปลือกและราก แพทย์พื้นบ้านในอินเดียนิยมใช้เปลือกและรากมาปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต

ประโยชน์ของโสก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและดอกนำมาใช้ประกอบอาหารอย่างแกงส้ม ยำหรือรับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกตามวัด ปลูกประดับอาคารสถานที่ ปลูกเป็นร่มเงาตามสวนสาธารณะต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม ควรปลูกไว้ริมน้ำ
3. ใช้ในการเกษตร เป็นพืชล่อแมลง เช่น ผีเสื้อ เนื่องจากช่อดอกเป็นหลอดคล้ายดอกเข็มทำให้มีน้ำหวานมาก
4. ความเชื่อ ต้นโสกหรือ “อโศก” เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่โศกเศร้า เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งในทางพุทธศาสนาจะเรียกว่า “ความเมตตา”

คุณค่าทางโภชนาการของโสก

คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
โปรตีน 2.1 กรัม
ไขมัน 1.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม
ใยอาหาร 1.2 กรัม
แคลเซียม 46 มิลลิกรัม
วิตามินซี 14 มิลลิกรัม

โสก เป็นชื่อที่เปลี่ยนมาจาก “โศก” เพราะความหมายของโศกนั้นคือความเศร้า ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนมาเรียกกันว่าโสกแทน เป็นต้นที่มีดอกสีแสดหรือสีแดงทำให้ดูสวยงามและนำมาใช้ปลูกประดับสถานที่ อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการนำมารับประทานเป็นผักและเป็นพืชล่อแมลงได้ มีคุณค่าทางโภชนาการและยังเป็นยาสมุนไพรของแพทย์พื้นบ้านในอินเดียด้วย โสกมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงธาตุ เป็นยาแก้ไอ เป็นยาขับเสมหะและเป็นยาบำรุงเลือด

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “โสก”. หน้า 186.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โสก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [06 ต.ค. 2014].
หนังสือ Flora of Thailand Volume 4 Part 1. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “โสกน้ำ”. หน้า 97.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โสกน้ำ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [06 ต.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 310 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “โศก : สัญลักษณ์ของความรักจากตะวันออก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [06 ต.ค. 2014].
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “อโศกน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [06 ต.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/